บาลีวันละคำ

เดชานุภาพ (บาลีวันละคำ 3,697)

เดชานุภาพ

คำที่ควรทราบก่อนที่จะขอพึ่งพา

อ่านว่า เด-ชา-นุ-พาบ

แยกศัพท์เป็น เดช + อานุภาพ

(๑) “เดช” 

บาลีเป็น “เตช” อ่านว่า เต-ชะ รากศัพท์มาจาก ติชฺ (ธาตุ = ทำให้ร้อน, ลับให้คม) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ติ-(ชฺ) เป็น เอ (ติชฺ > เตช)

: ติชฺ + = ติชณ > ติช > เตช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เผาภูตรูปและอุปาทายรูปให้มอดไหม้” หมายถึง ความร้อน, เปลวไฟ, ไฟ, แสงสว่าง; ความเปล่งปลั่ง, ความรุ่งโรจน์, ความโชติช่วง, ความงดงาม, พลัง, ความแข็งแรง, อำนาจ (heat, flame, fire, light; radiance, effulgence, splendour, glory, energy, strength, power)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “เตช” แปลตามศัพท์ว่า “sharpness” (ความคม)

บาลี “เตช” สันสกฤตเป็น “เตชสฺ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เตชสฺ : (คำนาม) ‘เดชัส,’ นามของอัคนี; โศภา, ประภา, กานติ, ความงาม; ยศหรือตำแหน่งสูง; ผล; กำลัง, อำนาจ; เดชหรือความขึงขัง; กามศุจิ; เนยสด; อสหัตว์, ความไม่สามารถที่จะอดกลั้นหรือทนได้, ‘ความเหลือทน’ ก็ใช้; ครรม, ทองคำ; ดี, ธาตุดีในร่างกายสัตว์, ‘ดีในท้อง’ ก็เรียก; เยื่อกระดูก; มันสมอง; เกียรติ, กีรติ, ความบันลือ; ความคม; ความเผ็ดร้อน; ความร้อน; ศรีรวีรยะ, ความขะเม่นขะมัก, ‘มานะกาย’ ก็ใช้; อุตสาหะ; a name of Agni; splendour, light, lustre; dignity, elevation in rank; consequence; strength, power, ardour, spirit or energy; semen virile; fresh butter; impatience, inability to bear or put up with; gold; bile, the bilious humour; marrow; the brain; fame, glory, renown; sharpness; pungency; heat; bodily vigour; vivacity, effort.

บาลี “เตช” ในภาษาไทยใช้เป็น “เดช” “เดชะ” และ “เดโช

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) เดช, เดชะ : (คำแบบ) (คำนาม) อํานาจ; ความร้อน, ไฟ. (ป. เตช; ส. เตชสฺ).

(2) เดโช : (คำนาม) อํานาจ; ความร้อน, ไฟ. (ป. เตช; ส. เตชสฺ).

(๒) “อานุภาพ

บาลีเป็น “อานุภาว” อ่านว่า อา-นุ-พา-วะ) รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = เนืองๆ) + ภู (ธาตุ = ไป, ถึง, บรรลุ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(นุ) เป็น อา (อนุ > อานุ), แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (ภู > โภ > ภาว)

: อนุ + ภู + = อนุภูณ > อนุภู > อนุโภ > อนุภาว > อานุภาว แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังผู้พร้อมมูลด้วยสิ่งนั้นให้เจริญร่ำไป” 

วิธีสรุปความหมายจากคำแปลตามศัพท์ : อานุภาว

– “สิ่งนั้น” คือเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นคุณธรรมเป็นต้น

– มีบุคคลที่มีเหตุปัจจัยเช่นนั้นพร้อมมูล

– มีภาวะอย่างหนึ่งทำให้บุคคลเช่นว่านั้นเจริญอยู่ร่ำไป

– จึงเรียก “ภาวะ” นั้นว่า “อานุภาว” 

อานุภาว” หมายถึง ความยิ่งใหญ่, ความดีเด่น, อานุภาพ, ความวิเศษ (greatness, magnificence, majesty, splendour)

บาลี “อานุภาว” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อานุภาพ” และ “อานุภาวะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

อานุภาพ, อานุภาวะ : (คำนาม) อํานาจ, ฤทธิ์เดช, ความยิ่งใหญ่. (ป., ส.).”

พจนานุกรมฯ บอกว่าคำนี้บาลีและสันสกฤตมีรูปคำเดียวกัน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นคู่มือค้นคว้าไม่มีคำว่า “อานุภาว” แต่มีคำว่า “อนุภาว” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อนุภาว : (คำนาม) ‘อนุภาพ,’ สีหน้าหรือท่าทาง (อันเปนสิ่งแสดงอารมณ์หรือความในใจ); ความมั่นใจ, ความเชื่อ, ความรู้; look or gesture (an indication or sign of passion); firm opinion, belief, understanding.”

ควรพิจารณาเปรียบเทียบว่า “อนุภาว” ในสันสกฤตเป็นคำเดียวกับ “อานุภาว” ในบาลี หรือเป็นคนละคำกัน ผู้สนใจพึงดูเพิ่มเติมที่คำว่า “อานุภาว” ในพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ นั้นเถิด

เตช + อานุภาว = เตชานุภาว (เต-ชา-นุ-พา-วะ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “เดชานุภาพ” แปลทับศัพท์ว่า “เดชและอานุภาพ

เดชและอานุภาพ” แปลออกศัพท์อย่างไรดี ขอนักเรียนบาลีโปรดฝึกสมองทดลองปัญญากันดูเถิด

แถม :

เดช” คำบาลีที่เรามักจะคุ้นหู ก็อย่างเช่น “พุทฺธเตเชน” (พุด-ทะ-เต-เช-นะ) = ด้วยเดชแห่งพระพุทธเจ้า

อานุภาพ” คำบาลีที่เรามักจะคุ้นหู ก็อย่างเช่น “สพฺพพุทฺธานุภาเวน” (พุด-ทา-นุ-พา-เว-นะ) = ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง

แต่ที่ใช้ควบกันเป็น “…-เตชานุภาเวน” ยังไม่พบในคัมภีร์บาลี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พึ่งเรี่ยวแรงตัวเองให้เต็มคราบ

: แล้วจึงค่อยคิดพึ่งเดชานุภาพของใครๆ

#บาลีวันละคำ (3,697)

27-7-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *