บาลีวันละคำ

กิระ (บาลีวันละคำ 3,096)

กิระ

ดังได้สดับมา

กิระ” เขียนแบบบาลีเป็น “กิร” อ่านว่า กิ-ระ เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” (ศัพท์ที่วางไว้ระหว่างข้อความในประโยคเพื่อเชื่อมข้อความหรือเสริมความ)

นักเรียนบาลีแปล “กิร” ว่า “ได้ยินว่า” หรือ “ดังได้สดับมา” ซึ่งภาษาอังกฤษทั่วไปมักแปลว่า “people say” หรือ “I have heard”

พจนานุกรมบาลี-ไทย ฉบับภูมิพโลภิกขุ ซึ่งแปลมาจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กิร” ไว้ดังนี้ –

(1) จริงๆ, แน่นอน, แน่แท้

(2) สันนิษฐานว่า, ได้ยินว่า

(3) ทีนี้, แล้วก็, นี่แหละ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความศัพท์ว่า “กิร” ไว้เต็มๆ ดังนี้ –

(1) emphatic: really, truly, surely. (เป็นการเน้น: จริง ๆ แน่นอน, แน่แท้)

(2) presumptive: I should think one would expect. (เดาหรือสันนิษฐาน: ฉันคิดว่าคนเราย่อมจะหวัง)

(3) narrative: now, then, you know. (เกี่ยวกับบรรยายโวหาร: ทีนี้, แล้วก็, นี่แหละ)

นอกจากนี้ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ยังมีตัวอย่างคำบาลีที่มีศัพท์ว่า “กิร” อยู่ในประโยคและแปลได้หลายนัย ขอนำมาเสนอในที่นี้เพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ ดังนี้ –

(1) มหนฺตํ กิร พาราณสิรชฺชํ : the kingdom of Benares is truly great. (ราชอาณาจักรพาราณสียิ่งใหญ่จริงๆ)

(2) อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม : self is difficult to subdue, we know. (เรารู้ว่าตนนั้นแหละฝึกได้ยาก)

(3) น กิร : surely not. (แน่ละ ไม่)

(4) เอสา กิร วิสาขา นาม : that I presume is the Visākhā” [of whom we have heard]. (ฉันสันนิษฐานว่า นั่นคือนางวิสาขา [ซึ่งเราได้ยินมา])

(5) เปตา หิ กิร ชานนฺติ : the petas, I should say, will know. (ฉันว่าพวกเปรตย่อมรู้)

(6) เอวํ กิร อุตฺตเร? : I suppose this is so, Uttarā? (ฉันคิดว่ามันเป็นอย่างนั้นนะ แม่อุตตรา?)

(7) เอวํ กิร สคฺคํ คมิสฺสถ : thus you will surely go to Heaven (ดังนั้น ท่านจักไปสู่สวรรค์แน่นอน)

(8) โส กิร ปุพฺเพ … อกาสิ : at one time, you know, he had made … (ท่านรู้หรือเปล่าว่าในกาลครั้งหนึ่งเขาได้ทำ…)

(9) สา กิร ทาสี อทาสิ : now the maid gave her … (ทีนี้สาวใช้ได้ให้…แก่หล่อน)

จะเห็นได้ว่า “กิร” ในประโยคเหล่านี้ไม่มีคำแปลเป็นอังกฤษว่า hearsay (ได้ยินว่า) หรือ I have heard (ดังได้สดับมา) ดังที่นักเรียนบาลีไทยมักจะแปลเช่นนี้ทุกครั้งไป โดยที่นึกไม่ถึงว่า “กิร” จะมีความหมายเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร

โปรดสังเกตเป็นความรู้ด้วยว่า ประโยคภาษาบาลีที่มีศัพท์ว่า “กิร” ถ้าไม่มีนิบาตคำอื่นอยู่ในที่นั้น “กิร” จะอยู่เป็นลำดับที่ 2 เสมอ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “กิระ” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

กิระ : (คำวิเศษณ์) เล่าลือ เช่น คํากิระ หมายความว่า คําเล่าลือ. (ป.).”

ขยายความ :

ในเกสปุตติยสูตร หรือเกสปุตตสูตร หรือที่รู้จักกันในนาม “กาลามสูตร” ว่าด้วยคำสอนเรื่องไม่ควรเชื่อโดยอ้างเหตุ 10 อย่าง 1 ใน 10 อย่างนั้นคำบาลีว่า –

“มา อิติกิราย”

(มา อิ-ติ-กิ-รา-ยะ)

แปลว่า “อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ

แปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by hearsay.

คำว่า “อิติกิราย” ก็มาจาก “กิร” ศัพท์นี้

คัมภีร์ชั้นอรรถกถาอธิบายสถานะของ “กิร” ศัพท์ว่า –

กิราติ  อนุสฺสวนตฺเถ  นิปาโต.”

แปลว่า “ศัพท์ว่า กิร เป็นนิบาตใช้ในความหมายว่าฟังตามกันมา

หลักวากยสัมพันธ์ (คือวิชาว่าด้วยหน้าที่และความเกี่ยวข้องกันระหว่างคำในประโยค) กำหนดว่า “กิร” ศัพท์ เรียกชื่อสัมพันธ์ว่า “อนุสสวนัตถะ”

คำบอกสัมพันธ์ว่า “กิร ศัพท์ อนุสสวนัตถะ”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงฟังทุกเรื่อง

: แต่อย่าเชื่อทุกเรื่อง

#บาลีวันละคำ (3,096)

3-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย