บาลีวันละคำ

บรรหาร (บาลีวันละคำ 481)

บรรหาร

อ่านว่า บัน-หาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า เป็นคำที่ใช้ในบทร้อยกรอง แผลงมาจาก “บริหาร” มีความหมายว่า เฉลย, กล่าวแก้, ตรัสสั่ง

คำว่า “บริหาร” (บอ-ริ-หาน) พจน.42 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

1. ออกกําลัง เช่น บริหารร่างกาย

2. ปกครอง เช่น บริหารส่วนท้องถิ่น

3. ดําเนินการ, จัดการ เช่น บริหารธุรกิจ

4. กล่าวแก้

5. ดํารัสสั่ง เช่น ราชบริหาร

6. คําแถลงไข เช่น พระพุทธบริหาร

บริหาร” บาลีเป็น “ปริหาร” อ่านว่า ปะ-ริ-หา-ระ ประกอบด้วย ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + หร (ธาตุ = นำไป, ยืดเสียง หร เป็น หาร) : ปริ + หร > หาร = ปริหาร แปลตามตัวว่า “นำไปรอบ” ใช้ในความหมายดังนี้ –

1. ความเอาใจใส่, การดูแลระมัดระวัง, ป้องกัน

2. เกียรติยศ, สิทธิพิเศษ, ภูมิฐาน (dignity)

3. บริเวณรอบๆ, เส้นหรือแนวรอบที่ดิน

4. การบริหาร

5. การละเว้นหรือหลีก, การหลีกให้พ้น

สรุปว่า ปริหาร > บริหาร > บรรหาร

ปริหาร” ในบาลีมีความหมายอย่างหนึ่ง

เอามาใช้ในภาษาไทยว่า “บริหาร” มีความหมายไปอย่างหนึ่ง

แผลงเป็น “บรรหาร” มีความหมายเฉพาะไปอีกอย่างหนึ่ง

: แปลคำผิด – ความหมายก็พลาด

: บริหารงานผิดบทบาท – ประเทศชาติก็พัง

8-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย