คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส (๓)
คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส (๓)
————————–
ปัญหาก็คือ –
พระไม่ได้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะอยู่ปริวาสได้หรือไม่
ที่จัดกิจกรรมอยู่ปริวาสกันที่นั่นที่โน่น เป็นการอยู่ปริวาสที่ถูกต้องหรือไม่
ชาวบ้านไปร่วมอยู่ปริวาสด้วยได้หรือไม่
………
อรรถกถา อัคคัญญสูตร (สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ ฉบับเรียนพระไตรปิฎก หน้า ๗๑) มีข้อความตอนหนึ่งว่า –
………………………………
ภิกฺขูสุ ปริวสนฺตีติ เตเนว ติตฺถิยปริวาสํ วสนฺติ น อาปตฺติปริวาสํ. อปริปุณฺณวสฺสตฺตา ปน ภิกฺขุภาวํ ปฏฺฐยมานา วสนฺติ.
แปลว่า –
สองบทว่า ภิกฺขูสุ ปริวสนฺติ ความว่า สามเณรทั้งสองนั้น (คือสามเณรวาเสฏฐะ และสามเณรภารทวาชะ) อยู่ติตถิยปริวาส (ปริวาสสำหรับเดียรถีย์) หาใช่อยู่อาปัตติปริวาส (ปริวาสเพื่อพ้นอาบัติ) ไม่ เพราะมีอายุยังไม่บริบูรณ์ สามเณรทั้งสองจึงอยู่ (ปริวาส เพราะ) ปรารถนาความเป็นภิกษุ ( = อยู่ปริวาสเพื่อรอบวช)
………………………………
ตามอรรถกถาที่อ้างนี้ ท่านเอ่ยถึงปริวาส ๒ อย่าง คือ ติตฺถิยปริวาส และ อาปตฺติปริวาส
ติตฺถิยปริวาส แปลว่า “ปริวาสสำหรับเดียรถีย์” หมายถึงผู้ที่นับถือศาสนาอื่นมาก่อน (สามเณรวาเสฏฐะและสามเณรภารทวาชะเคยบวชเป็นปริพาชกมาก่อน) หากจะเข้ามาบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา จะต้อง “อยู่ปริวาส” ก่อน ตามเวลาที่กำหนดไว้ ที่รู้กันก็คือ ๔ เดือน ความมุ่งหมายก็เพื่อจะดูความประพฤติหรือ “วัดใจ” ว่าการที่เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนานั้นมีความตั้งใจจริงแค่ไหนนั่นเอง
ส่วน อาปตฺติปริวาส แปลว่า “ปริวาสเพื่อพ้นอาบัติ” นี่ก็คือปริวาสที่กำลังพูดถึง
กล่าวอีกนัยหนึ่ง เหตุที่จะทำให้ต้องอยู่ปริวาสมี ๒ อย่างเท่านั้น คือ
๑ คนนอกศาสนาจะขอมาบวชเป็นพระ ต้องอยู่ปริวาสก่อน ๔ เดือน
๒ พระต้องอาบัติสังฆาทิเสสและปิดเรื่องไว้ ต้องอยู่ปริวาสเท่าจำนวนวันที่ปิดไว้
นอกจากสาเหตุดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่มีพุทธบัญญัติให้พระต้องอยู่ปริวาส
ในคัมภีร์มีคำว่า “ปริวาส” ที่น่าสนใจอยู่อีกคำหนึ่ง คือ “วิปัสสนาปริวาส” ขอยกมา ๒ แห่งดังนี้ –
………………………………
อถสฺสา อุตฺตรึ ติณฺณํ มคฺคผลานํ วิปสฺสนาปริวาสตฺถาย สตฺถา สุญฺญตกมฺมฏฺฐานํ กเถตุํ นนฺเท มา อิมสฺมึ สรีเร สาโร อตฺถีติ สญฺญํ กริ อปฺปมตฺตโกปิ หิ เอตฺถ สาโร นตฺถิ ตีณิ อฏฺฐิสตานิ อุสฺสาเปตฺวา กตํ อฏฺฐีนํ นครเมตนฺติ วตฺวา อิมํ คาถมาห …
แปลว่า
ลำดับนั้น เพื่อจะตรัสสุญญตกรรมฐานเพื่อต้องการอบรมวิปัสสนาเพื่อมรรคผลทั้ง ๓ ยิ่งขึ้นไปแก่พระนาง (นันทา) พระศาสดาจึงตรัสว่า “นันทา เธออย่าทำความเข้าใจว่า ‘สาระในสรีระนี้มีอยู่’ เพราะสาระในสรีระนี้แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่มี, สรีระนี้อันกรรมยกกระดูก ๓๐๐ ท่อนขึ้นสร้างให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย” ดังนี้แล้วตรัสพระคาถานี้ …
(รูปนันทาเถรีวัตถุ (๑๒๒) ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕ หน้า ๑๐๖)
………………………………
คำว่า วิปสฺสนาปริวาสตฺถาย (วิปสฺสนาปริวาส + อตฺถาย) ท่านแปลว่า “เพื่อต้องการอบรมวิปัสสนา”
อีกแห่งหนึ่ง ข้อความเป็นดังนี้ –
………………………………
กิเลเส ปน วิกฺขมฺเภตฺวา วิปสฺสนาปริวาสํ มคฺคปาตุภาวํ สณิกํ กุรุมานา
แปลว่า
แต่ครั้นข่มกิเลสได้แล้ว ค่อยๆ ทำการบ่มวิปัสสนาไปให้มรรคปรากฏ
(วิสุทธิมรรค ภาค ๓ หน้า ๓๑๔ – ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทส
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ หน้า ๑๙๗)
………………………………
คำว่า วิปสฺสนาปริวาสํ ท่านแปลว่า “การบ่มวิปัสสนา”
คำว่า “วิปสฺสนาปริวาส” ดูเผินๆ เหมือนจะเข้าชุดกับ “ติตฺถิยปริวาส” และ “อาปตฺติปริวาส”
“ติตฺถิยปริวาส” แปลว่า ปริวาสสำหรับเดียรถีย์
“อาปตฺติปริวาส” แปลว่า ปริวาสเพื่อพ้นอาบัติ
“วิปสฺสนาปริวาส” ก็น่าจะแปลว่า ปริวาสเพื่อวิปัสสนา คืออยู่ปริวาสเพื่อเจริญวิปัสสนา
หมายความว่า ที่จัดให้มีกิจกรรมบุญปริวาสกันนั้นก็คือ วิปัสสนาปริวาส ตัวนี้เอง ไม่ใช่อยู่ปริวาสเพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสสอย่างที่ยกขึ้นมาตั้งข้อสงสัย เพราะฉะนั้น พระสงฆ์หรือชาวบ้านจึงสามารถเข้าร่วมกิจกรรมบุญปริวาสได้ เพราะเป็นปริวาสเพื่อปฏิบัติธรรม
แต่ – ภาษาบาลีจะดูกันแค่ศัพท์ไม่ได้ ต้องดูไปที่เรื่องราวด้วย
ตามเรื่องที่ยกมานี้ “วิปสฺสนาปริวาส” ไม่มีอะไรเกี่ยวกับ “การอยู่ปริวาส” ตามความหมายที่กำลังพูดกันอยู่นี้เลย
“วิปสฺสนาปริวาส” แปลว่า “การอบรมวิปัสสนา” หรือ “การบ่มวิปัสสนา” หมายถึงการอบรมจิตให้เข้าถึงภาวะแห่งวิปัสสนา
“ปริวาส” ในคำว่า “วิปสฺสนาปริวาส” ไม่ได้แปลว่า “อยู่ปริวาส”
วิปัสสนาปริวาส จึงเป็นอาการของจิตที่เกิดขึ้นในกระบวนการบำเพ็ญจิตภาวนาหรือเจริญพระกรรมฐาน
ไม่ได้เกี่ยวกับการอยู่ปริวาสหรือไม่อยู่ปริวาสแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ใครอยากเจริญวิปัสสนาก็ปฏิบัติอบรมจิตของตนไป ไม่ต้องไป “อยู่ปริวาส” กันที่ไหนเลยก็ปฏิบัติได้
ถ้าดูเหตุผลของนักอยู่ปริวาสก็จะยิ่งเห็นชัดว่า อ้างเป็น “วิปัสสนาปริวาส” ไม่ได้เลย เพราะท่านให้เหตุผลว่า อยู่ปริวาสเพื่อศีลจะได้บริสุทธิ์ ซึ่งนั่นก็คือ อาปัตติปริวาส – ปริวาสเพื่อพ้นอาบัติ นั่นเอง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “ปริวาส” เป็นภาษาอังกฤษคำหนึ่งว่า living under probation
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า probation ว่า การทดลองดูความสามารถ, เพื่อทดลอง, พิสูจน์
และมีคำว่า probationer มีคำแปลว่า “นักโทษในระหว่างทดลองความประพฤติ ก่อนได้ปล่อย”
จะเห็นได้ว่า การอยู่ปริวาสนั้นแท้จริงแล้วเป็นมาตรการลงโทษภิกษุที่ทำความผิดในขั้นร้ายแรง คือต้องอาบัติสังฆาทิเสสนั่นเอง
และการจะอยู่ปริวาสก็มีเงื่อนไขแน่นอน คือ –
๑ ต้องปรากฏอย่างแน่ชัดแล้วว่าภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส และ
๒ ภิกษุนั้นรู้อยู่แล้วว่าตนต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่จงใจปกปิดไว้หรือมีพฤติกรรมที่เข้าลักษณะปกปิดอาบัติ
ถ้าไม่มีเงื่อนไข ๒ ข้อนี้ การอยู่ปริวาสก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีเหตุที่จะต้องอยู่ปริวาส
………………………………
๒ คิดอย่างไรกับกิจกรรมบุญปริวาส
………………………………
ปัจจุบันมีการจัดกิจกรรมอยู่ปริวาส คือเชิญชวนให้พระภิกษุไปอยู่ปริวาสโดยอ้างว่า อยู่ปริวาสแล้วทำให้ศีลบริสุทธิ์ ญาติโยมที่ไปอุปถัมภ์บำรุงพระที่มาอยู่ปริวาสก็เชื่อกันว่าได้บุญมากเป็นพิเศษเพราะมีส่วนส่งเสริมให้พระมีศีลบริสุทธิ์
บางทีชาวบ้านก็เลยถือเป็นโอกาสอยู่ปริวาสไปกับพระด้วยเลย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตัวเองเป็นคนบริสุทธิ์ได้ด้วย
พระที่ไปอยู่ปริวาส ก็ให้เหตุผลว่า ในห้วงเวลาปีหนึ่งที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่าได้ทำอะไรผิดพลาดจนถึงขั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสสเข้าบ้างหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ทำผิดก็รอดตัวไป แต่ถ้าได้ทำผิดพลาดไว้ ถ้าไม่อยู่ปริวาสก็จะมีมลทินติดตัวไปตลอด ดังนั้นการอยู่ปริวาสจึงถูกต้องแล้ว เพราะเป็นการชำระศีลให้บริสุทธิ์
พูดง่ายๆ ว่า อยู่ปริวาสกันเหนียว หรือเกินดีกว่าขาดนั่นเอง
………….
(มีต่อ)
………….
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕
๑๐:๓๗
…………………………….
…………………………….