บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พระอุ้มเด็กหญิง

พระอุ้มเด็กหญิง

—————–

พระรูปหนึ่งมาที่บ้านโยมคุ้นเคย บ้านนั้นมีเด็กหญิงเพิ่งเดินได้เตาะแตะ พระอุ้มเด็กหญิงคนนั้นด้วยความเอ็นดู และทำเช่นนั้นทุกครั้งที่มาที่บ้านโยมคนนั้น

ไม่มีใครในบ้านนั้นเห็นเป็นเรื่องผิดปกติ

วันหนึ่งมีผู้ทักขึ้นว่า พระจับต้องกายหญิงเป็นอาบัติ

พระแย้งว่า ไม่เป็นอาบัติ เพราะจับต้องกายเด็ก ไม่ใช่หญิงสาว และท่านอ้างว่าท่านไม่ได้มีความกำหนัด ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องกายหญิงจึงจะเป็นอาบัติ

……………….

ผมว่าเรื่องแบบนี้คนสมัยนี้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้ศึกษา

ชาวบ้านเมื่อร้อยปีที่แล้ว รู้กันทั่วไปว่าพระมีศีล ๒๒๗ ข้อ-รู้ถึงขนาดเอามาร้องเล่นเป็นเพลง

ชาวบ้านสมัยนี้ ถามว่าพระมีศีลกี่ข้อ ทำหน้าเหลอ

“ทำหน้าเหลอ” – นี่เป็นคำไทยนะครับ เด็กไทยวันนี้น่าจะไม่รู้จักกันแล้ว-อย่าว่าถึงจะรู้ว่าพระมีศีลกี่ข้อนั่นเลย

………………………………………..

เหลอ

  [เหฺลอ] ว. ทำหน้าเซ่อ ๆ ทำนองว่าไม่รู้เรื่อง เช่น ทำหน้าเหลอ.

………………………………………..

“เหลอ” ไม่ได้อ่านว่า เห-ลอ แต่อ่านอย่างมี ห นำ แบบเดียวกับคำว่า “เหรอ” ที่เพี้ยนมาจาก “หรือ” มีคนคะนองเอาไปเขียนเป็น “หรอ” – เขียนด้วยความคะนองเล่น แต่วันนี้คนไทยพูดและเขียนคำว่า “หรือ” เป็น “หรอ” ไปทั่วบ้านบ้านทั่วเมือง แล้วก็ลากต่อไปเป็น “หรา”

เดิม-ไม่ใช่หรือ

แล้วกลายเป็น -ไม่ใช่เหรอ

แล้วคะนองเป็น-ไม่ใช่หรอ

แล้วลากไปเป็น-ไม่ใช่หรา

ภาษาไทยเรานี้ดีแท้ๆ ไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องเรียนรู้ นึกอยากจะพูดอย่างไร เขียนอย่างไร สะกดอย่างไร ว่ากันตามสบาย

แล้วก็มีคนออกมาแก้ตัวให้ว่า-ภาษายังมีชีวิตอยู่ มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จะมาห้ามไม่ให้เปลี่ยนไม่ได้หรอก ผิดหลักสัจธรรม

………………………………………..

เมื่อท่านอ้างสัจธรรม ก็ควรเข้าใจว่า หลักสัจธรรมข้อหนึ่งก็คือภาษามันเปลี่ยนตัวเองไม่ได้ คนต่างหากที่เป็นคนเปลี่ยน จะเปลี่ยนให้งามหรือจะเปลี่ยนให้ทรามขึ้นอยู่กับว่าคนได้รับการศึกษาอบรมเรียนรู้มาหรือเปล่าว่า-อย่างไรงาม อย่างไรทราม 

และหลักสัจธรรมอีกข้อหนึ่งคือ-คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถฝึกหัดอบรมสั่งสอนกันได้เพื่อให้รู้ว่าอะไรงามอะไรทราม

………………………………………..

กลับมาที่-ทุกวันนี้เราใช้ภาษากันตามสบาย เหมือนหลักพระธรรมวินัย ไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องเรียนรู้ นึกอยากทำอย่างไร ว่ากันตามสบาย

ถามว่า พระจับต้องตัวเด็กผู้หญิง เป็นอาบัติหรือไม่?

พระที่อุ้มเด็กท่านยืนยันว่า ไม่เป็นอาบัติ เหตุผลคือ-เพราะผู้หญิงนั้นยังเป็นเด็กอยู่ แต่ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ท่านไม่ได้มีความกำหนัด 

ตามหลักพระวินัย พระจับต้องกายหญิงจะเป็นอาบัติก็ต่อเมื่อมีความกำหนัด ถ้าไม่มีความกำหนัดก็ไม่เป็นอาบัติ-พระอุ้มเด็กท่านว่าอย่างนั้น

………………………………………..

คงเป็นทำนองเดียวกับ-ภิกษุเจ้าสำนักแห่งหนึ่งจับมือกับแหม่ม ท่านบอกว่าท่านไม่ได้มีความกำหนัด ท่านจับตามวัฒนธรรมของชาวตะวันตก เพราะฉะนั้นก็ไม่เป็นอาบัติ

………………………………………..

การที่พระอุ้มเด็กอ้างเช่นนั้น แสดงว่าท่านก็รู้หลักพระธรรมวินัย แต่ท่านรู้ไม่หมด

หลักพระธรรมวินัยข้อนี้ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก และพระสงฆ์ประชุมกันทบทวนฟังทุกกึ่งเดือน มีข้อความดังนี้ –

………………………………………..

โย  ปน  ภิกฺขุ  โอติณฺโณ  วิปริณเตน  จิตฺเตน  มาตุคาเมน  สทฺธึ  กายสํสคฺคํ  สมาปชฺเชยฺย  หตฺถคาหํ  วา  เวณิคาหํ  วา  อญฺญตรสฺส  วา  อญฺญตรสฺส  วา  องฺคสฺส  ปรามสนํ  สงฺฆาทิเสโส.

ที่มา: เตรสกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๓๗๗

………………………………………..

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงแปลไว้ว่า –

………………………………………..

อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม คือจับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส

………………………………………..

หนังสือ นวโกวาท พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลไว้ว่า –

………………………………………..

ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส

………………………………………..

“สังฆาทิเสส” เป็นชื่ออาบัติ (คือความผิดที่พระทำลงไป) หนักรองลงมาจาก “ปาราชิก” ปาราชิกมี ๔ ข้อ ทำเข้าแล้วขาดจากความเป็นพระทันที สังฆาทิเสสมี ๑๓ ข้อ ทำเข้าแล้วยังไม่ขาดจากความเป็นพระ แต่ต้องไปผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “เข้ากรรม” จึงจะกลับเป็นพระที่บริสุทธิ์ได้เหมือนเดิม

คำว่า “หญิง” ในสิกขาบทนี้ บาลีใช้คำว่า “มาตุคาม” ในพระไตรปิฎกจำกัดความคำว่า “มาตุคาม” ไว้ดังนี้ –

………………………………………..

มาตุคาโม  นาม  มนุสฺสิตฺถี  น  ยกฺขี  น  เปตี  น  ติรจฺฉานคตา  อนฺตมโส  ตทหุชาตาปิ  ทาริกา  ปเคว  มหนฺตตรี.

ที่มา: เตรสกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๓๗๘

………………………………………..

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงแปลไว้ว่า –

………………………………………..

ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่หญิงมนุษย์ ไม่ใช่หญิงยักษ์ ไม่ใช่หญิงเปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย โดยที่สุดแม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น ไม่ต้องพูดหญิงผู้ใหญ่

………………………………………..

แม้เงื่อนไขการต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะขึ้นอยู่กับความกำหนัด (คือเกิดอารมณ์ทางเพศ) แต่ความกำหนัดเป็นอาการภายใน พิสูจน์ทราบได้ยาก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหายุ่งยาก พระไทยจึงมีมาตรการเข้มงวดหลีกเลี่ยงผู้หญิงโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ เป็นการปฏิบัติตามพระพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตรที่ตรัสแก่พระอานนท์ถึงวิธีปฏิบัติต่อมาตุคามเป็นหลักการใหญ่ ดังนี้ 

………………………………………..

กถํ  มยํ  ภนฺเต  มาตุคาเม  ปฏิปชฺชามาติ  ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์จะปฏิบัติในมาตุคามอย่างไร

อทสฺสนํ  อานนฺทาติ  ฯ

ไม่มอง อานนท์

ทสฺสเน  ภควา  สติ  กถํ  ปฏิปชฺชิตพฺพนฺติ  ฯ

เมื่อต้องมอง จะพึงปฏิบัติอย่างไร

อนาลาโป  อานนฺทาติ  ฯ

ไม่พูดด้วย อานนท์

อาลปนฺเต  ภนฺเต  กถํ ปฏิปชฺชิตพฺพนฺติ  ฯ

เมื่อต้องพูด จะพึงปฏิบัติอย่างไร

สติ อานนฺท  อุปฏฺฐาเปตพฺพาติ  ฯ

ตั้งสติไว้ อานนท์

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๓๒

………………………………………..

มาตรการหลีกเลี่ยงผู้หญิงอนุวัติตามพระพุทธพจน์นี้ พูดให้เห็นภาพว่า-หลบได้หลบ หลีกได้หลีก เอ็งมาซ้าย ข้าไปขวา เอ็งมาหน้า ข้าไปหลัง

จำเป็นจริงๆ ก็มีฉนวนกันไฟฟ้าลัดวงจร-เช่น พระไทยไม่รับของจากมือสตรีโดยตรง ต้องมีผ้ารองรับ

องค์แห่งการประเคนในพระวินัย กำหนดว่า รับประคนด้วยกายก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้

นานมาแล้ว เคยได้ยินพระไทยพูดด้วยความคะนองว่า-รับจากมือไปเลย ไม่ผิด ดูแต่พระพม่าเขายังรับจากมือได้เลย

ฟังแล้วคันปาก ถวายคำแนะนำอยู่ในใจว่า-นิมนต์ไปบวชใหม่ที่พม่าเถอะขอรับ

แต่ที่ถวายไปจริงๆ คือ-เมื่อยังอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ต้องปฏิบัติตามจารีตไทยขอรับ

……………….

สรุปเป็นหลักปฏิบัติก็คือ การถูกตัวผู้หญิง พระไทยป้องกันตัวกันเต็มที่ และในเมื่อท่านจำกัดความ “ผู้หญิง” ไว้ว่า “โดยที่สุดแม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น” ดังนั้น จะเป็นเด็กหรือเป็นคนใหญ่ จะกำหนัดหรือไม่กำหนัด หลีกเลี่ยงไว้ก่อนดีที่สุด

และอีกประการหนึ่ง หลักเรื่องวัตถุอนามาส-คือสิ่งที่พระไม่ควรจับต้อง ท่านก็ระบุไว้ชัดว่า –

………………………………………..

น  เกวลญฺจ  มาตุคามสฺส  สรีรเมว  อนามาสํ  นิวาสนปารุปนมฺปิ  อาภรณภณฺฑมฺปิ  …   อนามาสเมว  ฯ

มิใช่แต่ร่างกายของมาตุคามอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นอนามาส แม้ผ้านุ่งผ้าห่มก็ดี สิ่งของเครื่องประดับก็ดี (ของมาตุคาม) … ก็เป็นอนามาสทั้งนั้น

ที่มา: สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ภาค ๒ หน้า ๓๘

………………………………………..

สรุปเป็นคำขาดว่า ต่อให้เป็นเด็กที่เพิ่งคลอดวันนั้นก็อุ้มไม่ได้ครับ

……………….

หลักพระวินัยในพระไตรปิฎกนั้นต้นฉบับเป็นภาษาบาลี เพราะฉะนั้น คงเข้าใจนะครับว่า เป้าหมายที่ถูกต้องของการเรียนบาลีนั้นคือเพื่ออะไร

ที่น่าปวดใจก็คือ พระที่อุ้มเด็กหญิงนั้นท่านไม่ได้เรียนบาลีเลย แต่ท่านอ้างวินัย (ผิดๆ) ได้ฉอดๆ

พระเณรที่เรียนบาลีเงียบเป็นเป่า-อะไรก็ไม่รู้

กราบขอร้องวิงวอน เรียนบาลีเพื่อช่วยรักษาพระศาสนากันมั่งเถอะขอรับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๗:๕๔

…………………………………………….

พระอุ้มเด็กหญิง

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *