ขันธมาร (บาลีวันละคำ 3,567)
ขันธมาร
คือร่างกายสังขารของแต่ละคน
ประกอบด้วยคำว่า ขันธ + มาร
(๑) “ขันธ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ขนฺธ” อ่านว่า ขัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ขํ (อวัยวะ; ความว่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ ขํ เป็น นฺ (ขํ > ขนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา ธาตุ (ธา > ธ)
: ขํ > ขนฺ + ธา = ขนฺธา > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ธำรงอวัยวะคืออินทรีย์ไว้” (2) “ส่วนที่ธำรงความว่างเปล่าไว้”
(2) ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ขาทฺ เป็น ขนฺธ
: ขาทฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคี้ยวกินอวัยวะ”
(3) ขชฺชฺ (ธาตุ = กิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ขชฺชฺ เป็น ขนฺธ
: ขชฺชฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันทุกข์มีความเกิดความแก่เป็นต้นกิน”
(4) ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + ธ ปัจจัย
: ขนฺ + ธ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนอันเขาขุดขึ้นได้ด้วยญาณ” (คือต้องใช้ปัญญาจึงจะรู้จักตัวจริงของขันธ์) (2) “ส่วนอันทุกข์ขุดขึ้น” (คือถูกทุกข์กัดกินตลอดเวลา)
“ขนฺธ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร (bulk, massiveness [gross] substance)
(2) ลำตัว, คือหลังของช้าง (the bulk of the body, i. e. elephant’s back)
(3) ไหล่หรือหลัง (the shoulder or back)
(4) ลำต้น (the trunk)
(5) หมวด, บท, เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่ (section, chapter, material as collected into uniform bulk)
(6) ตัว, การรวมตัว, หรือส่วนต่าง ๆ ของ- (the body of, a collection of, mass, or parts of)
ในภาษาไทยใช้เป็น “ขันธ์” ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย สะกดเป็น “ขันธ-” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขันธ์ : (คำนาม) ตัว, หมู่, กอง, พวก, หมวด, ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ ขันธ์ทั้ง ๕. (ป.; ส. สกนฺธ).”
(๒) “มาร”
บาลีอ่านว่า มา-ระ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ม-(รฺ) เป็น อา (มรฺ > มาร) ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ”
: มรฺ + ณ = มรณ > มร > มาร แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ยังกุศลธรรมให้ตาย” คือมารเข้าที่ไหน ความดีที่มีอยู่ในที่นั้นก็ถูกทำลายหมดไป ความดีใหม่ๆ ก็ทำไม่ได้
(2) “ผู้เป็นเครื่องหมายแห่งความเศร้าหมองยังความดีให้ตาย” คือไม่ใช่ฆ่าความดีให้ตายอย่างเดียว หากแต่ยังก่อให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะอีกด้วย
สรุปว่า “มาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ตาย” มีความหมายว่า สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาร” ว่า Death, the Evil one, the Tempter (ความตาย, คนชั่วร้าย, นักล่อลวง)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มาร, มาร- : (คำนาม) เทวดาจําพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ทําบุญ; ยักษ์; ผู้ฆ่า, ผู้ทำลาย, ในพระพุทธศาสนาหมายถึงผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง. (ป., ส.).”
ขนฺธ + มาร = ขนฺธมาร บาลีอ่านว่า ขัน-ทะ-มา-ระ เขียนแบบไทยเป็น “ขันธมาร” อ่านว่า ขัน-ทะ-มาน แปลว่า “มารคือขันธ์”
คำว่า “ขันธมาร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
“ขันธ์” ท่านจัดเป็น “มาร” ประเภทหนึ่ง ในจำนวนมารทั้ง 5 คือ :
(1) กิเลสมาร – มารคือกิเลส
(2) ขันธมาร – มารคือเบญจขันธ์ คือร่างกาย
(3) อภิสังขารมาร – มารคือเจตนาที่เป็นตัวปรุงแต่งการกระทำให้เป็นต่างๆ
(4) เทวปุตตมาร – มารคือเทพบุตร คือเทวดาที่เป็นพาล
(5) มัจจุมาร – มารคือความตาย
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [234] บอกความหมายของ “ขันธมาร” ไว้ดังนี้ –
…………..
2. ขันธมาร (มารคือเบญจขันธ์, ขันธ์ 5 เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง มีความขัดแย้งกันเองอยู่ภายใน ไม่มั่นคงทนนาน เป็นภาระในการบริหาร ทั้งแปรปรวนเสื่อมโทรมไปเพราะชราพยาธิเป็นต้น ล้วนรอนโอกาสมิให้บุคคลทำกิจหน้าที่ หรือบำเพ็ญคุณความดีได้เต็มปรารถนาอย่างแรง อาจถึงกับพรากโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง — Khandha-māra: the Māra of the aggregates)
…………..
ดูก่อนภราดา!
ขันธ์ –
: ถ้าโง่ก็เป็นทาส
: ถ้าฉลาดก็เป็นนาย
19-03-65
……………………………
ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย…………………………….