บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เป็นหมอ ไม่รักษาไข้ เป็นทำไม

เป็นหมอ ไม่รักษาไข้ เป็นทำไม

——————————–

พระคุณท่านรูปหนึ่งเขียนปัญหามาถามผม ดังข้อความต่อไปนี้

…………..

1. มีโยมเข้าไปนั่งอยู่ในโบสถ์เวลาพระทำสังฆกรรม จัดเป็นวิบัติแบบไหน ในวิบัติ 4 

2. การใช้ภาษาบาลีมาเป็นภาษาสวดมนต์บ้าง ทำสังฆกรรมบ้างในยุคปัจจุบันถึงแม้จะถูกอักขรวิธีทุกอย่าง แต่ไม่มีใครฟังรู้เรื่องเลย จัดเป็นมุสาวาทประเภทสัมผัปปลาปะและกรรมวาจาวิบัติหรือเปล่า 

ความจริงคำพูดทุกคำที่สื่อสารกันควรจะใช้เพื่อความรู้ความเข้าใจในจุดประสงค์ของกันและกันมิใช่หรือ แต่นี้กลับพูดกันสวดกันแบบฟังไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจความหมายอะไรเลย แล้วมันเกิดปัญญาได้อย่างไร 

เพราะในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง (อริยมรรคมีองค์ 8 ที่เป็นข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา) ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้นนั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ 

รบกวนโยมอาจารย์ช่วยหาหลักฐานมาอ้างอิงในเรื่องนี้หน่อยจะเป็นอุปการคุณแก่คนที่ยังงมงายยึดถือไสยศาสตร์มนต์ขลังเป็นอย่างมาก ฯ

…………..

สรุปข้อปัญหา ๒ ข้อ คือ

๑ สงฆ์ทำสังฆกรรม มีฆราวาสอยู่ในที่นั้นด้วย ผิดหรือไม่

๒ คำสวดต่างๆ ที่เป็นภาษาบาลี สวดแล้วก็ไม่มีใครรู้เรื่อง สมควรจะสวดแบบนั้นต่อไปหรือไม่ หรือว่าควรจะเปลี่ยนแปลงเป็นสวดด้วยภาษาที่คนฟังรู้เรื่อง

ต่อไปนี้เป็นคำตอบของผม-แบบผม

————————

๑ สงฆ์ทำสังฆกรรม มีฆราวาสอยู่ในที่นั้นด้วย ผิดหรือไม่

————————

ขออนุญาตปูพื้นเพื่อญาติมิตรที่ไม่เคยมีพื้นมาก่อนจะได้เข้าใจ

ควรเข้าใจคำว่า “สังฆกรรม” ก่อน 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของคำว่า “สังฆกรรม” ไว้ดังนี้ 

…………..

สังฆกรรม: งานของสงฆ์, กรรมที่สงฆ์พึงทำ, กิจที่พึงทำโดยที่ประชุมสงฆ์ มี ๔ คือ 

๑. อปโลกนกรรม กรรมที่ทำเพียงด้วยบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติและไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น แจ้งการลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุ 

๒. ญัตติกรรม กรรมที่ทำเพียงตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น อุโบสถและปวารณา 

๓. ญัตติทุติยกรรม กรรมที่ทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนหนึ่ง เช่น สมมติสีมา ให้ผ้ากฐิน 

๔. ญัตติจตุตถกรรม กรรมที่ทำด้วยการตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนา ๓ หน เช่น อุปสมบท ให้ปริวาส ให้มานัต

…………..

ขออนุญาตขยายความเพิ่มเติม

พระภิกษุในพระพุทธศาสนาเมื่ออยู่รวมกัน มีกิจที่จะต้องทำร่วมกัน จะต้องช่วยกันทำ 

กิจที่เรียกว่า “สังฆกรรม” หมายถึงกิจที่ภิกษุต้องประชุมกันเพื่อพิจารณาตกลงกันในเรื่องนั้นๆ ว่าจะเอายังไงกัน เทียบกับเรื่องของชาวบ้านก็คือที่เราพูดกันว่า-เรียกประชุม

สังฆกรรมที่ต้องเรียกประชุมตามปัญหานี้หมายถึงสังฆกรรมที่มีหลักพระวินัยกำหนดไว้ให้ต้องทำ ตัวอย่างที่ชาวบ้านรู้เห็นกันทั่วไปก็อย่างเช่น การบวชพระ การฟังปาติโมกข์ การรับกฐิน

สังฆกรรมส่วนมากกำหนดให้ภิกษุประชุมกันในสถานที่ซึ่งจัดสร้างขึ้นเป็นที่ประชุมโดยเฉพาะ ก็คือที่เรารู้จักกันว่า “โบสถ์” (คำเต็ม “อุโบสถ”) 

“โบสถ์” คือที่ประชุมทำสังฆกรรม จะบวชพระ จะฟังปาติโมกข์ จะรับกฐิน ต้องทำกันในโบสถ์ (มีรายละเอียดปลีกย่อยอีก อย่าเพิ่งสงสัย ฟังไว้แค่นี้ก่อน)

ในบริเวณโบสถ์นั้นเองยังมีเขตจำกัดที่เรียกกันว่า “สีมา”

พูดให้เข้าใจง่ายๆ – มีที่ดินผืนหนึ่ง

ขีดตารางกว้างยาวตามต้องการเป็นรูปสี่เหลี่ยมลงบนที่ดินนั้น

โบสถ์เหมือนที่ดินทั้งผืน

ตารางสี่เหลี่ยมเหมือนสีมา

เวลาทำสังฆกรรม พระวินัยกำหนดให้ทำในเขตสีมา

ภิกษุที่เข้าประชุมในสังฆกรรมแต่ละเรื่องกำหนดจำนวนอย่างต่ำไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อยที่สุดต้องมีตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ที่เรารู้จักกันในนามว่า “องค์สงฆ์” 

พูดอีกนัยหนึ่ง ต้องมีภิกษุอย่างน้อย ๔ รูปเข้าประชุมจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม สังฆกรรมบางเรื่องต้องมีมากกว่า ๔ รูป จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม สังฆกรรมบางเรื่องกำหนดภิกษุ ๒๐ รูปเป็นองค์ประชุมก็มี

ข้อกำหนดในการประชุมอย่างหนึ่งคือทุกรูปต้องนั่งชิดติดกันในระยะเอื้อมมือจับตัวกันถึง ที่มีคำเรียกว่าอยู่ในระยะ “หัตถบาส” (หัด-ถะ-บาด) 

ข้อกำหนดที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ในที่ประชุมนั้นต้องไม่มี “ผู้ที่ไม่ใช่ภิกษุ” เข้าไปรวมอยู่ด้วย 

ตรงนี้แหละคือประเด็นปัญหาที่ถามในข้อแรก – สงฆ์ทำสังฆกรรม มีฆราวาสอยู่ในที่นั้นด้วย ผิดหรือไม่ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไปก็คือเวลาบวชพระ 

บวชพระเป็นสังฆกรรม

ต้องทำในเขตสีมา คือในโบสถ์

แต่เวลานั้นก็มีญาติโยมนั่งอยู่ในโบสถ์ด้วย

ถามว่า-ผิดหรือไม่

ผิดหรือไม่ผิด คำตอบอยู่ที่ตัวบทพระวินัยที่มีกำหนดไว้ในพระไตรปิฎก 

ถ้าไม่มีในพระไตรปิฎก ก็ดูคำอธิบายในอรรถกถา 

ถ้าไม่มีในอรรถกถา ก็ดูในฎีกา 

ถ้าไม่มีในฎีกา ก็ดูในมติครูบาอาจารย์แต่ปางก่อน

หลักปฏิบัติท่านวางไว้อย่างนี้ 

…………….

ถามว่าใครมีหน้าที่โดยตรงในการค้นคว้าพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อาจริยมติ เพื่อหาคำตอบเรื่องนี้ ?

ไม่ใช่ทองย้อย แสงสินชัย

หรือถ้าใช่ ก็ไม่ใช่ทองย้อย แสงสินชัยคนเดียว

เปรียญธรรม ๙ ประโยคที่ยังมีชีวิตในประเทศไทย ตัวเลขกลมๆ เป็นพระ ๕๐๐ เป็นฆราวาส ๕๐๐

เวลานี้ใครว่างบ้าง ขอแรงหน่อยได้ไหม

แต่ทองย้อย แสงสินชัย ยังไม่ว่าง การบ้านท่วมหัว

————————

๒ คำสวดต่างๆ ที่เป็นภาษาบาลี สวดแล้วก็ไม่มีใครรู้เรื่อง สมควรจะสวดแบบนั้นต่อไปหรือไม่ หรือว่าควรจะเปลี่ยนแปลงเป็นสวดด้วยภาษาที่คนฟังรู้เรื่อง

————————

ข้อนี้ต้องตั้งหลักคิดให้ถูก

หลักก็คือ การใช้ภาษาบาลีในสังฆกรรมหรือกิจพิธีใดๆ ก็ตาม ถือว่าเป็นแบบแผน เป็นรูปแบบ หรือเป็นพิธีการ ที่กำหนดว่าต้องทำ ต้องสวด ต้องพูดแบบนั้นๆ 

เทียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็อย่างเช่นการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เช่นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งรัฐมนตรี ตำแหน่งผู้พิพากษา เป็นต้น ที่มีระเบียบกำหนดให้ต้องกระทำ กำหนดถ้อยคำให้ต้องพูดอย่างนั้นๆ พูดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ 

ฉันใดก็ฉันเดียวกัน

กรณีฟังไม่รู้เรื่อง ที่เห็นกันชัดมากๆ ก็คือฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนที่สงฆ์ยังถือปฏิบัติกันอยู่ในทุกวันนี้ 

ถามว่ามีภิกษุสักกี่รูปที่ฟังพระปาติโมกข์แล้วรู้เรื่องตลอดทุกถ้อยคำ?

ต่อให้ภิกษุรูปที่เป็นผู้สวดพระปาติโมกข์นั่นเองด้วยซ้ำ-รู้เรื่องถ้อยคำที่ตนสวดสักกี่รูป?

และกรณีฟังไม่รู้เรื่องที่พูดกันมากที่สุดในหมู่ชาวบ้านก็คือการสวดพระอภิธรรมในงานศพ 

มีเสียงเรียกร้องกันอยู่ตลอดเวลาว่า เอาคำสวดที่ฟังไม่รู้เรื่องมาสวดอยู่ทำไม ทำไมไม่สวดให้ฟังรู้เรื่อง

…………….

ขออนุญาตที่จะเรียนว่า-ทั้งนี้เป็นเพราะตั้งหลักคิดไม่ถูก

หลักเก่าท่านว่า –

ฟังสวดเอาสมาธิ

ฟังเทศน์เอาปัญญา

หมายความว่า ถ้าต้องการรู้เรื่องก็ต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องที่ฟัง

พูดให้กระทบใจก็ว่า-เวลาฟัง (ที่อ้างว่าฟังไม่รู้เรื่อง) นั้นก็เพียงครึ่งชั่วโมง หรืออย่างมากก็ชั่วโมงหนึ่ง 

ใจคอจะเอารู้เรื่องกันในเวลาเพียงแค่นี้เท่านั้นหรือ 

แล้วเวลาในชีวิตอีกตั้ง ๒๓ ชั่วโมงในหนึ่งวันเอาไปทำอะไรหมด 

จะสละเวลาเพื่อศึกษาเรื่องที่บอกว่าฟังไม่รู้เรื่องนั้นบ้างไม่ได้เลยหรือ 

จะเอาเป็นเอาตายเอารู้เรื่องกันเฉพาะครึ่งชั่วโมงที่กำลังฟังอยู่นั้นเท่านั้นหรือ 

ลุกจากที่นั้นแล้วก็จะไปตายทันทีเลยหรือ

…………….

แล้วถ้ามีคนบอกว่า – 

ข้าพเจ้าฟังรู้เรื่องตลอดเพราะข้าพเจ้าได้ศึกษามาบ้าง 

สวดแบบนั้นน่ะดีแล้ว เป็นการรักษาต้นฉบับไว้ไม่ให้แปรปรวนไปตามกระแสสังคม 

ใครอยากรู้เรื่องก็ไปศึกษาเอา 

ไม่ใช่เรื่องปกปิดต้องห้าม และไม่ใช่เรื่องเกินวิสัย 

สวดเป็นภาษาที่คน พ.ศ.นี้ฟังรู้เรื่อง 

คน พ.ศ.หน้าอาจจะร้องขึ้นอีกว่าเขาฟังไม่รู้เรื่อง 

ก็ต้องแก้คำสวดตามไปอีก 

ในที่สุดจะไม่เหลือของเดิม 

เราควรพัฒนาความไม่รู้เรื่องของเราขึ้นไปหามาตรฐาน 

ไม่ใช่ดึงมาตรฐานลงมาหาความไม่รู้เรื่องของเรา

ถ้ามีคนพูดอย่างนี้ เราจะเถียงเขาว่าอย่างไร

…………….

แปลว่าคนที่เขาฟังรู้เรื่องก็มี 

คนพวกนั้นก็เป็นคนเหมือนเรา ไม่ได้วิเศษเป็นเทวดามาจากไหนเลย แล้วทำไมเราจึงจะศึกษาให้ฟังรู้เรื่องเหมือนพวกเขาบ้างไม่ได้

ที่เราฟังคำสวด-ไม่ว่าจะในกิจหรือในพิธีใดๆ-ไม่รู้เรื่อง จึงไม่ใช่ความผิดของคำสวดหรือของผู้สวด 

แต่เป็นความบกพร่องของเราเองที่ไม่หาเวลาศึกษาเรื่องนั้นๆ ให้รู้เรื่อง 

————————

ปัญหาทั้ง ๒ ข้อนี้เป็นปัญหาของชาววัดโดยแท้ เป็นปัญหาที่ควรนำขึ้นสู่การพิจารณาวินิจฉัยของคณะสงฆ์ แล้วออกมาเป็นมติของสงฆ์ แล้วประกาศให้ถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วสังฆมณฑล 

ไม่ใช่มาหาคำตอบจากนายกอ นายขอ อะไรคนหนึ่ง ซึ่งแม้จะตอบถูกก็ไม่มีน้ำหนักอะไรเลย ยิ่งถ้าตอบผิด ก็ยิ่งแย่ไปใหญ่ 

คำถามคือ 

๑ ทำไม-ปัญหานี้และปัญหาทำนองเดียวกันนี้อีกมากมายจึงไม่ขึ้นสู่การพิจารณาวินิจฉัยของคณะสงฆ์ 

๒ ทำอย่างไร-ปัญหานี้และปัญหาทำนองเดียวกันนี้อีกมากมายจึงจะได้ขึ้นสู่การพิจารณาวินิจฉัยของคณะสงฆ์

คณะสงฆ์นั้นมีทรัพยากรพร้อมทุกด้าน 

ทั้งกำลังคนที่เป็นหัวกะทิ 

ทั้งกำลังเงิน 

ทั้งวัตถุอุปกรณ์ทั้งปวง 

โดยมีศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเป็นฐานสนับสนุนอย่างเป็นปึกแผ่นแน่นหนา

แต่สิ่งที่ผู้บริหารการพระศาสนาบ้านเราไม่มี คือความคิด 

…………….

ญาติมิตรคงจำได้ว่าผมเคยเสนอให้คณะสงฆ์ตั้งกองวิชาการพระพุทธศาสนาขึ้นมาเพื่อทำงานแก้ปัญหาทำนองเดียวกันนี้ซึ่งมีอยู่อีกมากมายในสังคม 

แต่คำเสนอนี้ไม่มีผลอะไร 

เพราะแม้จะมีอะไรๆ หมดทุกอย่าง 

แต่เมื่อไม่มีความคิดเสียอย่างเดียว 

ทุกอย่างก็จบแค่นั้น 

————————

ตั้งแต่วันที่ ๓ ถึงวันที่ ๖ มีนาคมนี้ ถ้าใครไปที่วัดสามพระยาในกรุงเทพฯ ก็จะเห็นพระสงฆ์ระดับหัวกะทิจำนวนมากท่านไปชุมนุมทำกิจพระศาสนากันที่นั่น

กิจพระศาสนาที่กล่าวถึงนี้ก็คือการตรวจข้อสอบบาลีสนามหลวงประจำปี ๒๕๖๑ 

การเรียน-การสอบบาลีมีจุดมุ่งหมายที่จะให้พระสงฆ์สามเณรมีความรู้ทางภาษาบาลีอันเป็นภาษาที่บันทึกคำสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนาเถรวาท 

เมื่อรู้แล้วจะได้ใช้เป็นอุปกรณ์ในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยที่ถูกต้องเพื่อนำมาพัฒนาฝึกฝนความประพฤติของตนเองให้ถูกต้อง และเผยแผ่ไปยังสังคมส่วนรวม 

และที่สำคัญ เมื่อมีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับพระธรรมวินัยเกิดขึ้น จะได้ช่วยกันเป็นกำลังในการพิจารณาแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ขาวสะอาดปราศจากความเคลือบคลุมมัวหมอง 

เป็นการดำรงรักษาสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป 

ในวันที่ ๗ มีนาคมที่จะถึงนี้ พระภิกษุสามเณรรวมทั้งอุบาสกอุบาสิกาจำนวนหนึ่งจะได้รับการประกาศรับรองให้เป็น “หัวกะทิ” ทางภาษาบาลี เพิ่มจำนวนหัวกะทิที่มีอยู่แล้วให้มีมากขึ้น ท่ามกลางความชื่นชมยินดีปรีดาของมวลญาติมิตรเป็นที่เอิกเกริกอย่างยิ่ง 

นั่นหมายความว่าพระพุทธศาสนาในเมืองไทยมีทรัพยากรบุคคลระดับหัวกะทิที่จะเป็นกำลังในการธำรงรักษาและเผยแผ่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นอีกแล้ว 

แต่สิ่งที่น่าเสียดายและน่าใจหายก็คือ ท่านที่เป็นหัวกะทิเหล่านี้เมื่อผ่านวันชื่นคืนสุขไปแล้วท่านก็จะละลายหายไปในอนาคต 

ในขณะที่ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย-ดังเช่นปัญหา ๒ ข้อข้างต้นนั้น-ก็ยังคงถูกเพิกเฉย ไม่ขึ้นไปสู่การพิจารณาวินิจฉัยของบรรดาท่านที่เป็นหัวกะทิทั้งหลายอยู่เช่นเดิม เหมือนกับว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของท่าน 

ผมเคยอุปมาให้ฟังแล้ว-อุปมาเหมือนคนที่ลงทุนเรียนแพทย์จนสำเร็จออกมาเป็น “คุณหมอ” 

แต่ไม่มีความคิดที่จะรักษาคนไข้

ผลิตหมอออกมาปีละมากๆ 

คนเจ็บไข้ได้ป่วยก็นอนรอหมออยู่เป็นอันมาก 

แต่ไม่มีหมอคนไหนยินดีพอใจที่จะรักษา 

ท่านพอใจที่เดินไปเดินมาแล้วบอกแก่คนทั้งหลายว่า “ฉันเป็นหมอแล้วนะ” – เท่านั้น

เป็นหมอ 

ไม่รักษาไข้ 

เป็นทำไม

เรียนบาลี 

ไม่เอาความรู้มาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย 

เรียนทำไม

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๕ มีนาคม ๒๕๖๑

๑๔:๓๔

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *