บาลีวันละคำ

ทวิภาคี (บาลีวันละคำ 3,389)

ทวิภาคี

สองรวมหนึ่ง

อ่านว่า ทะ-วิ-พา-คี

ประกอบด้วยคำว่า ทวิ + ภาคี

(๑) “ทวิ”

เขียนแบบบาลีเป็น “ทฺวิ” (มีจุดใต้ ทฺ) ออกเสียงตามลิ้นไทยว่า ทะ-วิ เสียง ทะ แผ่วๆ และควบกับ วิ หรือออกเสียงคำว่า ทุย-อิ้ เร็วๆ จะได้เสียง ทฺวิ ที่ถูกต้องที่สุด

“ทฺวิ” เป็นศัพท์สังขยา คือคำบอกจำนวน แปลว่า สอง (จำนวน ๒) (number two)

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ทฺวิ” :

“ทฺวิ” ในบาลีเมื่อไปสมาสกับคำอื่นอาจแปลงรูปได้อีกอย่างน้อย 5 รูป อาจจำเป็นสูตรง่ายๆ ว่า “ทฺวิ ทิ ทุ ทฺวา พา เทฺว”

ทฺวิ, ทฺวา, เทฺว 3 คำนี้อ่านเพื่อให้ได้เสียงที่ถูกต้องว่า ทุย-อิ้, ทัว-อา, ทัว-เอ

ตัวอย่าง :

(1) “ทิ” เช่น ทิช = “เกิดสองครั้ง” คือ นก, พราหมณ์

(2) “ทุ” เช่น ทุปฏวตฺถ = ผ้าสองชั้น

(3) “ทฺวา” เช่น ทฺวาทส จำนวน 12 เช่นในคำว่า ทวาทศมาส = 12 เดือน

(4) “พา” เช่น พาวีสติ = จำนวน 22

(5) “เทฺว” เช่น เทฺวภาว = ความเป็นสอง

คำว่า “โท” ในภาษาไทยที่แปลว่า สอง ก็เป็นรูปที่กลายมาจาก ทฺวิ คือ ทฺวิ > ทุ > โท

“ทฺวิ” ใช้ในภาษาไทยตามปกติเป็น “ทวี”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ทวี : (คำกริยา) เพิ่มขึ้น, มากขึ้น, เช่น งานทวีขึ้น. (ป., ส. ทฺวิ).”

โปรดสังเกตว่า ในบาลี “ทฺวิ” แปลว่า สอง ไม่ได้แปลว่า เพิ่มขึ้น

เข้าใจว่า “ทวี” ในภาษาไทยที่แปลว่า เพิ่มขึ้น นั้น คงเอาความหมายมาจาก “ทฺวิคุณ” ในสันสกฤต หรือ “ทิคุณ” ในบาลีที่แปลว่า “สองเท่า” ซึ่งมีความหมายว่า เพิ่มขึ้น แต่เมื่อใช้ในภาษาไทย ตัดคำว่า “คุณ” ออกไป เหลือแต่ “ทวี” แต่ยังคงใช้ในความหมายเท่ากับ “ทฺวิคุณ”

ในที่นี้คงใช้เป็น “ทวิ” ตามรูปเดิมในบาลี

(๒) “ภาคี”

อ่านว่า พา-คี ประกอบด้วย ภาค + อี ปัจจัย

(ก) “ภาค” บาลีอ่านว่า พา-คะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ภชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค

: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จำแนกผลดีหรือไม่ดีให้มากขึ้น”

(2) ภชฺ (ธาตุ = เสพ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค

: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลเสพ”

(3) ภาชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ค

: ภาชฺ + ณ = ภาชณ > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาแบ่งออก”

“ภาค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) ส่วน, ภาค, อนุภาค, ส่วนแบ่ง (part, portion, fraction, share)

(2) ส่วน (ของเงิน) ที่แบ่งให้, ค่าธรรมเนียม, ค่าจ้างรางวัล (apportioned share (of money), fee, remuneration)

(3) ส่วนของพื้นที่, สถานที่, ภูมิภาค (division of space, quarter, side, place, region)

(4) ส่วนของเวลา, เวลา (division of time, time)

ในที่นี้ “ภาค” ใช้ในความหมายว่า “ส่วน” ตามข้อ (1)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ภาค, ภาค- : (คำนาม) ส่วน เช่น ภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ, ฝ่าย เช่น ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคเหนือ ภาคใต้, บั้น, ตอน, เช่น หนังสือภูมิศาสตร์ภาคต้น หนังสือประวัติศาสตร์ภาคปลาย พงศาวดารภาค ๑, คราว เช่น การศึกษาภาคฤดูร้อน, ส่วนของประเทศที่แบ่งออกเป็นส่วนย่อยเพื่อสะดวกในด้านการปกครองการศึกษา การทหาร เป็นต้น เช่น เจ้าคณะภาค แม่ทัพภาค. (ป.).”

(ข) ภาค + อี ปัจจัยในตัทธิต (ตัทธิต : ศัพท์จำพวกหนึ่งที่ลงปัจจัยแทนความหมายต่างๆ) อี-ปัจจัย ในที่นี้มีความหมายว่า “มี”

: ภาค + อี = ภาคี

รูปวิเคราะห์ (กระบวนการแยกส่วนประกอบเพื่อหาความหมาย) ของ “ภาคี” คือ –

ภาโค อสฺส อตฺถีติ ภาคี : ส่วนของผู้นั้นมีอยู่ ดังนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า “ภาคี = ผู้มีส่วน”

ภาคี เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง ผู้มีส่วนร่วม มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าเป็นพวกเป็นฝ่ายในเรื่องนั้นๆ ในกิจนั้นๆ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภาคี” ว่า sharing in, partaking of, endowed with; getting, receiving (มีส่วนแบ่งหรือเข้าร่วม, เข้าไปร่วม, เพียบพร้อมด้วย-; ได้มา, ได้รับ)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ภาคี : (คำนาม) ผู้มีส่วน, ผู้เป็นฝ่าย. (ป.; ส. ภาคินฺ).”

ทวิ + ภาคี = ทวิภาคี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีส่วนทั้งสอง” หมายถึง มีส่วนในสิ่งนั้นร่วมกันทั้ง ๒ ฝ่าย หรือฝ่ายหนึ่งมีอีกฝ่ายหนึ่งรวมอยู่ด้วย ไม่ได้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว

“ทวิภาคี” ในภาษาไทยเป็นศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสภา) เทียบคำอังกฤษว่า bilateral

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล bilateral เป็นบาลีดังนี้:

dvipassika ทฺวิปสฺสิก (ทุย-อิ้-ปัด-สิ-กะ) = มีสองข้าง, มีสองฝ่าย

ขยายความ :

คำว่า “ทวิภาคี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

“ทวิภาคี : (คำที่ใช้ในการทูต) (คำวิเศษณ์) สองฝ่าย. (คำนาม) เรียกสัญญาระหว่างประเทศที่มีคู่สัญญา ๒ ฝ่ายว่า สัญญาทวิภาคี (bilateral treaty).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

“ทวิภาคี : (คำที่ใช้ในการทูต) (คำวิเศษณ์) ๒ ฝ่าย. (คำนาม) เรียกสัญญาระหว่างประเทศที่มีคู่สัญญา ๒ ฝ่าย ว่า สัญญาทวิภาคี. (bilateral treaty).”

ชวนสังเกต :

คำนิยามในพจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2542 กับฉบับ พ.ศ.2554 แตกต่างกันตรงไหน ใครเห็นบ้าง

ข้อความไม่ต่างกันเลย ตรงกันทุกคำ ที่ต่างก็คือวิธีเขียน หรือการสะกดคำ

ข้อความเป็นคำนิยามคำแรก พจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2542 สะกดเป็น “สองฝ่าย” พจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2554 สะกดเป็น “๒ ฝ่าย”

พจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2542 สะกดเป็นตัวอักษร > “สองฝ่าย”

พจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2554 สะกดเป็นตัวเลข > “๒ ฝ่าย”

น่าเสียดายที่เราไม่ได้ทราบเหตุผลที่สะกดต่างกัน ถ้าทราบ ก็จะเป็นความรู้เพิ่มขึ้น

แถม :

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ทวิภาคี” เป็นคำที่ใช้ในการทูต แต่เท่าที่ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ทราบมา คำนี้ได้นำมาใช้ในระบบการศึกษาอาชีวะหรือเทคนิคด้วย

กล่าวคือ ผู้ที่ทำงานกับสถานประกอบการ และมีวุฒิการศึกษาตรงตามระดับที่สถานศึกษากำหนด ทางสถานประกอบการคัดเลือกส่งไปเรียนระดับ ปวช. หรือ ปวส. โดยทำความตกลงกับสถานศึกษาในรายละเอียด เช่น วัน-เวลาที่จะเข้าเรียนเป็นต้น สถานศึกษาเรียกนักศึกษาประเภทนี้ว่า “นักศึกษาทวิภาคี” ในความหมายว่า เป็นนักศึกษาตามข้อตกลง ๒ ฝ่าย คือฝ่ายสถานศึกษาและฝ่ายสถานประกอบการ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำข้อตกลง ต้องรอทวิภาคี

: ทำความดี ไม่ต้องรอใคร

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *