บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จะเอาอย่างไร

จะเอาอย่างไร

—————

ภาพพระขี่จักรยานนำขบวนที่นำมาประกอบเรื่องนี้มีญาติมิตรแชร์มาที่หน้าบ้านผมเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ (๘ ปีมาแล้ว) อันเป็นวันที่มีการจัดกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อกันทั่วประเทศ 

จากข้อมูลที่พบ ได้ความว่า เป็นภาพจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๕ (นับถึงปี ๒๕๖๕ ก็ ๑๐ ปีพอดี) พระภิกษุ ๒ รูปกับแม่ชีอีก ๑ ท่าน กำลังปั่นและนำขบวนจักรยานอีกประมาณ ๓๐๐ คัน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าไปยังโรงพยาบาลศิริราชเพื่อถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทั้งนี้เป็นกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยานแทนการใช้น้ำมันและก๊าซ 

เรื่องนี้หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๕ (๙ วันหลังจากมีกิจกรรม เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว) นำมาลงในหน้าศาสนา-พระเครื่อง : ข่าวทั่วไป ในหัวข้อเรื่องว่า “ตามติดศิษย์ตถาคต ‘ปั่นเพื่อโลก’ ”

……………..

ภาพนี้เฉพาะที่หน้าบ้านผมมีผู้แสดงความคิดเห็นกันมาก และส่วนมากก็เป็นอย่างที่มักเป็นในสังคมไทย นั่นคือหนักไปในทางแสดงความรู้สึกมากกว่าที่จะแสดงความรู้

ความรู้กับความรู้สึกนั้นต่างกัน

ความรู้ต้องสืบค้น ต้องแสวงหา

แต่ความรู้สึกไม่ต้อง รู้สึกได้ทันที 

รู้สึกอย่างไร คือคิดอย่างไรก็แสดงออกมาได้ทันที

ผู้รู้ท่านตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่า สังคมไทยมักเป็นอย่างนี้ คือชอบแสดงความคิดเห็น แต่ไม่ชอบแสวงหาความรู้-แม้ในเรื่องที่ตนกำลังแสดงความคิดเห็นนั่นเอง

ตามที่ถูก ความคิดเห็นที่ดีควรตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความรู้ คือแสวงหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ ให้ชัดหรือให้เพียงพอเสียก่อนแล้วจึงค่อยแสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่มีความรู้เป็นฐานเช่นนี้ย่อมมีน้ำหนักมั่นคง เพราะมีความรู้เป็นตัวกำกับให้อยู่ในร่องในรอย ต่างจากความคิดเห็นที่ออกมาจากความรู้สึกซึ่งมักหาจุดจบที่ถูกต้องลงตัวได้ยาก และเพราะร้อยคนก็ร้อยความรู้สึก จึงมักจะนำไปสู่ความขัดแย้งมากกว่าที่จะนำให้เกิดปัญญาอันเป็นเครื่องมือสำหรับแก้ปัญหาที่นำมาถกเถียงกันนั้นให้ยุติลงด้วยดี

คำถามจากภาพนี้ก็คือ พระทำอย่างนี้ผิดหรือไม่

คำถามนี้ต้องเอาความรู้มาตอบ คือต้องศึกษาให้รู้ชัดว่าพระทำอะไรได้ และทำอะไรไม่ได้

ต่อไปก็ถามว่า พระควรทำอย่างนี้หรือไม่ และถ้ามีเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง พระควรมีกรอบขอบเขตแค่ไหนอย่างไรที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆ

คำถามนี้ถามความคิดเห็น เมื่อมีความรู้เป็นพื้นฐานแล้ว (นอกจากความรู้ทางพระธรรมวินัยแล้วก็ควรต้องมีความรู้ทางสังคมทั่วไปเข้าประกอบด้วย) ก็สามารถใช้ความรู้นั้นเป็นฐานแห่งการคิดหาคำตอบได้อย่างมีหลักมีฐาน

……………..

คนไม่ได้เป็นพระมาตั้งแต่เกิด หรือเป็นพระได้โดยการสืบสันตติวงศ์ 

หากแต่เป็นได้โดยการสมัครเข้ามาเป็นตามเงื่อนไขที่กำหนด

ถอยไปตั้งต้นตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงประกาศพระศาสนา คือทรงแสดงวิธีการครองชีวิตที่จะนำไปสู่การพ้นจากสังสารทุกข์คือการเวียนตายเวียนเกิด

มีคนที่ได้ฟังและเข้าใจ แล้วพอใจที่จะดำเนินตาม ก็สละบ้านเรือน สละครอบครัว สละวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน ออกไปครองชีวิตตามแบบอย่างที่ทรงสอนและทรงปฏิบัติให้เห็น เมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็กลายเป็นสังคมอีกชนิดหนึ่ง และมีกฎระเบียบกำกับเพื่อให้การครองชีวิตชนิดนั้นดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย

นี่คือกำเนิดสังคมสงฆ์

จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของการเข้าไปเป็นสมาชิกแห่งสังคมสงฆ์นั้นก็เพื่อการปฏิบัติเพื่อพ้นจากสังสารทุกข์คือการเวียนตายเวียนเกิด

ใครพร้อมก็เข้าไป

ใครยังไม่พร้อม หรือยังไม่อยากจะไปสู่เป้าหมายนั้น ก็อย่าเข้าไป

นี่คือที่เรียกว่า อิสระและเสรีภาพทางศาสนา

ถึงตอนนี้ก็จะมีคน ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งพอใจและพร้อมที่จะออกจากบ้านเรือนไปครองชีวิตแบบนั้น อีกฝ่ายหนึ่งพอใจ แต่ยังไม่พร้อม เมื่อเห็นฝ่ายที่พร้อมกว่าออกไปปฏิบัติเช่นนั้นได้ก็มีแก่ใจสนับสนุนส่งเสริมด้วยประการต่างๆ เช่นสงเคราะห์ด้วยปัจจัยเพื่อให้สามารถครองชีวิตเช่นนั้นได้สะดวกเป็นต้น 

อุปมาเหมือนบ้านเมืองเกิดสงคราม คนที่พร้อมก็ออกรบ คนที่ไม่พร้อมที่จะออกรบก็ช่วยสนับสนุนคนที่ออกรบให้มีกำลังสู้รบได้เต็มที่ หรืออุปมาเหมือนคนว่ายน้ำข้ามฝั่ง คนบนฝั่งเอาใจช่วยขอให้ว่ายข้ามได้สำเร็จ

นี่คือกำเนิดของสังคมศรัทธา

ถึงตอนนี้ ภาพการครองชีวิตเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาได้กลายเป็นฐานหรือเป็นรูปแบบที่ก่อให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส ชั้นเดิมจากคนที่รู้ชัดในเป้าหมายของการบวช แต่ชั้นต่อๆ มาเมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงเวลานี้ ก็จากคนที่ศรัทธาเลื่อมใสโดยเหตุผลอื่นๆ โดยไม่ได้เพ่งเล็งหรือสนใจว่าตัวบุคคลที่ตนศรัทธาเลื่อมใสนั้นจะกำลังมุ่งหน้าปฏิบัติดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์หรือหาไม่ เช่น —

……………..

ความสามารถในการแสดงธรรม เผยแผ่ธรรม

การตั้งสำนักศึกษาและปฏิบัติธรรม

การช่วยแก้ปัญหาทางด้านจิตใจ เช่น ดูหมอ ต่อชะตา สะเดาะเคราะห์ เสริมสิริมงคล สร้างและแจกจ่ายของขลัง วัตถุมงคลต่างๆ

รักษาโรค

รวมทั้งธุรกิจ “ขายบุญ” หรือที่เรียกกันว่า “พุทธพาณิชย์” ในรูปแบบต่างๆ

ตลอดจนทำกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป

……………..

ในท่ามกลางความเป็นไปเช่นนี้ หากจะมีเสียงทักท้วงขึ้นว่า การกระทำดังกล่าวนี้เป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสงค์ในพระพุทธศาสนาอย่างนั้นหรือ

ก็จะมีเสียงตอบย้อนกลับมาว่า ที่บวชกันอยู่ทุกวันนี้มีใครบ้างล่ะที่ตั้งใจจะไปพระนิพพาน

การย้อนตอบแบบนี้ไม่ใช่คำตอบเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นการยกเอาเงื่อนแง่บางอย่างขึ้นมาคานปัญหาไว้เท่านั้น ซึ่งเท่ากับบอกว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีใครบวชเพื่อไปนิพพานกันอีกแล้วนั่นเอง

ฝ่ายท่านอีกจำพวกหนึ่ง ไม่สนใจว่าใครจะบวชไปนิพพานหรือบวชเพื่ออะไรก็ช่าง และพระพุทธศาสนาจะมีเป้าหมายชีวิตเพื่ออะไรก็ช่าง คงมองแต่เพียงว่าบวชเข้ามาแล้วทำประโยชน์ให้แก่ผู้คนในสังคมได้ ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ท่านจำพวกที่มองแบบนี้นับวันจะมีมากขึ้น

สรุปว่า ตกมาถึงปัจจุบัน สังคมศรัทธาก็ยังมีอยู่ แต่เนื้อในส่วนใหญ่ไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว จากเนื้อเดิมศรัทธาเลื่อมใสและสนับสนุนนักบวชเพื่อให้มีกำลังปฏิบัติดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ ก็กลายเป็นเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น

แปลว่าศรัทธาแม้จะยังตั้งอยู่บนฐานเดิมคือเพศบรรพชิต แต่เป้าหมายเปลี่ยนไป

เป้าหมายเดิม เข้ามาถือเพศบรรพชิตเพื่อปฏิบัติดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์

เป้าหมายใหม่ เข้ามาถือเพศบรรพชิตเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม 

การถือเพศบรรพชิตเพื่อปฏิบัติดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์นั้น มีพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เป็นกรอบขอบเขต ซึ่งสรุปลงในคำว่า งดเว้นสิ่งที่ห้าม ทำตามสิ่งที่กำหนด อะไรบ้างคือสิ่งที่ห้าม และอะไรบ้างคือสิ่งที่กำหนด มีหลักฐานอยู่แล้วชัดเจน ศึกษาให้เข้าใจตรงกันและปฏิบัติตามนั้น ก็จะไม่ขัดแย้งกัน ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสว่า –

……………………………………………

ตตฺถ สพฺเพเหว สมคฺเคหิ สมฺโมทมาเนหิ อวิวทมาเนหิ สิกฺขิตพฺพํ. 

เธอทั้งหมดพึงพร้อมเพรียงกัน เห็นพ้องต้องกัน ไม่ขัดแย้งกัน ศึกษาสำเหนียกอยู่ในพระธรรมวินัยนั้นเถิด

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๘๘๑

……………………………………………

แต่ถ้าถือเพศบรรพชิตเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม ก็ต้องเอาสังคมเป็นหลัก สังคมเห็นว่าอะไรเป็นประโยชน์ หรือสังคมชอบอย่างไร บรรพชิตก็ต้องพยายามทำตามนั้น แม้การทำเช่นนั้นจะฝ่าฝืนข้อห้าม หรือเป็นเหตุให้ละเลยบกพร่องต่อข้อที่กำหนดให้ทำก็ไม่คำนึง จนที่สุดแม้วิถีชีวิตสงฆ์จะวิปริตผิดเพี้ยนไปเพียงไรก็ไม่เห็นเป็นเรื่องผิดปกติ 

เมื่อถึงขั้นนี้ ก็ต้องถามว่าจะเอาอย่างไร

จะเป็นพระอย่างที่พระพุทธองค์กำหนด

หรือจะเป็นพระอย่างที่สังคมกำหนด

ถามตัวเองว่าจะเอาอย่างไร

ถามสังคมว่าจะเอาอย่างไร

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๓:๕๗

…………………………………………….

จะเอาอย่างไร

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *