ทีฆทัสสี (บาลีวันละคำ 3,701 )
ทีฆทัสสี
ฝากคำดีๆ ไว้อีกคำหนึ่ง
อ่านว่า ที-คะ-ทัด-สี
ประกอบด้วยคำว่า ทีฆ + ทัสสี
(๑) “ทีฆ”
บาลีอ่านว่า ที-คะ รากศัพท์มาจาก ทุ (ธาตุ = ไป) + ฆ ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ทุ เป็น อี (ทุ > ที)
: ทุ + ฆ = ทุฆ > ทีฆ แปลตามศัพท์ว่า “ระยะที่เป็นไปด้วยเสียงที่ไกล”
“ทีฆ” ในบาลี ถ้าเป็นคุณศัพท์ แปลว่า ยาว (long) ถ้าเป็นคำนาม แปลว่า งู (a snake)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทีฆ– : (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำวิเศษณ์) ยาว, นาน, ยั่งยืน. (ป.; ส. ทีรฺฆ).”
“ทีฆ” ที่เราคุ้นกันดี ก็คือคำว่า “ทีฆายุโก” หรือ “ทีฆายุกา” ในคำถวายถวายพระพร
โปรดสังเกตและใส่ใจไว้ว่า “ทีฆ” ที– ท ทหาร ไม่ใช่ ฑี– ฑ มณโฑ
กรุณาอย่ารับข้อมูลเก่า ใครที่เคยติดตาติดมือผิดๆ โปรดลบข้อมูลเก่าทิ้งไป
…………..
“ทีฆ” –
ที– ท ทหาร
ไม่ใช่ ฑี– ฑ มณโฑ
…………..
(๒) “ทัสสี”
เขียนแบบบาลีเป็น “ทสฺสี” อ่านว่า ทัด-สี รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = ดู, เห็น; แสดง, ชี้แจง; ให้รู้, บอก) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส
: ทิสฺ > ทสฺสฺ + ณี > อี : ทสฺสฺ + อี = ทสฺสี (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติเห็น-” “ผู้มีปกติแสดง-” “ผู้มีปกติบอกให้รู้”
“ทสฺสี” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เห็น, พบ, ประจักษ์, สังเกตหรือกำหนดรู้ (seeing, finding, realizing, perceiving)
ศัพท์ว่า “ทสฺสี” นี้ ปกติใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส คือมีคำอื่นอยู่หน้าเสมอ เช่น “อตฺถทสฺสี” (อัด-ถะ-ทัด-สี) = ผู้เห็นประโยชน์, ผู้แสดงประโยชน์ “ธมฺมทสฺสี” (ทำ-มะ-ทัด-สี) = ผู้เห็นธรรม, ผู้แสดงธรรม
ทีฆ + ทสฺสี = ทีฆทสฺสี (ที-คะ-ทัด-สี) แปลว่า “ผู้เห็นเหตุการณ์ในที่ หรือ “ผู้เห็นการณ์ไกล” หมายถึง มีสายตายาว, เห็นไกล (far-seeing)
“ทีฆทสฺสี” มีคำขยายความว่า “สพฺพทสฺสาวี” (สับ-พะ-ทัด-สา-วี) แปลว่า “ผู้มองเห็นถ้วนทั่ว” ทั้งใกล้ทั้งไกล ทั้งสั้นทั้งยาว มองเห็นหมด คือมองเห็นรอบตัว หมายถึงคนที่คิดอะไรรอบคอบครบถ้วน ไม่หลงลืมหรือมองข้ามอะไรไปเลย
คำขยายความอีกคำหนึ่งคือ “อนาคตกาลทสฺสี” (อะ-นา-คะ-ตะ-กา-ละ-ทัด-สี) แปลว่า “ผู้เห็นเหตุการณ์ในอนาคตกาล” คือ ผู้ที่เห็นสภาพการณ์ในปัจจุบันแล้วสามารถประเมินได้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น
บาลี “ทีฆทสฺสี” สันสกฤตเป็น “ทีรฺฆทรฺศิน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ทีรฺฆทรฺศิน : (คำวิเศษณ์) ‘ทีรฆทรรศิน,’ เห็นเหตุไกล, เห็นการณ์ล่วงหน้า, มีปัญญาปราชญ์; far-seeing, provident, wise or learned; – (คำนาม) นรผู้ฉลาดหรือคงแก่เรียน; ผู้เห็น; ปราชญ์; แร้ง; ถั่ว; a wise or learned man; a seer; a prophet; a vulture; a bean.”
“ทีฆทสฺสี” น่าจะตรงกับความหมายที่พูดกันว่า “มีวิสัยทัศน์” หรือ “มีวิสัยทัศน์กว้างไกล”
อภิปราย :
“ทีรฺฆทรฺศิน” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ให้ตัวอย่างรูปคำไทยไว้ว่า “ทีรฆทรรศิน” อ่านว่า ที-ระ-คะ-ทัด-สิน
เทียบกับบาลี “ทีฆทสฺสี” เขียนแบบคำไทยเป็น “ทีฆทัสสี” อ่านว่า ที-คะ-ทัด-สี หรือเขียนแบบครึ่งบาลีครึ่งสันสกฤตเป็น “ทีฆทรรศิน” อ่านว่า ที-คะ-ทัด-สิน อ่านง่ายกว่า คำนี้รูปงาม ความหมายดี
ทั้ง “ทีฆทัสสี” และ “ทีฆทรรศิน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขอฝากไว้ “ในอ้อมใจของมิตรรักแฟนเพลง” อีกคำหนึ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความเสื่อมโทรมของพระศาสนา
ถ้าช่วยกันรักษาก็หาย
: แต่ถ้าช่วยกันนิ่งดูดาย
พระศาสนาก็จะตายไปต่อหน้าต่อตา
#บาลีวันละคำ (3,701)
31-7-65
…………………………….
…………………………….