บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑)

———————–

นำร่อง

…………………….

หมายเหตุ:

เรื่องที่ญาติมิตรจะได้อ่านต่อไปนี้ ผมตั้งเค้าโครงที่จะเขียนมาตั้งแต่ราวๆ เดือนกันยายน-ตุลาคม ๒๕๖๓ คือตั้งแต่ตอนที่ได้เห็นข้อความตามภาพประกอบที่มีผู้นำมาเผยแพร่ แต่ยังไม่ได้เขียนเพราะสาเหตุที่ผมเรียกว่า “กำลังน้ำเชี่ยวลมแรง” อย่างหนึ่ง และมีภารกิจจำเป็นอื่นๆ มาแทรกแซงอยู่เนืองๆ อย่างหนึ่ง แต่ก็ได้ลงมือเขียนตอนแรกที่เป็น “นำร่อง” หรือบทนำไปบ้างแล้ว และตั้งใจไว้ว่าจะพยายามเขียนให้หมดทุกประเด็นที่ตั้งไว้

เหตุผลที่เขียนมีเป็นประการใด ปรากฏอยู่แล้วในบทนำร่องต่อไปนี้

…………………….

ตอนที่มี “เด็ก” ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อเร็วๆ นี้ เราคงได้ยินคำพูดคำหนึ่งที่ว่า “อย่าดูถูกความคิดเด็ก” 

แล้วก็มีคนเสริมอีกด้วยว่า “ผู้ใหญ่ตามเด็กไม่ทัน” 

หมายความว่า เด็กคิดถูก คิดดี คิดเร็ว คิดไกล จนผู้ใหญ่ (โง่ๆ) ตามไม่ทัน เพราะฉะนั้น จึงมีคำปรามว่า-อย่าดูถูกความคิดเด็ก

คำว่า “อย่าดูถูก” นั้น มีนัยไปถึงว่า-ควรยอมรับนับถือด้วย-ว่าความคิดของเด็กนั้นถูกต้อง

ถ้าตัดความเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ออก ผมว่าเนื้อตัวแท้ๆ ที่น่าสนใจคือ “ความคิด”

แต่เราไม่ค่อยจะได้จับเอาตัวความคิดมาพินิจพิจารณากันสักเท่าไร 

ส่วนใหญ่ก็ตื่นเต้นไปกับการที่เด็กออกมาแสดงความคิดเห็น

แทบไม่ได้สนใจด้วยซ้ำไปว่า-เด็กคิดเองหรือใครช่วยคิด-หรือใครบอกให้คิด

ถ้าจะว่ากันตรงๆ ก็คือ เราสะใจที่มีเด็กออกมาด่าคนที่เราเกลียด

จนแทบจะลืมฟังว่า-ด่าว่าอย่างไร 

น้ำหนักจึงไปอยู่ที่ –

ใครด่า

ด่าใคร

ถ้าเปลี่ยนคำว่า “ความคิด” เป็น “ด่า”

ถ้าคำด่านั้นถูกต้อง ด่าคนที่เราเกลียด ถูก

ด่าคนที่เรารัก ก็ต้องถูกด้วย

ถ้าสมมุติว่าเด็กคนเดียวกันนี้หรือกลุ่มเดียวกันนี้ไปด่าคนที่เรารักเข้า 

คราวนี้เรายังจะยืนยันอยู่หรือไม่ว่า – “อย่าดูถูกความคิดเด็ก”?

เพราะฉะนั้น เรามาสนใจตัว “ความคิด” นั้นกันสักหน่อยดีกว่า

ตัดปัญหา-ใครคิด ออกไป

ดูกันเฉพาะ-คิดอะไร 

ถ้าความคิดนั้นถูกต้อง ใครคิดก็ถูกทั้งนั้น

ถ้าความคิดนั้นผิด ใครคิดก็ผิดทั้งนั้น

จับหลักนี้ไว้นะครับ

………………..

ภาพที่นำมาประกอบเรื่อง (อันที่จริงเป็นตัวหลักของเรื่อง ไม่ใช่ตัวประกอบ) เป็นภาพที่เราได้เห็นโดยทั่วกันมาแล้ว 

จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครออกมาปฏิเสธว่า นี่ไม่ใช่ความคิดของเด็กที่ออกมาแสดงความคิดกันเมื่อวันนั้น หรือบอกว่าเป็นภาพตัดต่อ หรือเป็นภาพปลอม 

เพราะฉะนั้น ก็ต้องถือว่านี่คือ “ความคิดของเด็ก” ที่คิดขึ้นในครั้งนี้จริงๆ 

ขอคัดข้อความในภาพมาไว้ตรงนี้เพื่อสะดวกในการอ่านและอ้างอิง 

(วรรคตอนตามต้นฉบับ)

……………………………..

กตัญญูแปลว่าอะไรคะ ทำไม

เราต้องเอาความกตัญญูมา

เป็นพื้นฐานด้วยคะ กับ

ครอบครัวเราเกิดมาเพราะเรา

อยากเกิดหรอคะ พ่อแม่รึป่าว

ที่อยากมีเรา เพราะความ

อยากมีเราของเขา ทำให้เรา

ลำบากแบบตอนนี้ไม่ใช่หรอ

กับครูเราจ่ายค่าเทอมแลก

การศึกษาค่ะ เพราะงั้นมาทวง

บุนคุนไม่ได้ และถ้ากับแผ่น

ดินคิดว่าไม่มีค่ะ

……………………………..

แบ่งวรรคตอนใหม่ให้เป็นประโยคตรงตามประเด็น

……………………………..

๑ กตัญญูแปลว่าอะไรคะ 

๒ ทำไมเราต้องเอาความกตัญญูมาเป็นพื้นฐานด้วยคะ 

๓ กับครอบครัว เราเกิดมาเพราะเราอยากเกิดหรอคะ 

๔ พ่อแม่รึป่าวที่อยากมีเรา 

๕ เพราะความอยากมีเราของเขา ทำให้เราลำบากแบบตอนนี้ไม่ใช่หรอ

๖ กับครู เราจ่ายค่าเทอมแลกการศึกษาค่ะ 

๗ เพราะงั้นมาทวงบุนคุนไม่ได้ 

๘ และถ้ากับแผ่นดิน คิดว่าไม่มีค่ะ

……………………………..

ขอทำความเข้าใจไว้แต่เบื้องต้นก่อนเลยว่า ความคิดที่ผมแบ่งออกได้ทั้ง ๘ ประเด็นนี้ เด็กมีสิทธิ์โดยสมบูรณ์ที่จะคิด 

และเด็กมีสิทธิ์โดยสมบูรณ์ที่จะยึดถือยืนยันมั่นใจว่าทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ถูกต้อง 

ไม่มีใครหน้าไหนมีอำนาจที่จะมาห้ามคิด หรือมาดูถูก หรือแม้แต่จะมาบอกว่าเป็นความคิดที่ผิด

ที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เป็นเพียงความคิดของผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งก็เคยเป็นเด็กมาก่อน 

ใครที่บอกว่า “อย่าดูถูกความคิดเด็ก” และถ้าใครคนนั้นมีใจเป็นธรรมก็ควรกล้าที่บอกด้วยว่า “อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่”

และโปรดระลึกว่า เราจะพูดกันเฉพาะ “ตัวความคิด” เท่านั้น ไม่ลากเอา “ตัวคนคิด” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

หมายความว่า เราพูดได้ว่า “มีคนที่คิดแบบนี้” แต่ไม่มีนาย ก นาย ข เด็กชาย เอ เด็กหญิง บี ที่จะต้องออกมารับผิดหรือรับชอบเป็นรายบุคคลหรือที่จะถูกลากเอามาเกี่ยวข้องด้วย

วิธีนี้เราจะปลอดจากการกระทบกระทั่งตัวบุคคล

ในฐานะเป็นตัวบุคคล เรายังคงเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เมื่อยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏก็เปลี่ยนไม่ได้ ใครเป็นพ่อแม่ลูกเป็นครูเป็นศิษย์กัน หรือเป็นคนไทยเป็นคนที่เกิดในแผ่นดินไทยในชาตินี้ ก็เป็นไปเรียบร้อยแล้ว แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้

แต่ความคิดหรือความเห็น เปลี่ยนได้

เมื่อเข้าใจกรอบขอบเขตตรงกันแล้ว ต่อไปนี้ก็จะเป็นความคิดเห็นของผมที่มีต่อประเด็นทั้ง ๘ นั้น 

เบื้องต้น ขอพูดเป็นภาพรวมไว้ก่อนว่า “ความคิดเด็ก” ทั้ง ๘ ประเด็นนั้นกระทบโดยตรงกับคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งศัพท์วิชาการเรียกว่า “ปรัปวาท” 

“ปรัปวาท” อ่านว่า ปะ-รับ-ปะ-วาด พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ว่า – 

(๑) คำกล่าวของคนพวกอื่นหรือลัทธิอื่น

(๒) คำกล่าวโทษคัดค้านโต้แย้งของคนพวกอื่น 

(๓) หลักการของฝ่ายอื่น 

(๔) ลัทธิภายนอก 

(๕) คำสอนที่คลาดเคลื่อนหรือวิปริตผิดเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น

พจนานุกรมบาลี – อังกฤษ ของ ริส เดวิดส์ (The Pali text society’s Pali-English dictionary edited by T. W. RHYS DAVIDS) แปล “ปรปฺปวาท” ว่า disputation with another, challenge, opposition in teaching (การโต้เถียงกับผู้อื่น, การท้าทาย, การขัดกันในการสอน)

พูดง่ายๆ ถ้าเอาคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นตัวตั้ง – 

พระพุทธศาสนาสอนว่าอย่างนี้ๆ

มีคนบอกว่า ไม่ใช่ ไม่จริง ไม่เป็นจริงตามที่สอน

นั่นแหละคือ “ปรัปวาท”

ดังนั้น ถ้ามองว่าประเด็นทั้ง ๘ นั้นเป็นปรัปวาท ชาวพุทธก็มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันอธิบายชี้แจง

จนถึงวันนี้ – เท่าที่ผมสดับตรับฟัง – ยังไม่มีใครออกมาอธิบายชี้แจงประเด็นความคิดทั้ง ๘ ข้อนั้นว่าถูกผิดประการใด

เป็นเรื่องน่าคิด ปรัปวาทเกิดขึ้นตรงหน้า แต่ไม่มีใครกล้าอธิบาย

จะว่าไม่รู้ไม่เห็น ก็ไม่ใช่ เพราะความข้อนั้นเผยแพร่ปรากฏอยู่ทั่วไป 

จะว่า-อ่านไม่ออก บอกไม่ถูก ฟังไม่เป็น คิดไม่เห็น จึงไม่รู้สึกว่านี่เป็น “ปรัปวาท” ก็อาจเป็นได้ 

จะว่า-ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเก็บเอามาคิดเอามาพูด ก็อาจใช่อีก 

หรือจะว่า-กลัว ก็อาจเป็นได้

แล้วผมไม่กลัวทัวร์ลงหรือแร้งลงอีกหรือ 

ตอบได้เลยครับว่า ผมไม่กลัว

ที่ไม่กลัวเพราะผมไม่ได้ตั้งตัวเป็นศัตรูกับใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็กคนไหนทั้งนั้น

แต่ผมพร้อมจะเป็นศัตรูกับ “ความคิดที่เป็นปรัปวาท”

และแน่นอน ขอย้ำ-ที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้ไม่ใช่เป็นการชี้หน้าด่าว่าความคิดแบบนั้นผิด

แต่เป็นการอธิบายว่า เรื่องนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร

ตัดออกไปว่าใครเป็นผู้ใหญ่ใครเป็นเด็ก

ตัดออกไปว่าใครแข็งแรงใครอ่อนแอ 

ตัดออกไปว่าใครสามารถรุมกระทืบใครได้เก่งกว่ากัน 

มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล เพราะฉะนั้น เอาความคิด เอาเหตุผลที่คิดแบบนั้น มาสู้กันล้วนๆ

เอาชนะกันด้วยเหตุผล

ไม่ใช่ใครด่าเก่งกว่า เสียงดังกว่า หรือพวกมากกว่า

เมื่อเข้าใจตรงกันและพร้อมแล้ว เชิญสดับ 

………….

ตอนต่อไป

………………………….

๑ กตัญญูแปลว่าอะไรคะ 

………………………….

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๑:๑๑

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๒) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *