อันเตปุริกธุริณ (บาลีวันละคำ 3,705)
อันเตปุริกธุริณ
ใครไม่เคยได้ยิน พึงสดับ
อ่านว่า อัน-เต-ปุ-ริก-ทุ-ริน
แยกศัพท์เป็น อันเตปุริก + ธุริณ
(๑) “อันเตปุริก”
เขียนแบบบาลีเป็น “อนฺเตปุริก” อ่านว่า อัน-เต-ปุ-ริ-กะ ประกอบด้วยคำว่า อนฺเต + ปุร + อิก
(ก) “อนฺเต” อ่านว่า อัน-เต ตำราไวยากรณ์บาลีบอกว่าเป็นศัพท์จำพวกอุปสรรค คงรูปเป็น “อนฺเต” และไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ แปลว่า ใกล้, ข้างใน, ภายใน (near, inside, within) เช่น “อนฺเตปุร” (อัน-เต-ปุ-ระ) แปลว่า “ภายในเมือง”
(ข) “ปุร” (ปุ-ระ) รากศัพท์มาจาก –
(๑) ปุ (ธาตุ = รักษา) + ร ปัจจัย
: ปุ + ร = ปุร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่รักษาประชาชนจากอำนาจของศัตรู”
(๒) ปุรฺ (ธาตุ = รักษา) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปุรฺ + อ = ปุร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่รักษาประชาชน”
“ปุร” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้
(1) เมือง, ป้อม, บุรี (a town, fortress, city)
(2) ที่อยู่อาศัย, บ้านหรือส่วนที่แยกกันของบ้าน (dwelling, house or divided part of a house)
(3) ร่างกาย (the body)
อนฺเต + ปุร = อนฺเตปุร (อัน-เต-ปุ-ระ) แปลว่า “ภายในเมือง”
(ค) อนฺเตปุร + อิก = อนฺเตปุริก (อัน-เต-ปุ-ริ-กะ) แปลว่า “ผู้อยู่ภายในเมือง”
“อนฺเตปุริก” ใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยเป็น “อันเตปุริก”
คำว่า “อันเตปุริก” เมื่อกล่าวตามความในหนังสือ “จดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรวบรวม ก็น่าจะตรงกับข้อความตอนหนึ่งที่ว่า –
…………..
… ข้าราชการในพระราชสำนัก คือในกรมวัง ตำรวจ มหาดเล็ก และชาวพระคลังข้างที่เป็นต้น …
…………..
บุคคลดังกล่าวนี้แหละคือ “อันเตปุริก”
(๓) “ธุริณ”
ภาษาไทยอ่านว่า ทุ-ริน บาลีเป็น “ธุรี” อ่านว่า ทุ-รี รากศัพท์มาจาก ธุร + อี ปัจจัย
(ก) “ธุร” บาลีอ่านว่า ทุ-ระ รากศัพท์มาจาก –
(1) ธุพฺพิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อร ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อิ ที่ ธุพฺพิ และลบ พฺพ (ธุพฺพิ > ธุพฺพ > ธุ)
: ธุพฺพิ + อร = ธุพฺพิร > ธุพฺพร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน”
(2) ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ธ-(รฺ) เป็น อุ (ธรฺ > ธุรฺ)
: ธรฺ + อ = ธร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาทรงไว้”
“ธุร” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) แอก, คานรถ (a yoke, a pole, the shaft of a carriage)
(2) สัมภาระ, น้ำหนักบรรทุก, ภาระ, หน้าที่, การรับผิดชอบ (a burden, load, charge, office, responsibility)
(3) ส่วนหน้า, ศีรษะ, ยอด, ข้างหน้า (the forepart of anything, head, top, front)
(4) หัวหน้า, ผู้นำ, บทบาทที่สำคัญ (chief, leader, leading part)
(5) ปลายสุด, ที่ตอนต้นหรือตอนปลาย (the far end, either as top or beginning)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธุร-, ธุระ : (คำนาม) หน้าที่การงานที่พึงกระทำ, กิจในพระศาสนา มี ๒ อย่าง คือ การเล่าเรียน เรียกว่า คันถธุระ และ การปฏิบัติทางใจ เรียกว่า วิปัสสนาธุระ; (ปาก) เรื่อง, เรื่องส่วนตัว, เช่น นี่เป็นธุระของฉัน ไม่ใช่ธุระของคุณ. (ป., ส.).”
(ข) ธุร + อี = ธุรี (ทุ-รี) แปลว่า “ผู้มีธุระ” “ผู้มีภาระอันจะพึงรองรับ” หมายถึง ผู้มีหรือทนต่อภาระหน้าที่, อดทน, ทนทาน (one who has or bears his yoke, patient, enduring)
บาลี “ธุรี” สันสกฤตเป็น “ธุรีณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ธุรีณ : (คำนาม) ธุรยะ, สัตว์งารหนัก (ดุจโคต่าง, ม้าต่าง, สัตว์เทียมลาก, ฯลฯ); คนงารหนัก, ผู้มีธุระหรือภาระ; a beast of burden; a man of business; – (คำวิเศษณ์) อันแบกหาม; มีมาก, อันเต็มไปด้วย; อันมีภาระ; bearing; abounding with; charged with.”
“ธุรีณ” ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธุริณ” ตามประสงค์ของผู้ตั้งชื่อ
อันเตปุริก + ธุริณ = อันเตปุริกธุริณ (อัน-เต-ปุ-ริก-ทุ-ริน) คำนี้เป็นชื่อ “ศาลาโถงทำด้วยเครื่องไม้มุงจาก” แปลตามศัพท์ว่า “ศาลาที่รองรับผู้อยู่ภายในเมือง” แปลตามประสงค์ว่า “ศาลาที่รองรับข้าราชการในพระราชสำนัก”
ขยายความ :
เมื่อพุทธศักราช 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศยุโรป ระหว่างเวลาเสด็จประพาสนั้นได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ตั้งแต่เสด็จออกจากพระนครจนถึงเสด็จกลับเป็นเวลาประมาณ 7 เดือน พระราชหัตถเลขาเหล่านั้นได้รวมพิมพ์เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง เรียกกันว่า พระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์หนังสือขึ้นเรื่องหนึ่งชื่อ “จดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน”
ข้อความตอนหนึ่งใน “จดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน” มีดังนี้ –
…………..
เรื่องตั้งศาลาอันเตปุริกธุริณ
มีการอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น เนื่องในการรักษาพระนครเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยุโรปครั้งนี้ ควรจะเล่าเรื่องราวไว้ให้ปรากฏในจดหมายเหตุด้วย ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ว่าตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากพระนครไป พระบรมวงศานุวงศ์มีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นประธาน กับทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยไปประชุมกันที่หน้าพระที่นั่งอภิเษกดุสิตในเวลาบ่ายทุกๆ วัน ครั้นเวลาพลบค่ำ ผู้ซึ่งไม่มีหน้าที่จะต้องอยู่ประจำก็พากันกลับ แต่นั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จประทับที่ประชุมสภารักษาพระนครหรือสภาเสนาบดีต่อไป ตามวันกำหนดของการประชุมสภานั้นๆ ไปจนเวลาราว ๒ ทุ่มจึงเลิก ต่อเวลานั้นไปข้าราชการในพระราชสำนัก คือในกรมวัง ตำรวจ มหาดเล็ก และชาวพระคลังข้างที่เป็นต้น ที่มีหน้าที่อยู่ประจำเวรบ้าง และไม่ต้องประจำเวรบ้าง มีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงวังเป็นประธาน ยังอยู่ต่อไปจนสี่ทุ่มห้าทุ่มจึงได้เลิกเป็นนิตย์ดังนี้
อยู่มาวันหนึ่ง ข้าราชการในพระราชสำนักซึ่งอยู่ในสโมสรนั้นคนหนึ่ง มีแก่ใจหาอาหารไปเลี้ยงเพื่อนข้าราชการในพระราชสำนักด้วยกัน ผู้ซึ่งได้กินเลี้ยงพากันเห็นชอบด้วย ต่างคนต่างจึงรับจะหาอาหารเย็นไปเลี้ยงในวันอื่นบ้าง ก็เกิดปันเป็นเวรให้หาไปเลี้ยงในวันพุธกับวันเสาร์ แต่เดิมก็เลี้ยงเฉพาะข้าราชการในพระราชสำนักที่อยู่จนเวลาเลิกประชุมแล้วราวเจ็ดคนแปดคน ต่อมาผู้ที่รับเวรเลี้ยงชวนพวกพ้องที่ไปในตอนบ่ายบางคน ให้รออยู่กินอาหารเย็นในวันที่ตนเลี้ยง ใครได้ไปกินก็รู้สึกว่าตนควรจะต้องรับเวรเลี้ยงตอบแทนบ้าง จึงเกิดมีผู้รับเวรเลี้ยงมากขึ้นทุกที การที่เชิญก็เชิญขยายกว้างออกไปทุกที จนถึงเชิญเสด็จเจ้านายและเสนาบดีที่นั่งประชุม ตลอดถึงเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชด้วยเป็นที่สุด การที่เลี้ยงกันวันพุธแลวันเสาร์นั้น จึงกลายเป็นการสโมสรเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ในเวลาเมื่อเสด็จไม่อยู่ครั้งนั้น เดิมเมื่อสมาชิกยังน้อย ประชุมและเลี้ยงกันที่ลานพักข้างหน้าพระที่นั่งอภิเษกดุสิตบ้าง ในสนามหญ้าบ้าง ครั้นเข้าฤดูฝน และมีจำนวนสมาชิก (คือผู้ที่ได้มีแก่ใจรับเลี้ยง) มากขึ้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งอยู่ในตำแหน่งผู้บำรุงสโมสรนั้น จึงทรงพระดำริให้สร้างศาลาโถงทำด้วยเครื่องไม้มุงจากหลังหนึ่งที่ริมสนามหญ้า ทางฟากตรงข้ามกับพระที่นั่งอภิเษกดุสิต สำหรับเป็นที่เลี้ยง เมื่อสร้างศาลาขึ้นแล้ว เกิดมีปัญหาว่าจะเรียกชื่อศาลานั้นว่ากระไร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ทรงวานเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ซึ่งถนัดคิดชื่อแปลกๆ ให้ขนานนามศาลานั้น เจ้าพระยาภาสฯ คิดขนานนามว่า “ศาลาอันเตปุริกธุริณ” ก็เห็นชอบพร้อมกัน เพราะเข้าใจว่าเรียกยากคงจะไม่มีใครสามารถจำชื่อนั้นไว้ได้ เป็นชื่ออันสมควรแก่ศาลาซึ่งสร้างใช้แต่ชั่วคราวเดียว เมื่อรื้อตัวศาลาชื่อก็จะได้สูญไปตามกัน แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความเห็นขบขันในชื่อของศาลากลับพาให้จำได้แม่นยำ แต่มักเรียกกันโดยย่อว่า “ศาลาอันเต” คำว่า “อันเต” ก็เลยเรียกเป็นนามของสโมสรว่า “สโมสรอันเต” และเรียกประเพณีการที่ผลัดเวรกันเลี้ยงว่า “เลี้ยงอันเต” สืบมา
การเลี้ยงอันเตตอนเมื่อสร้างศาลาเสร็จแล้ว มีสมาชิกประมาณราว ๕๐ เศษ ก็การเลี้ยงนั้น ผู้ที่รับเวรเลี้ยงรับด้วยความยินดีเต็มใจมาด้วยกันทุกคน จึงเกิดคิดเพิ่มเติมด้วยประการต่างๆ นอกจากการเลี้ยงมีขึ้นเป็นลำดับมา เป็นต้นว่าในเวลาเลี้ยงให้มีแตรวงหรือปี่พาทย์มโหรีบ้าง แล้วมีพวงดอกไม้หรือสิ่งของแจกกันเป็นที่ระลึกเมื่อเวลาเลี้ยงแล้วบ้าง ทีหลังถึงพาหนังฉาย ซึ่งในสมัยนั้นพึ่งมีพวกญี่ปุ่นเอาเข้ามาตั้งโรงเล่นในกรุงเทพฯ (ตรงที่สร้างโรงหนังนาครเขษมบัดนี้ จึงเรียกกันว่า “หนังญี่ปุ่น”) มาเล่นบ้าง หาละครพูด ละครรำและการเล่นอย่างอื่นๆ มาเล่นบ้าง แต่จะได้มีใครบังคับให้จำเป็นอย่างใดนั้นก็หาไม่ หากเต็มใจทำเอง เพราะสมาชิกคนหนึ่งก็ได้มีเวรเลี้ยงเพียงครั้งหนึ่งหรือสองครั้งเป็นอย่างมาก การเลี้ยงอันเตจึงเป็นการครึกครื้นรื่นเริงทุกคราว พอแก้เงียบเหงาในเวลาเสด็จไม่อยู่ ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงพระนคร ได้ทรงทราบเรื่องก็ทรงยินดี จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้มีการเลี้ยงพระราชทานสโมสร “อันเต” เป็นการตอบแทน ดังจะกล่าวในเรื่องตอนรับเสด็จฯ ต่อไปข้างหน้า
——–
ที่มา: จดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน ตอนที่ 3 หน้า 38-40
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรวบรวม
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส 18 พฤศจิกายน 2505
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำตัวเองเป็นเพื่อนที่ดีให้โลก
: โลกก็จะมีคนเป็นเพื่อนที่ดีให้เรา
———————-
ภาพประกอบ: พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ที่กล่าวถึงในเรื่องตั้งศาลาอันเตปุริกธุริณ
#บาลีวันละคำ (3,705)
4-8-65
…………………………….
…………………………….