บาลีวันละคำ

สลากภัต (บาลีวันละคำ 476)

สลากภัต

ภาษาไทยอ่านว่า สะ-หฺลาก-กะ-พัด

บาลีเป็น “สลากภตฺต” อ่านว่า สะ-ลา-กะ-พัด-ตะ

ประกอบด้วย สลากา + ภตฺต = สลากภตฺต

(ในภาษาไทย “สลากา” ใช้เป็น “สลาก”)

สลากา” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ขยับได้” (ตรงกันข้ามกับติดตายอยู่กับที่ หรือแข็งทื่อ)

สลากา” ในบาลีใช้ในหลายความหมาย (บางความหมายไม่ได้เป็นไปตามรากศัพท์) ดังต่อไปนี้ –

(1) ธนู, ลูกดอก

(2) ไม้, หมุด, ราว

(3) ใบหญ้า

(4) โครงร่ม

(5) ดินสอ, ไม้ป้ายน้ำมันทาตา

(6) เข็มชนิดหนึ่ง

(7) เครื่องมือศัลยกรรมอย่างหนึ่ง

(8) ไม้ตีฆ้อง

(9) องคชาต

(10) อุปกรณ์ลงคะแนนและแจกอาหาร, การออกเสียง, ฉลาก

อย่างไรก็ตาม “สลากา” ในความหมายที่เข้าใจทั่วไปคือ –

(๑) การลงคะแนนเพื่อให้ได้ตัวผู้มีสิทธิ์หรือผู้เป็นตัวการ เช่นในกรณีสิ่งของมีจำกัด แต่ผู้มีสิทธิ์จะได้รับมีหลายคน

(๒) กรรมวิธีสุ่มเลือก เช่นในกรณีสิ่งของมีครบตัวผู้รับ แต่ชนิดและคุณภาพต่างกัน ใครจะได้ของชิ้นไหน เป็นไปตามสลากที่จับ

ภตฺต” แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องกิน” “ของที่จะพึงกลืนกิน” หมายถึง อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ

ในที่บางแห่ง “ภตฺต” หมายถึง “ข้าวสุก” แต่ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญคือ “อาหาร

สลากภตฺต” ในความหมายเดิมหมายถึงอาหารที่ถวายด้วยวิธีที่พระสงฆ์จับสลากกันว่าใครจะได้เป็นผู้รับ (กรณีมีผู้นำอาหารมาถวาย แต่อาหารมีจำกัดไม่เพียงพอแก่พระสงฆ์ทั้งหมด)

ในเมืองไทย (น่าจะเหมือนกันทุกพื้นที่) “สลากภัต” เป็นการทำบุญถวายผลไม้ตามฤดูกาล (มีของแห้งและไทยธรรมอื่นๆ ประสมด้วยตามกำลัง) โดยชาวบ้านจัดของไปถวายครบจำนวนพระภิกษุสามเณร แล้วจับสลากกันว่ารูปไหนจะได้รับของโยมรายไหน นับเป็นงานบุญตามเทศกาลชนิดหนึ่ง

พจน.42 บอกไว้ว่า –

สลากภัต : อาหารแห้งหรือผลไม้ถวายพระโดยวิธีจับฉลาก เช่น สลากภัตข้าวสาร สลากภัตทุเรียน

: คนใจดี หาช่องทางทำบุญทำทาน

: คนใจพาล หาเรื่องทำบาปร่ำไป

—————-

(ถวาย “สลากภัต” แด่ท่านพระมหารุ่งอรุณ อรุณโชติ ด้วยความเคารพ)

3-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย