บาลีวันละคำ

ไตรทวาร – ทวารตรัย (บาลีวันละคำ 3,685 )

ไตรทวารทวารตรัย

ฝากไว้ในวงวรรณ

ไตรทวาร” อ่านว่า ไตฺร-ทะ-วาน

ทวารตรัย” อ่านว่า ทะ-วา-ระ-ไตฺร (ไม่ใช่ ทะ-วาน-ไตฺร)

มีคำ 3 คำ คือ “ไตร” “ทวาร” “ตรัย

(๑) “ไตร” 

ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “ติ” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำนับจำนวน แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

ในกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย“ติ” คงรูปเป็น “ติ” ก็มี แผลงเป็น “เต” ก็มี เช่น –

ติรตน (ติ-ระ-ตะ-นะ) = รัตนะสาม 

เตมาส (เต-มา-สะ) = สามเดือน 

คำที่มี “ติ” หรือ “เต” (ที่เป็นศัพท์สังขยา) นำหน้าเช่นนี้ ในภาษาไทยมักแปลงรูปเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” เช่น ตรีรัตน์ ไตรรัตน์ ตรีมาส ไตรมาส

อาจจับหลักไว้ง่ายๆ ว่า –

: ติ > ตรี 

: เต > ไตร 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คําสําหรับนําหน้าสมาสอย่างเดียว (บางทีใช้ว่า ตรี ก็ได้) เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร, แม้จะพูดไว้ท้ายคําบ้าง เช่น ผ้าไตร หอไตร ก็เพราะละท้ายสมาสเสีย คือ ผ้าไตรจีวร หอไตรปิฎก. (ส.).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เหลือเพียง –

ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คำสำหรับนำหน้าสมาส เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร. (ส.).”

(๒) “ทวาร” 

บาลีเป็น “ทฺวาร” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า ทัว-อา-ระ (เสียง ทัว- รวบกับ อา-) รากศัพท์มาจาก – 

(1) ทฺวิ (สอง) + อรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ อิ ที่ (ทฺ)-วิ แล้วทีฆะ อะ ที่ เป็น อา (ทฺวิ > ทฺว > ทฺวา)

: ทฺวิ + อรฺ = ทฺวิร + = ทฺวิร > ทฺวร > ทฺวาร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ช่องเป็นที่คนสองคนเข้าออก” (คือเข้าคนออกคน) (2) “ช่องเป็นที่เป็นไปแห่งบานสองบาน” 

(2) ทฺวิ (สอง) + อรฺ ปัจจัย ลบ อิ ที่ (ทฺ)-วิ แล้วทีฆะ อะ ที่ เป็น อา (ทฺวิ > ทฺว > ทฺวา)

: ทฺวิ + อรฺ = ทฺวิร > ทฺวร > ทฺวาร แปลตามศัพท์ว่า “ช่องเป็นที่มีกิจสองอย่าง” (คือเข้าและออก) 

(3) ทฺวรฺ (ธาตุ = ระวังรักษา) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ (ทฺ)--(ร) เป็น อา (ทฺวรฺ > ทฺวาร)

: ทฺวรฺ + = ทฺวรณ > ทฺวร > ทฺวาร แปลตามศัพท์ว่า “ช่องเป็นเครื่องระวังรักษา” 

ทฺวาร” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ประตูนอก, ทวาร, ประตู, ทางเข้าออก (an outer door, a gate, entrance) 

(2) ทวาร = ทางเข้าและทางออกของจิตใจ, กล่าวคือ อายตนะ (the doors = inlets & outlets of the mind, viz. the sense organs)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ทวาร, ทวาร– : (คำนาม) ประตู เช่น นายทวาร; ช่อง ในคํา เช่น ทวารหนัก ทวารเบา ใช้เป็นคําสุภาพ หมายถึง รูขี้ รูเยี่ยว, ทาง เช่น กายทวาร. (ป., ส.).”

(๓) “ตรัย” 

คำเดิมมาจาก “ติ” ที่แปลว่า “สาม” (จำนวน 3) โดยการแปลง “ติ” เป็น “ตย” (หรือจะว่า แปลง อิ เป็น ก็ได้) และใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส

ติ” เมื่อแปลงเป็น “ตย” ในบาลีใช้เป็น 2 รูป คือ –

1 ใช้ เป็นตัวสะกดแบบอัฒสระ เขียนเป็น “-ตฺย” (มีจุดใต้ ตฺ) เช่น “รตนตฺย” อ่านธรรมดาว่า ระ-ตะ-นัด-ตฺยะ (ตฺ กับ ควบกัน) อ่านตามเสียงบาลีเป็น ระ-ตะ-นัด-เตี๊ยะ นับเป็น 4 พยางค์

2 ซ้อน ตฺ อีกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “-ตฺตย” ( 2 ตัว มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) ตฺ ตัวหน้า (มีจุดใต้) ใช้เป็นตัวสะกดเต็มตัว ส่วน ตัวหลัง (ไม่มีจุดใต้) กับ > –ตย ออกเสียงเรียงพยางค์เป็น ตะ-ยะ (ไม่ใช่ ตฺยะ หรือ เตี๊ยะ) เช่น “รตนตฺตย” อ่านว่า ระ-ตะ-นัด-ตะ-ยะ นับเป็น 5 พยางค์

การที่มีทั้ง “-ตฺย” (ตฺ กับ ควบกัน) และ “-ตฺตย” ( 2 ตัว มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) น่าจะเป็นด้วยเหตุผลทางฉันทานุรักษ์ กล่าวคือ ตามปกติ “ติ” เมื่อแปลงเป็น “ตย” หรือแปลง อิ เป็น ก็ต้องใช้ ต้องเป็นอัฒสระ คือควบกับ = ตฺย อ่านว่า ตฺยะ (เตี๊ยะ) จำนวนพยางค์คงเป็น 1 เท่ากับ “ติ” แต่ในบางครั้งต้องการให้เป็น 2 พยางค์ตามจำนวนคำของฉันท์นั้นๆ กรณีเช่นนี้จึงซ้อน เข้ามาอีกตัวหนึ่ง เป็น “-ตฺตย” อ่านว่า ตะ-ยะ (-ตฺ ตัวหน้าเป็นตัวสะกดควบกับพยางค์ท้ายของคำหน้า) ได้ 2 พยางค์ตามต้องการ

บาลี “ตฺย” หรือ “-ตฺตย” สันสกฤตเป็น “ตฺรย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ตรัย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตรัย : (คำวิเศษณ์) สาม, หมวด ๓, ใช้ในคำสมาส เช่น รัตนตรัย. (ส.).”

การประสมคำ :

(1) ติ + ทฺวาร = ติทฺวาร แปลตามศัพท์ว่า “ทวารสาม” ใช้แบบไทยแผลงเป็น “ไตรทวาร” 

ไตรทวาร” มีใช้ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไตรทวาร : (คำนาม) ทวารทั้ง ๓ คือ กาย เรียก กายทวาร วาจา เรียก วจีทวาร ใจ เรียก มโนทวาร.”

(2) ทฺวาร + ติ > ตย 

(ก) ใช้ เป็นตัวสะกดแบบอัฒสระ > ตฺย (มีจุดใต้ ตฺ)

: ทฺวาร + ติ > ตฺย = ทฺวารตฺย 

(ข) ซ้อน ใช้ ตัวหน้าเป็นตัวสะกด > ตฺตย ( 2 ตัว มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า)

: ทฺวาร + ติ > ตฺตย = ทฺวารตฺตย 

ทฺวารตฺย” และ “ทฺวารตฺตย” แปลตามศัพท์ว่า “หมวดสามแห่งทวาร” ใช้แบบไทยแผลงเป็น “ทวารตรัย” 

ทวารตรัย” ยังไม่ได้เก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปราย :

ไตรทวาร” เทียบได้กับ “ไตรรัตน์” 

ทวารตรัย” เทียบได้กับ “รัตนตรัย

ถ้ามีทั้ง “ไตรรัตน์” และ “รัตนตรัย” 

ก็ควรจะมีทั้ง “ไตรทวาร” และ “ทวารตรัย

เวลานี้ “ไตรทวาร” มีใช้แล้ว แต่ “ทวารตรัย” ยังไม่มี

จึงขอถือโอกาสนี้พูดประโยคยอดนิยมของนักจัดรายการเพลงทางสถานีวิทยุในสมัยเมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาว่า “ฝากไว้ในอ้อมใจของมิตรรักแฟนเพลง” อีกคำหนึ่ง

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเสนอคำใหม่ๆ ที่มาจากภาษาบาลีเข้าสู่ภาษาไทยมาบ้างแล้ว อาจมีผู้สงสัยว่า จะทำไปทำไม จะมีประโยชน์อะไร-ในท่ามกลางกระแสความรู้สึกของผู้คนหลายๆ กลุ่มที่มีอาการไม่มีความสุขเมื่อได้ฟังหรือได้อ่านภาษาบาลี เช่นบ่นว่าฟังไม่รู้เรื่อง อ่านไม่ออก และผู้คนอีกส่วนหนึ่งซึ่งนับวันจะมีมากขึ้นที่ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในภาษาไทยของเราเอง

ภาษาบาลีก็ไม่เอา

ภาษาไทยของเราก็ไม่รัก

การเสนอคำแปลกๆ ที่มาจากภาษาบาลีเพื่อให้คนใช้พูดกันในภาษาไทย จะมีใครเขาใช้ ทำเช่นนั้นจะมีประโยชน์อะไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่ได้หวังว่า เสนอไปแล้วจะต้องมีคนยอมรับและเอาไปใช้พูดกัน แต่หวังเพียงได้ทำหน้าที่ของนักเรียนบาลี คือเรียนมาแล้วเห็นว่าอะไรดีก็นำมาเสนอไว้ให้เพื่อนร่วมชาติได้รับรู้ หมดหน้าที่เพียงแค่นี้ 

หากจะมีผู้นำไปพูดไปใช้ นั่นคือกำไรของภาษา ไม่มีใครรับก็ไม่ได้ขาดทุนหรือเสียอะไร เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรนอกจากใช้สติปัญญาความคิด ซึ่งก็เท่ากับเป็นการฝึกฝนตนเอง มีแต่ได้ประโยชน์

อีกประการหนึ่ง ผู้เขียนบาลีวันละคำเชื่อว่า ผู้ที่มีใจรักทางภาษาและรักภาษาของชาติตนคงไม่ได้มีแต่เราคนเดียว ต้องมีคนอื่นอีก หากคนที่มีใจเดียวกันได้มารู้มาเห็นว่ามีคนพยายามทำเช่นนี้ ก็คงจะมีกำลังใจ เหมือนได้เพื่อน ไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยวเดียวดาย และอาจเป็นแรงบันดาลใจหรือผลักดันให้คิดอ่านต่อยอดให้งานเช่นนี้งอกงามต่อไปอีกก็เป็นได้

สรุปว่า การทำงานเช่นนี้มีแต่ได้ ไม่มีเสีย

…………..

หมายเหตุ :

ช่วงสัปดาห์แรกแห่งการเข้าพรรษา พระสงฆ์ท่านทำกิจที่เรียกว่า “สามีจิกรรม” คือการขอโอกาสขออนุญาตขอขมาต่อพระเถระทั้งในวัดที่จำพรรษาและที่อยู่ต่างวัด

คำขอขมานั้นเป็นภาษาบาลี โดยปกติจะมีข้อความว่า –

เถเร ปมาเทน ทวารตฺตเยน กตํ สพฺพํ อปราธํ ขมถ เม ภนฺเต.

แปลยกศัพท์ดังนี้ –

ภนฺเต ข้าแต่ท่านผู้เจริญ

ขมถ (ตุมฺเห อันว่าท่านทั้งหลาย) จงอด (จงข่ม)

อปราธํ ซึ่งความผิด (ซึ่งความล่วงเกิน)

กตํ อัน (อันข้าพเจ้า) กระทำแล้ว

ทวารตฺตเยน โดยหมวดสามแห่งทวาร 

ปมาเทน ด้วยความประมาท

เถเร ในพระเถระ

สพฺพํ ทั้งปวง

เม แก่ข้าพเจ้า

แปลโดยอรรถว่า 

ข้าพเจ้าเคยประมาทพลาดพลั้งในพระเถระ

ด้วยกาย วาจา ใจ

ขอพระเถระได้โปรดอดโทษทั้งปวงนั้น

แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

……………….

คำว่า “ทวารตฺตเยน” ก็คือ “ทฺวารตฺตย” หรือ “ทวารตรัย” ตามที่แสดงมานี้แล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ขอขมากรรมที่ถูกวิธี

: คือเร่งทำความดี เลิกทำความชั่ว

————————————

ข้อความประกอบ จากโพสต์ของพระคุณท่าน Sunant Ruchiwet Phramaha

#บาลีวันละคำ (3,685)

15-7-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *