บริการ (บาลีวันละคำ 482)
บริการ
อ่านว่า บอ-ริ-กาน
บาลีเป็น “ปริการ” อ่านว่า ปะ-ริ-กา-ระ
ประกอบด้วย ปริ + การ
“ปริ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า รอบ, เวียน, ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด
“การ” รากศัพท์คือ กรฺ ธาตุ ยืดเสียงเป็น การ แปลว่า “ทำ”
“การ” ถ้าใช้ตามลำพัง มีความหมายว่า การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา ความเคารพ หรือความนับถือ; ผู้ทำ ผู้จัดการ หรือผู้ค้า
“การ” ถ้าใช้ต่อท้ายคำอื่น มีความหมายแตกต่างกันไปตามคำนั้นๆ เช่น –
อหํการ = “กระทำว่าเรา” = มองเห็นแต่ตนเอง (selfishness)
อนฺธการ = ความมืด
สกฺการ = การสักการะ, เครื่องสักการะ
พลกฺการ = การใช้กำลัง (forcibly)
“การ” ยังเป็นชื่อเฉพาะทางไวยากรณ์ หมายถึงนิบาต, อักษร, เสียงหรือคำ เช่น ม-การ (มะ-กา-ระ) = “อักษร ม”
“ปริการ – บริการ” แปลตามศัพท์ว่า “ทำรอบ” หมายถึง ทำทั่วไป, ทำทั้งหมด, ทำทุกเรื่อง, ห้อมล้อม, รับใช้, ให้บริการ, ทำงานให้
พจน.42 บอกความหมายของ “บริการ” ว่า
– ปฏิบัติรับใช้, ให้ความสะดวกต่าง ๆ, เช่น ร้านนี้บริการลูกค้าดี
– การปฏิบัติรับใช้, การให้ความสะดวกต่าง ๆ, เช่น ให้บริการ ใช้บริการ
ทุกคนมีสิทธิ์เลือกใช้ “บริการ” –
อยากได้ยศได้ตำแหน่ง : แย่งกันบริการผู้มีอำนาจ
อยากพัฒนาประเทศชาติ : ตั้งใจบริการประชาชน
9-9-56