บาลีวันละคำ

วัตนาการ (บาลีวันละคำ 497)

วัตนาการ

อ่านว่า วัด-ตะ-นา-กาน

วัตนาการ” เป็นศัพท์วิชาการ มีคำอธิบายของผู้ใช้ศัพท์นี้ไว้ว่า –

วัตนาการ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงเท่านั้น มิได้มีความหมายว่า วัฒนาการ หรือวิวัฒนาการ ซึ่งหมายถึงความเจริญ

ตัวอย่างข้อความที่ใช้คำว่า “วัตนาการ” คือ “วัตนาการของแบบเรียนภาษาไทย” ซึ่งมีความหมายว่า แบบเรียนภาษาไทยตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร

วัตน” ภาษาบาลีเป็น “วตฺตน” (วัด-ตะ-นะ) มีความหมายว่า เคลื่อนไป, ดำเนินไป, ไปต่อไป, เกิดขึ้น, เป็นไป; ดำรงอยู่; มีชีวิตอยู่, เป็นอยู่; กระทำ (สำหรับท่านที่เห็นคำฝรั่งแล้วเข้าใจความหมายได้ชัดเจนขึ้น โปรดดูที่ฝรั่งแปลไว้ดังนี้ – moving on, upkeep, existence, continuance; to move, go on, proceed; to happen, take place, to be; to be in existence; to fare, to do)

อาการ” (บาลีอ่านว่า อา-กา-ระ) หมายถึง ภาวะ, สภาพ, ลักษณะ

วตฺตน + อาการ = วตฺตนาการ > วัตนาการ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เป็นไป

คำว่า “การเปลี่ยนแปลง” ในภาษาบาลีตรงกับคำว่า “วิปริณาม” (วิ-ปะ-ริ-นา-มะ) แปลว่า ความเปลี่ยนแปลง, ความแปรผัน, ความแปรปรวน, ความผันแปรเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิปริณาม” เป็นอังกฤษว่า change

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล change เป็นบาลีว่า วิปริณาม, วิปริวตฺตน

วตฺตน” กับ “วิปริวตฺตน” นั้นเป็นคำเดียวกัน แต่ “วิปริ-” ที่นำหน้าทำให้มีความหมายชัดเจนแน่นอนขึ้นว่า “วตฺตน” ธรรมดา

วิปริวตฺตน” แปลตามศัพท์ว่า “หมุนไปและแปลกไปจากเดิม” = เปลี่ยนแปลง

: โลกหมุนไปและแปลกไปจากเดิมตลอดเวลา

เราหยุดโลกไม่ได้ แต่หยุดตัวเองได้

—————

(ตามคำขอของท่านอาจารย์ เมธีวุฒินันทน์ ภาณุภัทรธนวัฒน์ ผู้มีชื่อและนามสกุลที่ทำให้หัวหมุนไปกับโลก)

24-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย