อุบาย (บาลีวันละคำ 474)
อุบาย
ภาษาไทยอ่านว่า อุ-บาย
บาลีเป็น “อุปาย” อ่านว่า อุ-ปา-ยะ
“อุปาย” รากศัพท์คือ อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป. สูตรทางไวยากรณ์ว่า “พฤทธิ์ อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อาย”) : อุป + อิ > อาย = อุปาย
“อุปาย” แปลตามศัพท์ว่า “กลวิธีเป็นเหตุให้ถึงความชนะศัตรู” “วิธีเป็นเหตุให้เข้าถึง” “การเข้าใกล้” หมายถึง หนทาง, วิธี, กลวิธี, เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม
ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “อุบาย” พจน.42 บอกความหมายว่า “วิธีการอันแยบคาย; เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม”
ในทางคดีโลก คนฉลาดนิยมใช้ “อุบาย” ทั้งในทางดีและทางร้าย
แต่ในทางคดีธรรม ท่านวางหลักไว้ว่า พึงใช้ “อุบาย” ไปใน 3 ทาง คือ
1. อายโกศล – ฉลาดใน “อายะ” (ความเจริญ) = รู้ว่าทำแบบนี้เจริญแน่
2. อปายโกศล – ฉลาดใน “อบาย” (ความฉิบหาย) = รู้ว่าทำแบบนี้ฉิบหายแน่
3. อุปายโกศล – ฉลาดใน “อุบาย” = รู้แล้วลงมือทำความเจริญ พร้อมไปกับป้องกันไม่ให้เกิดความฉิบหาย ด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด
: คนโง่อยู่กับนักปราชญ์ ดีกว่าคนฉลาดอยู่กับโจร
1-9-56