อาสวะ (บาลีวันละคำ 3,689)
อาสวะ
เครื่องดองของเมา
อ่านว่า อา-สะ-วะ
“อาสวะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อาสว” อ่านว่า อา-สะ-วะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + สุ (ธาตุ = ไหลไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (อะ-วะ) (สุ > โส > สว)
: อา + สุ = อาสุ + ณ = อาสุณ > อาสุ > อาโส > อาสว แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กิเลสที่ไหลออกมาทางตาเป็นต้น” (เพราะตาเห็น หูได้ยินเป็นต้น ก็เกิดกิเลสแล่นไปจับสิ่งที่ได้เห็นได้ยิน กิเลสจึงไหลออกมาทางตา ทางหูเป็นต้น)
(2) “น้ำเป็นเหตุไหลออกแห่งความมึนเมาของบุรุษ” (น้ำที่เป็นเหตุให้คนที่ดื่มมันเข้าไปแสดงอาการมึนเมาออกมา ความมึนเมาของคนจึงไหลออกมาเพราะน้ำนั้น)
(3) “กิเลสที่ไหลไปจนถึงภวัครพรหม” (หมายความว่า ผู้ที่เกิดตั้งแต่โลกบาดาล ผ่านโลกมนุษย์ ไปสิ้นสุดที่ภวัครพรหม อันเป็นภพสูงสุดก่อนที่จะหลุดพ้น ล้วนแต่ยังมีกิเลสอยู่ทั้งนั้น)
(4) “กิเลสที่ไหลไปยังสังสารทุกข์ตลอดไป” (กิเลสเหมือนกระแสน้ำที่พัดพาผู้ที่ยังมีกิเลสให้ลอยไหลเวียนเกิดเวียนตายไม่มีที่สิ้นสุด)
(5) “กิเลสที่เหมือนของหมักดองมีน้ำเมาเป็นต้นเพราะหมักหมมอยู่นาน” (เปรียบกิเลสเหมือนน้ำหมักดอง เพราะหมักหมมทับถมอยู่ในจิตใจมายาวนานหลายภพชาติ)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาสว” ตามศัพท์ว่า that which flows [out or on to] outflow & influx (สิ่งที่ไหล [ออกหรือสู่], การไหลไปและการบ่าเข้ามา)
และบอกความหมายของ “อาสว” ไว้ดังนี้ –
(1) สุรา, น้ำคั้นที่ทำให้มึนเมา หรือน้ำดองของต้นไม้หรือดอกไม้ (spirit, the intoxicating extract or secretion of a tree or flower)
(2) น้ำหนองจากแผลฝี (discharge from a sore)
(3) ในจิตวิทยาเป็นศัพท์เฉพาะสำหรับความคิดที่ระบุไว้ ซึ่งทำจิตใจให้มึนเมา [ทำให้งงงวย, หรือผิดพลาด จนไม่สามารถขึ้นสู่แนวสูงได้] (in psychology, t.t. for certain specified ideas which intoxicate the mind [bemuddle it, befoozle it, so that it cannot rise to higher things]).
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [135] และข้อ [136] แสดง “อาสวะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
[135] อาสวะ 3 (สภาวะอันหมักดองสันดาน, สิ่งที่มอมพื้นจิต, กิเลสที่ไหลซึมซ่านไปย้อมใจเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ — Āsava: mental intoxication; canker; bias; influx; taint)
1. กามาสวะ (อาสวะคือกาม — Kāmāsava: canker of sense-desire)
2. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ — Bhavāsava: canker of becoming)
3. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา — Avijjāsava: canker of ignorance)
ดู [136] อาสวะ 4 ด้วย.
[136] อาสวะ 4 (Āsava: mental intoxication; canker)
1. กามาสวะ (อาสวะคือกาม — Kāmāsava: canker of sense-desire)
2. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ — Bhavāsava: canker of becoming)
3. ทิฏฐาสวะ (อาสวะคือทิฏฐิ — Diṭṭhāsava: canker of views or speculation)
4. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา — Avijjāsava: canker of ignorance)
ในที่มาส่วนมาก โดยเฉพาะในพระสูตร แสดงอาสวะไว้ 3 อย่าง โดยสงเคราะห์ทิฏฐาสวะเข้าในภวาสวะ (ม.อ.1/93)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “อาสวะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
อาสวะ :
1. ความเสียหาย, ความเดือดร้อน, โทษ, ทุกข์
2. น้ำดองอันเป็นเมรัย เช่น ปุปฺผาสโว น้ำดองดอกไม้, ผลาสโว น้ำดองผลไม้
3. กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ,
อาสวะ ๓ คือ ๑. กามาสวะ อาสวะคือกาม ๒. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ๓. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา;
อีกหมวดหนึ่ง อาสวะ ๔ คือ ๑. กามาสวะ อาสวะคือกาม ๒. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ๓. ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ ๔. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา
…………..
น่าประหลาดอย่างยิ่งที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “อาสวะ” ไว้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เสพสุขตามวิสัยโลกีย์
: แต่อย่าเหยียบย่ำความดีตามวิสัยธรรม
———————–
(สนองตามข้อเสนอของพระคุณท่าน พระครูวิบูลย์โพธิวัตร ก.สุทฺธสทฺโธ ที่เสนอมาตั้งแต่ปี 2562)
#บาลีวันละคำ (3,689)
19-7-65
…………………………….
…………………………….