บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๔) (1)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๔) (1)

———————–

………………………….

๓ กับครอบครัว เราเกิดมาเพราะเราอยากเกิดหรอคะ 

๔ พ่อแม่รึป่าวที่อยากมีเรา 

๕ เพราะความอยากมีเราของเขา ทำให้เราลำบากแบบตอนนี้ไม่ใช่หรอ

………………………….

ทั้ง ๓ ประเด็นนี้มาจากรากเหง้าเดียวกัน จึงขอนำมาพูดไว้ในตอนเดียวกัน แต่แยกเป็น ๓ หัวข้อ

รากเหง้าเดียวกันของคำถามทั้ง ๓ ข้อนี้ก็คือความไม่ต้องการที่จะกตัญญูต่อพ่อแม่ จึงหาเหตุผลมาอ้างหรือมาโต้แย้ง 

เหตุผลที่เป็นหลักการใหญ่ก็คือ-พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ

เมื่อพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ เราก็ไม่ต้องกตัญญู (เล็งไปที่-ไม่ต้องตอบแทนคุณให้ลำบาก ไม่ต้องมาผูกพันกัน เราจะได้ไปทำอะไรๆ ของเราได้อย่างเสรี)

ต่อจากนั้น ก็แจกแจงออกไปว่า ที่ว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณนั้นมีเหตุผลอย่างไร 

๑ เหตุผลข้อแรกก็คือ-เราเกิดมาเพราะเราอยากเกิดหรอคะ

หมายความว่า เราไม่ได้เกิดมาเพราะเราอยากเกิดสักหน่อย พ่อแม่สนุกกันต่างหากเล่า เออ ถ้าเราอยากเกิดนั่นสิจึงค่อยว่าพ่อแม่มีบุญคุณ เพราะทำให้เราเกิดมาสมอยากของเรา

ถาม – ใครเป็นคนบอกว่าเราไม่ได้เกิดมาเพราะเราอยากเกิด?

ตอบ – ก็เราคือตัวข้าพเจ้า คือตัวฉันนี่ยังไงล่ะเป็นคนบอก

ถาม – แล้วฉันรู้ได้อย่างไรว่าฉันไม่ได้อยากเกิด?

ตอบ – อ้าว ก็ฉันกำลังบอกอยู่เองแท้ๆ เดี๋ยวนี้ยังไงล่ะ ถ้าไม่รู้แล้วฉันจะบอกได้ยังไง

ถาม – รู้แล้วว่ากำลังบอกอยู่เดี๋ยวนี้ แต่ตอนที่ฉันกำลังเกิด หรือก่อนที่ฉันจะเกิดโน่นล่ะ ฉันรู้หรือเปล่าว่าฉันไม่อยากเกิด? แล้วแน่ใจหรือว่าตอนโน้นน่ะฉันรู้แน่ว่าฉันไม่อยากเกิด ไม่ใช่เพิ่งมาคิดเอาตอนนี้

ชักงงละสิ 

ถ้ายืนยันว่าแน่ใจ – 

ก็แล้วทำไม่จึงไม่เกิดเสียล่ะ ไม่อยากเกิดก็อย่าเกิดสิ ใครไปบังคับให้เกิดเล่า พ่อแม่ไปบังคับให้เกิดหรือ พ่อแม่ไปเที่ยวไล่จับตัวฉันมาให้เกิดกระนั้นหรือ พ่อแม่เอาอำนาจอะไรไปบังคับให้ฉันเกิด 

ที่ว่ามานี้ไม่ใช่แกล้งตีสำนวนเพื่อไล่เบี้ยหรือหลอกล่อให้งง

แต่เพื่อชวนให้คิดหาเหตุผลที่เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ ไม่ใช่เหตุผลที่คิดเอาเองแล้วก็พูดออกมาลอยๆ ว่า-ฉันไม่ได้อยากเกิด

ที่ตั้งคำถามว่า “เราเกิดมาเพราะเราอยากเกิดหรอคะ” ก็คือจะบอกว่า “ฉันไม่ได้อยากเกิด” 

คำบอกว่า “ฉันไม่ได้อยากเกิด” นี้ บอกเมื่อเราเกิดมาแล้ว และบอกไปตามความรู้สึกในขณะนี้ อาจจะพูดเพื่อหวังเอาชนะหรือต่อปากต่อคำโดยที่ใจจริงไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น

หรือแม้จะรู้สึกเช่นนั้นจริง (คือไม่ได้อยากเกิด) ก็เป็นความรู้สึกหลังจากที่ได้เกิดมาเรียบร้อยแล้วตั้งหลายปี ถูกเหตุผลอื่นๆ ทับถมมาแล้วหลายชั้น

แต่ขณะเกิดหรือก่อนเกิด สามารถยืนยันได้หรือว่า-ตอนนั้นก็ไม่ได้อยากเกิด 

นี่ไม่ใช่คำถามเล่นๆ แต่เป็นคำถามที่ต้องตอบตามหลักวิชา ไม่ใช่คิดเอาเอง มิเช่นนั้นเราก็จะอ้างกันเรื่อยเปื่อยหรือพูดพร่ำเพรื่อว่า-ฉันไม่ได้อยากเกิด ๆ (อ่านว่า “ฉันไม่ได้อยากเกิด ฉันไม่ได้อยากเกิด” ไม่ใช่ “ฉันไม่ได้อยากเกิด เกิด”)

ที่บอกกันได้แน่ๆ ก็คือ ก่อนเกิดหรือขณะเกิด ตัวเราเองไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเราอยากเกิดหรือไม่อยากเกิด

ก่อนเกิด เราระลึกชาติไม่ได้ว่าเราเป็นอะไรอยู่ก่อนที่จะเกิด

ขณะเกิด เรายังไม่รู้เดียงสา-ที่เรียกว่ายังจำความไม่ได้

แล้วจะเอาอะไรมายืนยันว่า-เราไม่อยากเกิด

ถ้าบอกว่า เราไม่เชื่อเรื่องชาติหน้า-ชาติก่อน เราเชื่อเฉพาะชาติที่เกิดมาแล้วนี้เท่านั้น 

ถ้าเช่นนั้นก็ต้องหาทางพิสูจน์ว่า ใครบังคับให้เราเกิด 

พ่อแม่บังคับให้เราเกิดได้หรือ 

บังคับด้วยวิธีการอย่างไร 

มนุษย์อีกเป็นล้านๆ ทำไมไม่ถูกบังคับให้เกิดมาเป็นลูกของพ่อแม่คู่นี้ ทำไมต้องเป็นเรา 

ปัจจัยหรือเงื่อนไขอะไรทำให้เป็นเช่นนี้ 

ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องชาติหน้า-ชาติก่อน ก็ต้องหาหลักวิชาที่พิสูจน์ได้ในชาตินี้มาอธิบาย-เช่นหลักทางวิทยาศาสตร์เป็นต้น เพื่อยืนยันว่า ก่อนที่จะเกิดเราไม่ได้อยากเกิดจริงๆ 

ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ ก็แปลว่าเราพูดเอาเอง และพูดตามความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ใช่ความคิดที่มีอยู่ก่อนที่ตัวเองจะเกิด

แล้วยังจะต้องดูไปที่มนุษย์คนอื่นๆ อีกซึ่งก็เกิดมาด้วยกฎเกณฑ์เดียวกับเรานั่นเอง ถ้ามีคนยืนยันว่า ตัวเขาอยากเกิด ที่เกิดมานี่ก็เพราะเขาอยากเกิด และเขาถือว่าพ่อแม่มีบุญคุณเพราะทำให้เขาได้เกิดสมอยาก 

คราวนี้ก็ต้องเถียงกันเอง 

ทำไมกฎเกณฑ์เดียวกัน คนหนึ่งจึงปฏิเสธว่าไม่ใช่ แต่อีกคนหนึ่งยอมรับว่าใช่

นั่นก็แปลว่า ที่เราบอกว่า-เราไม่ได้อยากเกิด-นั้น ก็เป็นแค่เราคิดเอาเองเท่านั้น ไม่ได้มีความจริงที่พิสูจน์ได้อยู่ในคำพูดนี้เลย

…………………

หลักวิชาของพระพุทธศาสนาบอกว่า การเกิดเป็นกระบวนการในสังสารวัฏที่ดำเนินไปตามเหตุปัจจัย 

กระบวนการนี้มีคำเรียกว่า “อนมตัคคะ” (อะ-นะ-มะ-ตัก-คะ) นักเรียนบาลีแปลกันว่า “มีเงื่อนต้นและเงื่อนปลายอันใครๆ ไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า “whose beginning and end are alike unthinkable” (“ซึ่งการขึ้นต้นและลงท้ายไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นใดเหมือนกัน”) 

ท่านจึงสมมุติให้ “อวิชชา” (ความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดในความจริง – Ignorance) เป็นต้นเงื่อน 

อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งหนึ่ง

แล้วสิ่งหนึ่งนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง

เป็นปัจจัยส่งต่อๆ กันไป 

จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้มี “การเกิด” ที่ท่านใช้คำบาลีว่า “ชาติ” (ชา-ติ) คำอังกฤษว่า Birth

ก็คือเกิดมาเป็นฉัน เป็นข้าพเจ้า เป็นเรา ที่กำลังยืนยันว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ และกำลังตั้งคำถามว่า-เราเกิดมาเพราะเราอยากเกิดหรอคะ-นี่แหละ

หลักวิชาพระพุทธศาสนาบอกว่า ถ้าจะไม่เกิดอีกก็ต้องดับที่เหตุปัจจัย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทดลองปฏิบัติจนเห็นผลประจักษ์จริงแล้วและนำมาแสดงแก่ชาวโลก 

ปฏิบัติไปจนถึงอวิชชาดับ เหตุปัจจัยต่างๆ ดับตามกันไปหมด 

“การเกิด” ก็เป็นอันดับไปด้วย คือไม่ต้องเกิดอีกต่อไป

ถึงตอนนั้นก็ไม่ต้องมีปัญหาว่า-ฉันอยากเกิดหรือฉันไม่อยากเกิด

ถ้าในตัวฉันยังมีเหตุปัจจัยที่จะต้องเกิดอยู่ แม้จะพูดว่า-ฉันไม่อยากเกิด ฉันก็ต้องเกิดจนได้

ถ้าฉันปฏิบัติจนเหตุปัจจัยหมดไป ถึงตอนนั้นก็ไม่มีปัญหาที่จะต้องพูดว่าฉันอยากเกิดหรือฉันไม่อยากเกิดอีกต่อไป

………..

หวังว่าคงพอเข้าใจได้บ้างว่า ที่บอกว่า-เราไม่ได้อยากเกิด (แต่พ่อแม่ทำให้เราเกิด)-นั้น เป็นคำพูดที่มีเหตุผลแค่ไหนเพียงไร

ตอนต่อไป

………………………….

๔ พ่อแม่รึป่าวที่อยากมีเรา 

………………………….

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๔:๔๒

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๓) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๔) (2)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *