บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ผู้ไม่ยอมละลายตัวเอง

ผู้ไม่ยอมละลายตัวเอง

———————-

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ มีคนโพสต์เกี่ยวกับความสำคัญของภาษาไทยกันคึกคัก แต่พอถึงวันนี้ก็ไม่มีใครพูดถึงความสำคัญของภาษาไทยอีกแล้ว 

อันนี้เป็นเรื่องปกติของค่านิยมสังคมไทยสมัยนี้ที่แสดงออกผ่านสื่อสารสาธารณะ คือ สนใจเรื่องอะไรก็เฉพาะเมื่อถึงวันที่กำหนดให้เป็นวันสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนั้น พ้นวันนั้นไปแล้วก็เลิกสนใจ

วันนั้น (๒๙ กรกฎาคม) ผมเขียนเรื่อง “จากแนวคิดเลิกใช้เลขไทย ต่อไปก็-เลิกใช้ภาษาไทย”

……………………………………………..

จากแนวคิดเลิกใช้เลขไทย 

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid02uxxZNfeP8i47GJJ98EaWQK99k45rMedfygc2aFhrm1CEQ36bKLf3HPtUQvMtwacol

……………………………………………..

เมื่อวาน (๓๐ กรกฎาคม) ผมเขียนเรื่อง “ตัวโรมัน”

……………………………………………

ตัวโรมัน

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid033nQ8DNwjZiromUU4Rn6TinELmhpAeS9jappkWQPvkSn3ryXTsuaP85svvmwrMw6al

……………………………………………

ก็ยังพัวพันอยู่กับความสำคัญของภาษาไทย-ประเด็นขอให้เลิกใช้เลขไทยในเอกสารของทางราชการเพราะกลไกระบบดิจิตอลไม่อ่านเลขไทย

เรื่องแนวคิดให้เลิกใช้เลขไทยในเอกสารของทางราชการยังมีเรื่องชวนคิดต่อไปอีก

เรารับระบบดิจิตอลเอามาใช้ แล้วเราก็ยอมทำตามระบบที่ออกแบบตามวัฒนธรรมของคนออกแบบ เช่นเคยใช้เลขไทยก็ต้องเลิกใช้เป็นต้น

เป็นวิธีที่ผมเรียกว่า ยอมละลายตัวเองเพื่อให้เข้ากับระบบ

ผมมีเรื่องที่ตรงกันข้าม นั่นคือ เรื่องของคนกล้าที่จะแก้ไขระบบเพื่อดำรงหลักการของตัวเอง-ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงว่า แน่ใจ มั่นใจ และมีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ว่าหลักการของตนเองนั้นถูกต้องและจำเป็นต้องดำรงไว้

โปรดสดับ

เรื่องที่หนึ่ง: เป็นเรื่องจริง ผมอยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์โดยตลอด

ท่านอาจารย์อำนวย สุขุมานันท์ (พระมหาอำนวย อุตฺตโม) แห่งสำนักวัดพระยาทำ สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ อายุ ๔๖ ผมสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ปีเดียวกับท่าน เรียกได้ว่าเป็น “เพื่อนร่วมรุ่น”

ต่อมา ท่านอาจารย์อำนวยลาสิกขา สมัครเข้าทำงานที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ เพื่อการค้นคว้าและเผยแผ่ทางพระพุทธศาสนา เวลานั้นสำนักงานตั้งอยู่ที่ตึกสมเด็จ วัดสระเกศ 

มูลนิธิภูมิพโลภิกขุเป็นมูลนิธิเอกชน ผู้บริหารเป็นนักเรียนอังกฤษ จึงใช้ระบบฝรั่งในการบริหารงาน เข้างานตรงเวลา พักงานตรงเวลา เลิกงานตรงเวลา เป๊ะๆ เวลางานคือเวลาทำงาน ไม่ใช่เวลาคุยหรือเวลาอ่านหนังสือพิมพ์ เวลาพักคือเวลาพักงาน ไม่ใช่เวลาทำงาน

เมื่อผมลาสิกขา ก็ไปสมัครทำงานที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ จึงได้เจอกับท่านอาจารย์อำนวยที่นั่น

ผมสังเกตเห็นว่า วันทำงานวันไหนที่ตรงกับวันพระ ท่านอาจารย์อำนวยจะออกจากที่ทำงานในเวลาประมาณ ๑๑:๐๐ น. หายไปพักหนึ่งจึงกลับ

เวลา ๑๑:๐๐ น. เป็นเวลาทำงานของมูลนิธิที่ผู้บริหารใช้ระบบฝรั่งตรงเวลาเป๊ะๆ แล้วท่านอาจารย์อำนวยออกจากที่ทำงานในเวลางานได้อย่างไร?

เมื่อผมเลียบเคียงถาม ท่านอาจารย์อำนวยอธิบายว่า ท่านถืออุโบสถศีลทุกวันพระ ท่านขอต่อรองกับผู้บริหารมูลนิธิว่า วันทำงานที่ตรงกับวันพระ ท่านจะขออนุญาตออกไปรับประทานอาหารกลางวันในเวลา ๑๑:๐๐ น. และจะกลับเข้ามาทำงานชดเชยตั้งแต่เวลา ๑๒:๐๐ น. ไปจนถึง ๑๓:๐๐ น. เข้าเวลางานตามปกติ

ผู้บริหารมูลนิธิซึ่งเป็นนักเรียนอังกฤษใช้ระบบฝรั่งตรงเวลาเป๊ะๆ ฟังเหตุผล โดยเฉพาะหลักการถืออุโบสถศีลที่ไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว เข้าใจ และยอมตามข้อต่อรองของท่านอาจารย์อำนวย

…………………

เรื่องที่สอง: เป็นเรื่องจริงของท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ผมไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่อ่านจากข้อเขียนของท่าน

ท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก (ถึงแก่กรรม ๖ เมษายน ๒๕๖๕ พระราชทานเพลิงศพ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ณ เมรุวัดสระเกศ) เป็นศิษย์สำนักวัดทองนพคุณ ท่านเป็นสามเณรประโยค ๙ รูปแรกในสมัยรัชกาลที่ ๙ สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓

ท่านอาจารย์เสถียรพงษ์เขียนเล่าไว้ว่า สมัยที่ท่านเป็นพระไปเรียนต่อที่ Trinity College, Cambridge University ประเทศอังกฤษ ท่านร้องขอกับมหาวิทยาลัยว่า

๑ เวลาอาหารกลางวันของทุกวัน ท่านขอฉันอาหารในระหว่างเวลา ๑๑:๐๐ ไม่เกินเวลา ๑๒:๐๐ น.

๒ อาหารที่ท่านฉันทุกมื้อจะต้องมีผู้ยกส่งให้ถึงมือ (ประเคน) 

มหาวิทยาลัยฟังคำอธิบายหลักการของท่าน-ซึ่งก็คือหลักพระธรรมวินัยว่าด้วยการฉันอาหารของภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาทแล้ว ยอมตามที่ท่านร้องขอ

…………………

เรื่องที่สาม: เป็นเรื่องในจินตนาการของผม เรื่องยังไม่เกิด แต่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้แน่ในอนาคต

เรื่องก็คือ การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับสังคมที่เป็นกิจกรรมระดับสากล มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากนานาชาติ พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทเช่นพระสงฆ์ไทยเรามีโอกาสที่จะ “ได้รับเชิญ” ให้เข้าร่วมกิจกรรมอยู่เนืองๆ

กิจกรรมที่เป็นสากลย่อมมีกำหนดการที่เป็นสากล เช่นกิจกรรมเริ่มในภาคเช้า หยุดพักรับประทานอาหารกลางวันเวลา ๑๒:๐๐ น. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั่งโต๊ะรับประทานอาหารร่วมกัน

พระสงฆ์ไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมก็นั่งโต๊ะ “รับประทานอาหาร” ในเวลา ๑๒:๐๐ น. ร่วมกับฆราวาสอื่นๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม อันเป็นการปฏิบัติที่เป็นสากลที่สุด

พระสงฆ์ไทยอธิบายว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมเขาได้

มีผู้เสริมว่า บาทหลวงเขายังกินข้าวกับชาวบ้านได้ พระเราก็ควรทำได้เช่นกัน

มีผู้เสริมต่อไปอีกว่า บาทหลวงเขายังดื่มไวน์ได้ พระเราก็ควรทำได้เช่นกัน

ถ้าฟังผู้เสริมรายต่อไป ก็จะได้ยินเขาพูดว่า บาทหลวงนิกาย…เขามีภรรยาได้ …

ฟังแล้วท่านคิดอย่างไร?

…………………

เราควรยอมละลายตัวเองเพื่อให้เข้ากับสังคมได้

หรือว่าควรทิ้งสังคมเพื่อรักษาหลักการที่ถูกต้องของตัวเองไว้

หรือว่า-มีวิธีอยู่กับสังคมและทำงานช่วยสังคมได้ด้วย

พร้อมๆ ไปกับ-สามารถรักษาหลักการที่ถูกต้องของตัวเองไว้ได้ด้วย

เรื่องที่สามนั้นไม่ใช่เรื่องสมมุติเกินความจริง เวลานี้เราก็เริ่มเห็นกันประปรายบ้างแล้ว-พระสงฆ์เข้าร่วมกิจกรรมระดับสากล แล้วก็ทำอะไรๆ แบบเดียวกับที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขาทำกัน

เวลานี้ก็ยังพอยอมรับได้ว่าเรื่องที่ทำนั้น “ไม่ใช่เรื่องเสียหาย” 

แต่ในอนาคต ทุกเรื่องที่ทำลงไปเราจะได้ยินคำอธิบายว่า “ไม่ใช่เรื่องเสียหาย” ทั้งหมด

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขาดื่มไวน์ พระสงฆ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรม (ในอนาคต) ก็ดื่มไวน์ไปกับเขาด้วย แล้วอธิบายกันว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคม

…………………

ท่านที่มีใจรักและห่วงพระศาสนา และโดยเฉพาะท่านที่คิดว่าบรรพบุรุษฉลาดน้อยกว่าท่าน ลองช่วยกันคิดดูนะครับ

อย่ารอให้คนในอนาคตเขาคิดหาวิธีกันเองเลย 

เพราะโรคร้ายหลายๆ โรค พอรู้ว่าป่วย ก็รักษาไม่ทันเสียแล้ว

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๐:๔๗

……………………………………………

ผู้ไม่ยอมละลายตัวเอง

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *