บาลีวันละคำ

สาลิกา (บาลีวันละคำ 4,201)

สาลิกา

ไม่ใช่ สาริกา

อ่านเท่าตาเห็นว่า สา-ลิ-กา

สาลิกา” ในบาลี รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป) + ณิก ปัจจัย, ลบ (ณิก > อิก), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: สลฺ + ณิก = สลณิก > สลิก > สาลิก + อา = สาลิกา แปลตามศัพท์ว่า “นกที่บินไปปกติ” เรียกทับศัพท์ว่า นกสาลิกา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “สาลิกา” ว่า a kind of bird (นกชนิดหนึ่ง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “สาลิกา” บอกไว้ว่า – 

…………..

สาลิกา ๑ :

(๑) (คำนาม) ชื่อนกขนาดเล็ก วงศ์ย่อย Corvinae ในวงศ์ Corvidae ปากสีแดง มีแถบสีดำคาดตา ตัวสีเขียว ขนปลายปีกสีน้ำตาล ทำรังแบบง่าย ๆ ด้วยกิ่งไม้บนต้นไม้ กินผลไม้และสัตว์ขนาดเล็ก ในประเทศไทยมี ๒ ชนิด คือ สาลิกาเขียว [Cissa chinensis (Boddaert)] และสาลิกาเขียวหางสั้น (C. hypoleuca Salvadori & Giglioli) พบทางตะวันออก.

(๒) (คำนาม) ชื่อนกขนาดเล็กชนิด Acridotheres tristis (Linn.) ในวงศ์ Sturnidae หัวสีดำ วงรอบเบ้าตาและปากสีเหลือง ลำตัวสีน้ำตาลเข้ม มีแต้มขาวที่ปีก ปลายหางสีขาว ทำรังแบบง่าย ๆ ด้วยกิ่งไม้ตามโพรงไม้ ง่ามไม้ หรือซอกอาคาร กินแมลงและผลไม้ พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย, เอี้ยง หรือ เอี้ยงสาลิกา ก็เรียก. (ป.; ส. ศาริกา).

…………..

อภิปรายขยายความ :

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ที่ศัพท์ว่า “สาลิกา” บอกว่า “แปลง ล เป็น ร เป็น ฟั ได้รูปเป็น สาริกา บ้าง สาฬิกา บ้าง”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เก็บคำว่า “สาลิย” “สาลิยา” “สาฬิก” “สาฬิกา” แสดงว่าชื่อนกชนิดนี้อาจสะกดได้หลายแบบ ชื่อเหล่านี้ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลเป็นอังกฤษว่า the maina bird พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ซึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เป็นต้นฉบับ แปลเป็นไทยว่า “นกสาลิกา”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “ศาริกา” และ “สาริกา” (ไม่มี “สาลิกา”) บอกไว้ดังนี้ –

(1) ศาริกา : (คำนาม) นก, นกขุนทอง; a bird, the hill Mainā.

(2) สาริกา : (คำนาม) นกขุนทอง; the Mainā, a kind of bird.

ตรวจดูในคัมภีร์บาลี พบแต่ที่สะกดเป็น “สาลิกา” (-ลิ– ล ลิง) เป็นพื้น มีที่สะกดเป็น “สาฬิกา” (-ฬิ- ฬ จุฬา) อยู่บ้าง แต่ไม่พบที่เป็น “สาริกา” (-ริ– ร เรือ)

ในภาษาไทยสะกดอย่างไร?

เคยพบมีผู้สะกดเป็น “นกสาริกา” (-ริ– ร เรือ) อยู่บ่อย ๆ ถามว่า ในเมื่อบาลีสันสกฤตสะกดเป็น “สาริกา” ก็มี การสะกดคำนี้ในภาษาไทยเป็น “สาริกา” ก็ควรจะใช้ได้ ไม่ถือว่าผิดมิใช่หรือ? 

ตอบว่า บาลีสันสกฤตที่ปรากฏในตำรา ยังสะกดอีกหลายแบบ คือเป็น “สาลิย” “สาลิยา” “สาฬิก” “สาฬิกา” รวมทั้ง “สาริกา” และ “สาลิกา” ซึ่งก็ควรจะใช้ได้ ไม่ถือว่าผิดทั้งนั้น 

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 อันเป็นมาตรฐานการสะกดคำภาษาไทยในปัจจุบัน สะกดคำนี้เป็น “สาลิกา” (-ลิ– ล ลิง) และไม่ได้บอกว่าคำนี้สะกดเป็น “สาริกา” ก็ได้

ก็จึงได้คำตอบที่เป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน คือนกชนิดนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “สาลิกา” (-ลิ– ล ลิง)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เคารพกฎเกณฑ์ทางภาษาของตัวเอง

: คือเคารพตัวเอง

——————–

หมายเหตุ: ภาพประกอบเป็นข้อมูลเบื้องต้น โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปอ้างอิง

#บาลีวันละคำ (4,201)

13-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *