บาลีวันละคำ

นฤพาน-หฤโหด (บาลีวันละคำ 477)

นฤพาน-หฤโหด

อ่านว่า นะ-รึ-พาน / หะ-รึ-โหด

ถามว่า “นฤ” “หฤ” มาจากไหน ?

นฤพาน” บาลีเป็น “นิพฺพาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

นฤ-๒ : ไม่มี, ออก, มักใช้นําหน้าศัพท์อื่น เช่น นฤมล ว่า ไม่มีมลทิน, นฤโฆษ ว่า ดังออก. (คํานี้เขียนแผลงมาจาก นิ ในบาลี ซึ่งสันสกฤต เป็น นิสฺ)”

คำในตัวอย่าง “นฤมล” บาลีเป็น “นิมฺมล” (นิม-มะ-ละ) = นิ + มล

นฤโฆษ” บาลีเป็น “นิคฺโฆส” (นิก-โค-สะ) = นิ + โฆส

คำอื่นอีก เช่น

นฤนาท” บาลีเป็น “นินฺนาท” (นิน-นา-ทะ) = นิ + นาท (ความกึกก้อง; การบันลือ)

นฤมิต” บาลีเป็น “นิมฺมิต” (นิม-มิ-ตะ) = นิ + มิต (สร้าง, แปลง, ทํา)

สรุป : นฤ ในคำว่า นฤพาน มาจาก นิ ซึ่งเป็นคำนิบาต แปลว่า เข้า, ลง, ไม่มี, ออก

นฤพาน-นิพพาน” แปลว่า ไม่มีกิเลสร้อยรัด, ดับ (ดูรายละเอียดที่ บาลีวันละคำ (210) 4-12-55)

หฤโหด” พจน.42 ไม่ได้บอกว่าเขียนแผลงมาจากคำอะไร บอกแต่ความหมายว่า “ชั่วร้าย, เลวทราม, ใจร้าย

แนวคิด

1. เทียบ นฤ มาจาก นิ : หฤ ก็ควรมาจาก หิ

2. คำขึ้นต้นด้วย “หิ-” ที่มีความหมายว่า “ชั่วร้าย, เลวทราม” ก็คือ “หีน” (ฮี-นะ) ซึ่งเสียงกร่อนเป็น “หิน” ได้

3. หลักฐานจาก พจน.42 นั่นเอง บอกว่า

– “หิน ๔, หิน- : เลว, ทราม, ตํ่าช้า, ใช้ว่า หืน ก็มี เช่น โหดหืน

– “หินชาติ : มีกําเนิดตํ่า, เมื่อใช้เข้าคู่กับคํา ทมิฬ เป็น ทมิฬหินชาติ หมายความว่า โหดเหี้ยม เช่น ใจทมิฬหินชาติ

– “หือรือโหด : หฤโหด, ชั่วร้าย, เลวทราม, เช่น แม้อันว่าเฒ่าหือรือโหดหีนชาติทาสเมถุน. (ม. ร่ายยาว ชูชก)

สันนิษฐาน : หฤโหด มาจาก หินโหด แปลง อิ เป็น ลบ หรือแปลง หิน เป็น หฤ

คำ : แม้จะเปลี่ยนรูป ก็ไม่ทิ้งความหมาย

บัณฑิตทั้งหลาย : แม้จะแต่งตัวซอมซ่อ ก็ไม่ทิ้งธรรม

พาลระยำ : แม้จะใส่สูท ก็ไม่ทิ้งสันดานเลว

——————

(ตามคำถามของพระคุณท่าน Sunant Sukantharam)

4-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย