บาลีวันละคำ

ปาฏิบุคลิก (บาลีวันละคำ 3,095)

ปาฏิบุคลิก

Private หรือ personal ในภาษาบาลี

อ่านว่า ปา-ติ-บุก-คะ-ลิก

ปาฏิบุคลิก” บาลีเป็น “ปาฏิปุคฺคลิก” อ่านว่า ปา-ติ-ปุก-คะ-ลิ-กะ แยกศัพท์เป็น ปาฏิ + ปุคฺคลิก

(๑) “ปาฏิ

รูปคำเดิมเป็น “ปฏิ-” (ปะ-ติ)

ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ปฏิ-” :

ปฏิ-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ปฏิ : เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิ– : คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปฏิ-” ว่า back (to), against, towards, in opposition to, opposite (กลับ, ตอบ, เฉพาะ, มุ่งไปยัง, ตรงกันข้าม, กลับกัน)

ปฏิ-” เมื่อประกอบกับคำว่า “ปุคฺคลิก” ทำกรรมวิธีทางไวยากรณ์โดยใช้สูตร “ทีฆะต้นศัพท์” คือ อะ ที่ -(ฏิ) เป็น อา

ปฏิ– จึงกลายเป็น ปาฏิ

(๒) “ปุคฺคลิก

บาลีอ่านว่า ปุก-คะ-ลิ-กะ รากศัพท์มาจาก ปุคฺคล + อิก (อิ-กะ) ปัจจัย

(ก) “ปุคฺคล” (ปุก-คะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุ (นรก) + คลฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน คฺ

: ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก

(2) ปูติ (ของบูดเน่า) + คลฺ (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ ปู-(ติ) เป็น อุ แล้วลบ ติ (ปูติ > ปุติ > ปุ), ซ้อน คฺ

: ปูติ > ปุติ > ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า

(3) ปุคฺค (อาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็ม) + ลา (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, ลบ อา ที่ ลา (ลา > )

: ปุคฺค + ลา = ปุคฺคลา > ปุคฺคล + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” (คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้)

(4) ปูร (เต็ม) + คล (เคลื่อน), รัสสะ อู ที่ ปู-(ร) เป็น อุ แล้วลบ (ปูร > ปุร > ปุ), ซ้อน คฺ ระหว่าง ปูร + คล

: ปูร > ปุร > ปุ + คฺ + คล = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” (คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย)

ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –

(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man)

(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)

ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” (อ่านว่า บุก-คน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า บุก-คะ-ละ-, บุก-คน-ละ-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

(ข) ปุคฺคล + อิก = ปุคฺคลิก แปลตามศัพท์ว่า “เป็นของเฉพาะบุคคล” หมายถึง เป็นของบุคคลคนเดียว, เฉพาะคน, ต่างหาก (belonging to a single person, individual, separate)

ปุคฺคลิก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุคลิก” อ่านว่า บุก-คะ-ลิก, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า บุก-คะ-ลิก-กะ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุคลิก, บุคลิก– : (คำวิเศษณ์) จําเพาะคน. (ป. ปุคฺคลิก).”

ปฏิ + ปุคฺคลิก = ปฏิปุคฺคลิก > ปาฏิปุคฺคลิก

ปาฏิปุคฺคลิก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปาฏิบุคลิก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาฏิบุคลิก : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) เฉพาะบุคคล, ไม่ทั่วไป. (ป. ปาฏิปุคฺคลิก).”

หมายเหตุ: คำว่า “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “ปาฏิบุคลิก” เป็นศัพท์วิชาการ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สะกดตามบาลีเป็น “ปาฏิปุคคลิก” บอกความหมายไว้ว่า –

ปาฏิปุคคลิก : เฉพาะบุคคล, ไม่ทั่วไป, ถวายเป็นส่วนปาฏิปุคคลิก คือถวายเจาะจงบุคคลไม่ใช่ถวายแก่สงฆ์.”

ขยายความว่า “ปาฏิบุคลิก” ใช้ในการถวายทาน เรียกเต็มว่า “ปาฏิบุคลิกทาน” (ปา-ติ-บุก-คะ-ลิ-กะ-ทาน) คู่กับ “สังฆทาน

ปาฏิบุคลิกทาน = ถวายเจาะจงบุคคล ของที่ถวายตกเป็นของภิกษุที่รับถวายแต่เพียงรูปเดียว

สังฆทาน = ถวายแก่สงฆ์ คือ ถวายเป็นกลางๆ ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ของที่ถวายตกเป็นของสงฆ์ ถ้าเป็นลหุภัณฑ์ คือของใช้ประจำตัวหรือใช้หมดเปลือง แล้วแต่สงฆ์จะตกลงแบ่งแจกกัน ถ้าเป็นครุภัณฑ์ คือไม่ใช่ของใช้ประจำตัวโดยเฉพาะ ก็เก็บไว้เป็นของส่วนกลางเพื่อใช้เป็นส่วนรวม

ปาฏิบุคลิกทาน” มักเรียกตัดเป็น “บุคลิกทาน” บางทีตัดสั้นเป็น “บุคลิก” คำเดียวก็เป็นที่เข้าใจกัน คือหมายถึงนิมนต์หรือถวายเจาะจงตัวผู้รับ

ว่าโดยศัพท์ “ปาฏิบุคลิก” มีความหมายในวงกว้างออกไปอีก คือหมายถึง สิ่งของที่ใช้เป็นของส่วนตัว หรือการกระทำใดๆ ที่ทำเป็นการส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์หรือหลักการที่สังคมส่วนรวมตกลงกันไว้ จะว่าเป็นกติกาส่วนตัวหรือกฎส่วนบุคคลที่กำหนดเอาเองตามใจชอบก็ได้

ตามปกติของสังคมอารยชน บุคคลที่อยู่รวมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปย่อมไม่อาจมีสิทธิใดๆ ได้อยางสมบูรณ์ สิทธิของคนหนึ่งย่อมถูกจำกัดด้วยสิทธิของอีกคนหนึ่งเสมอ ใครจะทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ ย่อมขึ้นอยู่กับข้อกำหนดที่ตกลงกันไว้ และผู้ที่เจริญแล้วย่อมเคารพข้อตกลงนั้น

ข้อตกลงนั้นๆ อาจปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงได้ แต่ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามข้อตกลงของส่วนรวม ไม่ใช่ใครอยากทำอะไรหรือไม่อยากทำอะไรก็กำหนดเอาเองหรือเรียกร้องเอาตามความพอใจ

ช่วงนี้มีผู้เรียกร้องขอทำอะไรๆ นอกระเบียบแบบแผนที่สังคมของตนกำหนดไว้ ที่ใช้คำฝรั่งว่า private กันชุกชุม

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล private เป็นบาลีว่า : puggalika ปุคฺคลิก

ปุคคลิก” อ่านว่าอย่างไร มีรากศัพท์อย่างไร แปลว่าอย่างไร หมายความว่าอย่างไร มีนัยตามที่ได้แสดงมา

…………..

ดูก่อนภราดา!

ความยุติธรรมของการมีสิทธิ์ ก็คือ –

: ถ้ามีสิทธิ์ทำอะไรได้ตามใจชอบ

ก็ต้องสละสิทธิ์ที่จะอยู่ในสังคม

: ถ้ามีสิทธิ์อยู่ในสังคม

ก็ต้องสละสิทธิ์ที่จะทำอะไรได้ตามใจชอบ

#บาลีวันละคำ (3,095)

2-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย