บาลีวันละคำ

ทฤษฎี > ทิศดี (บาลีวันละคำ 2,969)

ทฤษฎี > ทิศดี

ลูกเล่นของภาษาไทย

บาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำบางคำที่ออกเสียงเหมือนกันหรืออ่านให้มีเสียงเหมือนกัน แต่รูปศัพท์ต่างกัน โดยยกคำว่า “ทฤษฎี” และ “ทิศดี” เป็นตัวอย่าง

(๑) “ทฤษฎี

อ่านว่า ทฺริด-สะ-ดี บาลีเป็น “ทิฏฺฐิ” อ่านว่า ทิด-ถิ รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ติ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ทิสฺ > ทิ), แปลง ติ เป็น ฏฺฐิ

: ทิสฺ + ติ = ทิสติ > ทิติ > ทิฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง ความคิดเห็น, ความเชื่อ, หลักลัทธิ, ทฤษฎี, การเก็ง, ทฤษฎีที่ผิด, ความเห็นที่ปราศจากเหตุผลหรือมูลฐาน (view, belief, dogma, theory, speculation, false theory, groundless or unfounded opinion)

ในภาษาธรรม ถ้าพูดเฉพาะ “ทิฏฺฐิ” จะหมายถึง ความเห็นผิด

ถ้าต้องการชี้เฉพาะ จะมีคำบ่งชี้นำหน้า คือ “มิจฺฉาทิฏฺฐิ” = ความเห็นผิดสมฺมาทิฏฺฐิ” = ความเห็นถูก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทิฐิ : (คำนาม) ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด; ความอวดดื้อถือดี เช่น เขามีทิฐิมาก. (ป. ทิฏฺฐิ; ส. ทฺฤษฺฏิ).”

ทิฏฺฐิ” ในบาลี เป็น “ทฺฤษฏิ” ในสันสกฤต และเป็น “ทฤษฎี” ในภาษาไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ทฤษฎี : (คำนาม) ความเห็น; การเห็น, การเห็นด้วยใจ; ลักษณะที่คิดคาดเอาตามหลักวิชา เพื่อเสริมเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างมีระเบียบ. (ส.; ป. ทิฏฺฐิ). (อ. theory).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่เป็น –

ทฤษฎี : (คำนาม) หลักการทางวิชาการที่ได้ข้อสรุปมาจากการค้นคว้าทดลองเป็นต้น เพื่อเสริมเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ เช่น ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก ทฤษฎีแสง. (ส.; ป. ทิฏฺฐิ). (อ. theory).”

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล theory เป็นบาลีว่า –

(1) mata มต (มะ-ตะ) = สิ่งที่ถูกเรียนรู้

(2) diṭṭhi ทิฏฺฐิ (ทิด-ถิ) = ความเห็น ตรงกับที่เราใช้ว่า ทฤษฎี

(3) vāda วาท (วา-ทะ) = ถ้อยแถลง, หลักความรู้, ลัทธิคำสอน

(๒) “ทิศดี

เป็นคำที่ล้อเสียงคำว่า “ทฤษฎี” ที่อ่านว่า ทฺริด-สะ-ดี ซึ่งมักอ่านแบบรักง่ายว่า ทิด-สะ-ดี จึงมีผู้จับเอาเสียง ทิด-สะ-ดี ไปเขียนแบบไทยว่า “ทิศดี” คือ ทิศ + ดี

ทิศ” บาลีเป็น “ทิสา” รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ทิสฺ + = ทิส + อา = ทิสา แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ปรากฏโดยการโคจรของดวงจันทร์เป็นต้นว่าทางนี้อยู่ข้างหน้า ทางนี้อยู่ข้างหลัง” หมายถึง ทิศ, ภาค, ที่ตั้ง, ทิศทาง (point of the compass, region, quarter, direction, bearings)

ทิศ + ดี = ทิศดี หมายถึง ทิศที่ดี, ทิศที่ถือว่าเป็นมงคลประจำวันนั้นๆ

ทิศดี” จงใจอ่านว่า ทิด-สะ-ดี เพื่อล้อเสียงคำว่า “ทฤษฎี

ทฤษฎี > ทิศดี

ยังมีคำอื่นอีก เท่าที่พอจะนึกได้เฉพาะหน้าในเวลานี้ก็เช่น –

(1) ทรัพยากร > ทรัพย์พยากรณ์

เอาเสียงอ่าน ซับ-พะ-ยา-กอน มาเขียนให้เป็นรูปคำใหม่ คือ ทรัพย์ + พยากรณ์ = ทรัพย์พยากรณ์

“ทรัพย์พยากรณ์” เป็นคำที่เขียนผิด คือตั้งใจให้หมายถึง “ทรัพยากร” แต่ผู้เขียนเข้าใจผิด อ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่ไปคนละเรื่อง

(2) พระธรรม > พระทำ

พระธรรม = หลักธรรมคำสอน

พระทำ = พระภิกษุเป็นผู้ทำ

(3) เคานต์ดาวน์ > เค้าดาว

“เคานต์ดาวน์” เป็นคำฝรั่ง Countdown แปลว่า “นับลง” หรือที่แปลกันทั่วไปว่า “นับถอยหลัง” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คนสมัยใหม่นิยมทำกันในเวลาสิ้นปีเก่าและขึ้นปีใหม่

“เค้าดาว” เป็นชื่อคน เป็นคำไทยแท้ๆ มีความหมายว่า “มีลักษณะเหมือนดาว” หรือพูดเป็นลีลาภาษาว่า “มีประพิมพ์ประพายคล้ายดวงดารา

ญาติมิตรที่อ่านบาลีวันละคำอาจนึกคำอื่นๆ ได้อีกมาก

คำเช่นนี้อาจไม่มีสาระ เป็นเพียงการนึกสนุกทางภาษาเท่านั้น แต่คนที่มีความคิดอาจเอาไปทำให้เป็นสาระขึ้นมาได้ เช่นอาจคิดทำเป็นพจนานุกรมคำพ้องเสียงเล่นสนุกๆ พอเป็นเครื่องบันเทิงทางภาษาได้เหมือนกัน

…………..

29 กรกฎาคม วันภาษาไทยแห่งชาติ

บาลีวันละคำร่วมกิจกรรมช่วยกันทำให้เห็นความสำคัญของภาษาของชาติ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พูดภาษาไทย

: พูดภาษาธรรม

#บาลีวันละคำ (2,969)

29-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *