ความคิดความเห็นของคน
ความคิดความเห็นของคน
—————————
ใครเป็นอย่างนี้บ้างครับ-เวลารับรู้ความคิดความเห็นของคนจากการคุยกัน การอ่าน การฟัง มีอยู่บ่อยๆ ที่เราสงสัยว่า ทำไมเขาจึงคิดอย่างนั้น? อะไรทำให้เขาคิดอย่างนั้น?
โดยเฉพาะความคิดเห็นเกี่ยวกับศาสนาและสังคม
คนรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อย อาจไม่รู้สึกว่าใครคิดอะไรมองอะไรแปลกประหลาด ทั้งนี้เพราะสิ่งที่ตนสัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นของร่วมสมัย คือมองอะไรคิดอะไรก็คล้ายๆ กันไปหมด
แต่ถ้าคนรุ่นใหม่คนนั้นมีบุญ อายุยืนไปจนถึงเป็นคนแก่หรือคนสูงอายุ คราวนี้แหละจะเริ่มรู้สึกว่าผู้คนในสังคมคิดอะไรทำอะไรแปลกๆ
ถึงตอนนั้น ถ้าไม่มีหลักอะไรไว้บ้างก็จะเริ่มหงุดหงิดกับความคิดของผู้คน
ผมก็เคยรู้สึกแบบนั้น
แต่โชคดีที่พอจะมีหลักคิด
มีอยู่ ๒ เรื่องที่ใคร่ขอแนะนำให้อ่านหรือศึกษาไว้เป็นหลัก นั่นคือเรื่องศาสนาอันตรธาน และเรื่องทำนายปัตถเวน
เรื่องศาสนาอันตรธานเป็นการอธิบายถึงความเสื่อมของศาสนา
เรื่องทำนายปัตถเวนเป็นการอธิบายถึงความเสื่อมของสังคม
พระสูตรที่อธิบายถึงความเสื่อมของสังคมที่ควรศึกษาไว้ด้วยคือจักกวัตติสูตร
พอได้หลักแล้ว เห็นการกระทำและความคิดของคนในปัจจุบัน ก็จะเข้าใจหรือพอเข้าใจได้ หรืออาจจะอุทานกับตัวเองว่า อ้อ มันอย่างนี้นี่เอง
ยกตัวอย่างเป็นกรณีศึกษาสักเรื่องหนึ่ง
ตั้งคำถามว่า ระหว่างพระที่ปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานกับพระที่ช่วยเหลือสังคม ท่านชอบพระแบบไหนมากกว่ากัน
คนสมัยนี้จะบอกว่า พระที่ช่วยเหลือสังคมดีกว่า
เหตุผลคือ พระที่ปฏิบัติเพื่อไปนิพพานเป็นพระที่เอาตัวรอดไปคนเดียว สังคมไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วย
ฟังความคิดเห็นแบบนี้แล้ว ถ้าเรามีหลักหรือจับหลักได้ เราก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ผู้ที่มีความเห็นแบบนี้ไม่เคยรู้หรือไม่เข้าใจเป้าหมายของการออกบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา หรือจะว่าเข้าใจคลาดเคลื่อนก็ได้
พระ-ถ้าจะช่วยสังคม จะต้องบวชทำไม เดิมก็เป็นชาวบ้านอยู่แล้ว อยู่เป็นชาวบ้านก็ช่วยสังคมได้มิใช่หรือ
ถ้าใครแย้งอย่างนี้ เขาก็จะอ้างเหตุผลว่า บวชเป็นพระช่วยได้มากกว่า เพราะเป็นพระย่อมมีคนศรัทธาเลื่อมใส เป็นผู้นำทำอะไรคนก็พร้อมที่จะสนับสนุน เป็นชาวบ้านธรรมดาคนไม่สนับสนุนเหมือนเป็นพระ
ดูแต่ครูบาศรีวิชัยเป็นตัวอย่าง ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาจะพาชาวบ้านสร้างทางขึ้นดอยสุเทพสำเร็จหรือ ที่ทำได้ก็เพราะเป็นพระ เพราะฉะนั้น พระจึงควรช่วยสังคม ไม่ใช่ตั้งหน้าจะไปแต่นิพพาน
ถึงตอนนี้จะควรจะตั้งคำถามให้ลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่งว่า เพราะเหตุอะไรกันเล่าเป็นพระแล้วจึงมีคนศรัทธาเลื่อมใสพร้อมที่จะสนับสนุน?
ถามสั้นๆ – คนศรัทธาเลื่อมใสพระเพราะอะไร?
ตรงนี้แหละที่เราควรจะฉุกคิดได้
เป็นชาวบ้านธรรมดาเหมือนๆ กัน ไม่มีคนศรัทธา
แต่พอเป็นพระ มีคนศรัทธา
คนศรัทธาพระที่ตรงไหน
และตรงนี้แหละถ้ามองไม่ออก ก็จะบอกไม่ถูก หรือบอกผิดไปด้วย
คือคนศรัทธาก็ศรัทธาแบบผิดๆ
คนที่เห็นว่าเพราะบวชพระจึงมีคนศรัทธา ก็จะเอาความศรัทธานั้นไปอ้างผิดๆ ตามไปด้วย
เรื่องนี้ผมเคยอธิบายมาแล้ว แต่ไม่เบื่อที่จะอธิบายอีก
คือ-เดิมทีโลกนี้ก็ไม่มีพระภิกษุสงฆ์
คนเกิดมาก็เป็นชาวบ้าน ไม่ได้เป็นพระภิกษุสงฆ์มาตั้งแต่เกิด
ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วทรงแสดงธรรมคำสอนและแสดงวิธีที่จะบรรลุถึงพระนิพพาน ก็มีคนที่ฟังแล้วมีศรัทธาออกบวชตามพระพุทธเจ้าเพื่อปฏิบัติธรรม-ปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุพระนิพพาน
นี่คือเป้าหมายของการบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
คำขอบวชในพิธีอุปสมบทของชายไทยเคยมีคำว่า “นิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ” ซึ่งแปลว่า “เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน” อยู่ด้วยอย่างชัดเจน
คำนี้เพิ่งมาถูกตัดออกเมื่อราวๆ ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี่เอง เมื่อชักจะรู้สึกกันว่า ปัจจุบันนี้ผู้ขอบวชไม่ได้บวชเพราะตั้งใจจะไปนิพพานจริงๆ ถ้ายังมีข้อความนี้ก็เหมือนกับพูดโกหกกัน
แต่ได้ยินว่า บางวัดบางสำนักยังมีคำนี้ปรากฏอยู่ในคำขอบวชด้วย
ฝ่ายคนที่มีศรัทธาแต่ยังไม่พร้อมที่จะออกบวช ก็ยินดีพอใจที่จะสนับสนุนคนที่ออกบวช ถอดหัวใจออกมาพูดก็เหมือนพูดว่า-เออ เอ็งเก่ง ข้ายังไม่พร้อม แต่ข้าจะช่วย เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ไม่ต้องห่วง ตั้งหน้าปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพานไปเถอะ
นี่คือเหตุผลที่ถูกต้องที่ชาวบ้านศรัทธาเลื่อมใสพระ
พระบวชเพื่อจะไปพระนิพพาน
ชาวบ้านยินดีด้วย จึงศรัทธาเลื่อมใสสนับสนุนพระ
หลักการที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้
แต่ทุกวันนี้ผิดเพี้ยนเบี่ยงเบน บวชแล้วช่วยเหลือสังคมดีกว่าบวชแล้วไปพระนิพพาน-คนรุ่นใหม่ว่าอย่างนี้
แล้วเราก็พากันจับเอาจุดที่เบี่ยงเบนนั้นมานิยมชมชื่น พร้อมกับมีเหตุผลร้อยแปด ใครเถียงแย้งเป็นอย่างอื่นก็แพ้หมด ผิดหมดด้วย
บวชแล้วไปนิพพาน เห็นแก่ตัว
บวชแล้วทำอย่างอื่น-เช่นช่วยสังคม ดีมากๆ
………………….
ใครที่เข้าใจไปว่า-บวชแล้วไปนิพพาน เห็นแก่ตัว-ถ้าฉุกคิดสักนิดก็จะรู้ว่าเข้าใจผิดถนัด
พระพุทธเจ้าท่านบรรลุพระนิพพานเมื่ออายุ ๓๕ แล้วทำงานรับใช้มวลมนุษยชาติจนเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่ออายุ ๘๐ ท่านไม่ได้ทิ้งสังคมไปไหน
พระอรหันตสาวกเป็นอเนกอนันต์บรรลุพระนิพพานแล้วก็ยังอยู่กับสังคม ทำประโยชน์ให้สังคมกันทุกองค์
มีพระอัญญาโกณฑัญญะองค์เดียวที่ทำงานช่วยสังคมอยู่เพียงระยะหนึ่งแล้วทูลขออนุญาตไปอยู่ป่าหิมพานต์ เนื่องจากท่านอายุมาก ไม่คล่องตัวเหมือนตอนแรกๆ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้พระอรหันตสาวกทั้งหลายทำงานรับใช้สังคมได้อย่างสะดวกใจ ไม่ต้องมามัวเกรงใจท่านเนื่องจากท่านอาวุโสกว่าพระอรหันต์ทั้งหมดในเวลานั้น
ยืนยันได้ว่า ผู้บรรลุพระนิพพานไม่ใช่คนเอาตัวรอด ไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว ตรงกันข้ามเป็นกลุ่มคนที่ทำงานรับใช้สังคมกันมากที่สุด โดยใช้ทรัพยากรของสังคมน้อยที่สุด แต่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
บรรลุพระนิพพานเป็นคนเห็นแก่ตัว เอาตัวรอดไปคนเดียว-ถูกวาดภาพให้เข้าใจผิดจนถึงระดับโลก นั่นคือ จัดแจงเรียกพระพุทธศาสนาเถรวาทว่า “หีนยาน” หมายความว่า ยานที่คับแคบ ใจแคบ ไปได้แต่ตัวคนเดียว ไม่ช่วยคนอื่น ไม่ช่วยสังคม
พวกเราส่วนมากก็พลอยยอมรับความเข้าใจผิดๆ แบบนี้ไปกับเขาด้วย
ข้อเท็จจริงกลายเป็นว่า ผู้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุพระนิพพานแล้วกลับทำงานช่วยเหลือผู้อื่น-ช่วยเหลือสังคมได้อย่างมหาศาล เพราะตัวเองถึงจุดหมายปลายทางแล้ว หวนกลับมาช่วยผู้อื่นได้อย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรจะต้องห่วง
ไม่ใช่ว่าถึงปลายทางแล้วหายลับไปจากโลกอย่างที่ถูกวาดภาพผิดๆ
พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกเป็นอเนกอนันต์ทำงานช่วยเหลือสังคมเป็นประจักษ์พยานอยู่โต้งๆ ทำไมจึงมองไม่เห็นข้อเท็จจริง
ไปเอาภาพ-เถรวาทไปนิพพานเอาตัวรอดไปคนเดียว-มาจากไหน?
ผู้ที่ยังไม่บรรลุพระนิพพานจะช่วยมนุษย์ที่ยังไม่บรรลุให้ไปพระนิพพานได้ด้วยวิธีไหนจึงอ้างได้ว่าเป็นยานขนาดใหญ่พาคนไปได้มากๆ-ก็ช่วยกันไปเถิด เราไม่ได้ขัดขวางโต้แย้งอะไร
แต่ที่บอกชาวโลกว่า-เถรวาทไปนิพพานเอาตัวรอดไปคนเดียวนั้น ต้องขอแย้งว่า เข้าใจผิดอย่างยิ่ง
แต่พระต้องช่วยสังคมในฐานะเป็นพระภิกษุสงฆ์ คือทำงานของพระ ไม่ใช่เอางานของชาวบ้านมาทำหรือทำงานแทนชาวบ้าน
ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องปรับวิธีคิดหรือมุมมองให้ถูก ถ้ามองคนละมุมหรือมองผิดมุม ก็จะขัดใจกัน
ขอให้พิจารณาจากหลักการในพระไตรปิฎกต่อไปนี้ —
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ภิกษุที่บวชเข้ามาในพระศาสนาแล้วไปไม่ถึงเป้าหมายปลายทางของพระศาสนา เกิดจากเหตุหลายประการ-อุปมาเหมือนท่อนไม้ลอยน้ำ แต่ลอยไปไม่ถึงทะเลเพราะเหตุหลายประการ-หนึ่งในเหตุหลายประการก็คือ “มนุสฺสคฺคาโห ถูกมนุษย์จับไว้”
……………………………….
กตโม จ ภิกฺขุ มนุสฺสคฺคาโห ฯ
ดูก่อนภิกษุ ถูกมนุษย์จับไว้เป็นไฉน?
อิธ ภิกฺขุ คิหีหิ สํสฏฺโฐ วิหรติ สหนนฺทิ สหโสกี
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์
สุขิเตสุ สุขิโต
เขาสุขก็สุขด้วย
ทุกฺขิเตสุ ทุกฺขิโต
เขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย
อุปฺปนฺเนสุ กิจฺจกรณีเยสุ อตฺตโน โยคํ อาปชฺชติ ฯ
เขามีกิจกรณีย์เกิดขึ้น ก็เอาตัวเข้าร่วมไปกับเขาด้วย
อยํ วุจฺจติ ภิกฺขุ มนุสฺสคฺคาโห ฯ
ดูก่อนภิกษุ นี้เรียกว่าถูกมนุษย์จับไว้
……………………………….
ที่มา: ปฐมทารุขันธสูตร สังยุตนิกาย สฬายตนวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ ข้อ ๓๒๒-๓๒๔
……………………………….
ทัศนะที่เห็นว่า พระที่ช่วยสังคมดีกว่าพระปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพานนี้ ก็เท่ากับคำประกาศเตือนว่า ศาสนาอันตรธานเริ่มต้นในยุคสมัยเรานี่แล้ว
ทั้งนี้เพราะในเรื่องศาสนาอันตรธานท่านบรรยายไว้ว่า ภิกษุในอนาคตจะมีครอบครัว มีธุรกิจ มีบุตรภรรยาเหมือนชาวบ้าน
เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร?
เป็นได้อย่างนี้ —
แรกๆ ก็เข้าไปช่วยชาวบ้าน เขาขาดคนไถนา ก็ไปช่วยเขาไถนา เขาขาดคนเกี่ยวข้าว ก็ไปช่วยเขาเกี่ยวข้าว สรุปว่าเขาขาดคนทำอะไร พระก็เข้าไปช่วยเขาทำ ชาวบ้านก็ชื่นชมว่าพระช่วยชาวบ้านดีแท้ เห็นว่าพระทำงานเหมือนชาวบ้านเป็นเรื่องดีเป็นเรื่องปกติไปทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดพระทำอะไร มีอะไร เป็นอะไร เหมือนที่ชาวเขาทำเขามีเขาเป็น ชาวบ้านก็เห็นว่าเป็นเรื่องปกติไปหมด
เพราะฉะนั้น ภิกษุในอนาคตมีครอบครัว มีธุรกิจ มีบุตรภรรยาเหมือนชาวบ้าน ชาวบ้านจึงเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ
มันก็เริ่มต้นไปจากทัศนะที่ว่า-พระช่วยชาวบ้านเป็นเรื่องดีแท้-นี่เอง
เราท่านทุกวันนี้อยู่ไม่ทันได้เห็นสภาพเช่นนี้หรอก หลายท่านอาจแย้งว่า-มันจะเป็นแบบนั้นได้ยังไง พระมีลูกมีเมียเป็นพระได้ยังไง
ก็ทำนองเดียวกับ-ถ้าให้คนไทยเมื่อ ๒๐๐ ปีที่แล้วฟื้นขึ้นมาเห็นพระทุกวันนี้ทำนั่นทำนี่ (เช่นพระขับรถไปไหนมาไหนเหมือนชาวบ้านเป็นต้น) เขาก็จะต้องบอกว่า มันเป็นแบบนี้ได้ยังไง พระทำยังงี้เป็นพระได้ยังไง-ฉันใดก็ฉันนั้นนั่นแล
………………….
ทั้งหมดที่เขียนมานี้ก็เพื่อชวนคิดเท่านั้น
ถ้าเราคิดถูก เห็นถูก เราก็จะวางท่าทีต่อเรื่องนั้นๆ ได้ถูก
ไม่ไปทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ
และไม่ละเลยเพิกเฉยต่อสิ่งที่ควรทำ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๙ มีนาคม ๒๕๖๕
๑๗:๔๘
……………………………………..
ความคิดความเห็นของคน
……………………………………..