วาทกรรม (บาลีวันละคำ 496)
วาทกรรม
อ่านว่า วา-ทะ-กำ
บาลีเป็น “วาทกมฺม” อ่านว่า วา-ทะ-กำ-มะ
ประกอบด้วย วาท + กมฺม = วาทกมฺม > วาทกรรม
“วาท” มีความหมายว่า การพูด, คำพูด, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, คำสอน, หลักความเชื่อ
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
“วาทกรรม” แปลตามศัพท์ว่า “การทำคำพูด” มีความหมายว่า การถกเถียง, การตั้งหลักทฤษฎี, การตั้งหลักความคิดและโต้แย้งความคิดกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
“วาทกรรม” เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นจากภาษาอังกฤษว่า discourse ตามแนวคิดของ มิแช็ล ฟูโก (Michel Foucault) นักคิดชาวฝรั่งเศส
แนวคิดของ วาทกรรม สรุปได้ดังนี้ –
1. มีการแสดงความเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อให้คนทั้งหลายเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นเช่นว่านั้นจริง เช่นถูกจริง ผิดจริง ดีจริง ชั่วจริง ฯลฯ นี่คือเริ่มเป็น “วาทกรรม”
2. คนทั้งหลาย (= สังคม) ถูกครอบงำให้เห็นจริงไปกับวาทกรรมนั้น จนเกิดเป็นค่านิยม หรือความเชื่อตาม ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นความจริงตามนั้น
3. ดังนั้น คนอื่นๆ ก็อาจแสดงความเห็นต่อเรื่องนั้นเพื่อให้เห็นความจริงในแง่มุมอื่นๆ ได้อีก
รวม 1 – 2 – 3 เข้าด้วยกัน นี่แลคือความหมายของ “วาทกรรม”
วาทกรรม :
พระธรรมเหมือนยาวิเศษ
โรคภัยอาเพศไม่หายได้ด้วยการละเลงวาทกรรม
แต่หายได้ด้วยการลงมือทำให้ถูกวิธี
23-9-56