บาลีวันละคำ

วิญญาณขันธ์ (บาลีวันละคำ 3,576)

วิญญาณขันธ์

กองวิญญาณ – ขันธ์ที่ห้า

อ่านว่า วิน-ยา-นะ-ขัน

(ไม่ใช่ วิน-ยาน-ขัน)

ประกอบด้วยคำว่า วิญญาณ + ขันธ์

(๑) “วิญญาณ”

เขียนแบบบาลีเป็น “วิญฺญาณ” อ่านว่า วิน-ยา-นะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ญา (ธาตุ = รู้) + ยุ ปัจจัย, ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (วิ + ญฺ + ญา), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แปลง น เป็น ณ

: วิ + ญ + ญา = วิญฺญา + ยุ > อน = วิญฺญาน > วิญฺญาณ แปลตามศัพท์ว่า “ความรู้แจ้ง”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) บอกความหมายของ “วิญฺญาณ” ว่า วิญญาณ, จิต, ความรู้แจ้ง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “วิญฺญาณ” เป็นคำพิเศษในพุทธอภิปรัชญา (as special term in Buddhist metaphysics) และบอกความหมายของ “วิญฺญาณ” ไว้ดังต่อไปนี้ –

(1) a mental quality as a constituent of individuality (ลักษณะทางจิตใจอันเป็นองค์ประกอบของการเป็นคน)

(2) the bearer of [individual] life (ผู้ทรงชีวิต)

(3) life-force [as extending also over rebirths] (กำลังของชีวิต [ซึ่งแผ่ขยายออกไปถึงการเกิดใหม่ด้วย])

(4) principle of conscious life (หลักของชีวิตที่ยังไม่ดับ)

(5) general consciousness [as function of mind and matter] (ความรู้สึกโดยทั่วๆ ไป [ในฐานเป็นหน้าที่ของใจและกาย])

(6) regenerative force (พลังซึ่งให้ชีวิตใหม่)

(7) animation (การทำให้มีชีวิต)

(8 ) mind as transmigrant, as transforming [according to individual kamma] one individual life [after death] into the next (ใจ ในฐานเป็นธรรมชาติที่ย้ายที่ได้ และเปลี่ยนแปลงชีวิต [หลังตาย] ไปสู่ชีวิตอนาคต [ตามกรรมเฉพาะตัว])

หมายเหตุ :

เราฟังที่ฝรั่งแปลไว้เป็นการศึกษา แต่ไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือเห็นด้วยกับความหมายที่ฝรั่งบอกไว้ทุกอย่างไป

บาลี “วิญฺญาณ” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “วิญญาณ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

“วิญญาณ : (คำนาม) สิ่งที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในกายเมื่อมีชีวิต เมื่อตายจะออกจากกายล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่; ความรับรู้ เช่น จักษุวิญญาณ คือ ความรับรู้ทางตา โสตวิญญาณ คือ ความรับรู้ทางหู เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ; โดยปริยายหมายถึงจิตใจ เช่น มีวิญญาณนักสู้ มีวิญญาณศิลปิน. (ป.; ส. วิชฺญาน).”

(๒) “ขันธ์”

เขียนแบบบาลีเป็น “ขนฺธ” อ่านว่า ขัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ขํ (อวัยวะ; ความว่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ ขํ เป็น นฺ (ขํ > ขนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา ธาตุ (ธา > ธ)

: ขํ > ขนฺ + ธา = ขนฺธา > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ธำรงอวัยวะคืออินทรีย์ไว้” (2) “ส่วนที่ธำรงความว่างเปล่าไว้”

(2) ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ขาทฺ เป็น ขนฺธ

: ขาทฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคี้ยวกินอวัยวะ”

(3) ขชฺชฺ (ธาตุ = กิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ขชฺชฺ เป็น ขนฺธ

: ขชฺชฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันทุกข์มีความเกิดความแก่เป็นต้นกิน”

(4) ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + ธ ปัจจัย

: ขนฺ + ธ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนอันเขาขุดขึ้นได้ด้วยญาณ” (คือต้องใช้ปัญญาจึงจะรู้จักตัวจริงของขันธ์) (2) “ส่วนอันทุกข์ขุดขึ้น” (คือถูกทุกข์กัดกินตลอดเวลา)

“ขนฺธ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร (bulk, massiveness [gross] substance)

(2) ลำตัว, คือหลังของช้าง (the bulk of the body, i. e. elephant’s back)

(3) ไหล่หรือหลัง (the shoulder or back)

(4) ลำต้น (the trunk)

(5) หมวด, บท, เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่ (section, chapter, material as collected into uniform bulk)

(6) ตัว, การรวมตัว, หรือส่วนต่าง ๆ ของ- (the body of, a collection of, mass, or parts of)

ในภาษาไทย “ขนฺธ” ใช้เป็น “ขันธ์” (ขัน) ในที่นี้หมายถึง ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [216] บอกความหมายของ “ขันธ์” ในขันธ์ 5 ไว้ดังนี้ –

…………..

ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา–เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบห้าอย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต — Pañca-khandha: the Five Groups of Existence; Five Aggregates)

…………..

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ขันธ์ : (คำนาม) ตัว, หมู่, กอง, พวก, หมวด, ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ ขันธ์ทั้ง ๕. (ป.; ส. สกนฺธ).”

วิญฺญาณ + ขนฺธ ซ้อน กฺ

: วิญฺญาณ + กฺ + ขนฺธ = วิญฺญาณกฺขนฺธ บาลีอ่านว่า วิน-ยา-นัก-ขัน-ทะ ในภาษาไทยใช้เป็น “วิญญาณขันธ์” อ่านว่า วิน-ยา-นะ-ขัน แปลตามแบบว่า “กองแห่งวิญญาณ”

ข้อสังเกตแถม :

ชื่อขันธ์ทั้ง 5 ที่เป็นภาษาบาลีมีดังนี้ –

(1) รูปกฺขนฺธ (รู-ปัก-ขัน-ทะ)

(2) เวทนากฺขนฺธ (เว-ทะ-นาก-ขัน-ทะ)

(3) สญฺญากฺขนฺธ (สัน-ยาก-ขัน-ทะ)

(4) สงฺขารกฺขนฺธ (สัง-ขา-รัก-ขัน-ทะ)

(5) วิญฺญาณกฺขนฺธ (วิน-ยา-นัก-ขัน-ทะ)

โปรดสังเกตว่า –

“รูปกฺขนฺธ” (รู-ปัก-ขัน-ทะ) ไม่ใช่ “รูปากฺขนฺธ” (รู-ปาก-ขัน-ทะ)

“เวทนากฺขนฺธ” (เว-ทะ-นาก-ขัน-ทะ) ไม่ใช่ “เวทนกฺขนฺธ” (เว-ทะ-นัก-ขัน-ทะ)

ทำไม “รูปกฺขนฺธ” จึงไม่เป็น “รูปากฺขนฺธ” จะได้สมรูปกับ “เวทนากฺขนฺธ” (เสียง -อา- เหมือนกัน)

หรือทำไม “เวทนากฺขนฺธ” จึงไม่เป็น “เวทนกฺขนฺธ” จะได้สมรูปกับ “รูปกฺขนฺธ” (เสียง -อัก- เหมือนกัน)

คำตอบคือ เพราะรูปเดิมของศัพท์หน้าแต่ละศัพท์ พยางค์ท้ายต่างสระกัน เรียกเป็นภาษาไวยากรณ์ว่า การันต์ต่างกัน หรือคนละการันต์กัน

รูป- เป็น อะ-การันต์ ไม่ใช่ รูปา รูปสมาสจึงเป็น “รูปกฺขนฺธ” ไม่ใช่ “รูปากฺขนฺธ”

เวทนา- เป็น อา-การันต์ ไม่ใช่ เวทน รูปสมาสจึงเป็น “เวทนากฺขนฺธ” ไม่ใช่ “เวทนกฺขนฺธ”

สญฺญา- เป็น อา-การันต์ ไม่ใช่ สญฺญ รูปสมาสจึงเป็น “สญฺญากฺขนฺธ” ไม่ใช่ “สญฺญกฺขนฺธ”

สงฺขาร- เป็น อะ-การันต์ ไม่ใช่ สงฺขารา รูปสมาสจึงเป็น “สงฺขารกฺขนฺธ” ไม่ใช่ “สงฺขารากฺขนฺธ”

วิญฺญาณ- เป็น อะ-การันต์ ไม่ใช่ วิญฺญาณา รูปสมาสจึงเป็น “วิญฺญาณกฺขนฺธ” ไม่ใช่ “วิญฺญาณากฺขนฺธ”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [216] บอกความหมายของ “วิญญาณขันธ์” ไว้ดังนี้ –

…………..

5. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ, ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์, ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ 6 — Viññāṇa-khandha: consciousness)

…………..

ขยายความ :

คำว่า “วิญญาณขันธ์” นี้ คำที่ควรทำความเข้าใจคือ “วิญฺญาณ”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า “วิญญาณ” คือ สิ่งที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในกายเมื่อมีชีวิต เมื่อตายจะออกจากกายล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่

ตามหลักพุทธศาสนาเถรวาท วิญญาณที่อยู่ในกายเมื่อมีชีวิต ก็คือความรับรู้อารมณ์ คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่กระทบกาย (เช่น เย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นต้น) และรู้เรื่องที่ใจนึกคิด

และพระพุทธศาสนาเถรวาทไม่ได้สอนว่า เมื่อตาย วิญญาณจะออกจากร่างล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ แต่บอกว่า เมื่อจุติจิตเกิดแล้วดับไป (คือตาย) ถ้ายังมีกิเลสอยู่ จุติจิตจะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดติดต่อกันไปทันที (คือเกิดใหม่)

เมื่อพูดว่า “วิญญาณ” เราจะแปลเป็นอังกฤษว่า soul และพอเห็นคำว่า soul ก็จะแปลกันว่า “วิญญาณ”

แต่ฝรั่งที่ทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้แปล “วิญญาณ” ว่า soul และไม่ได้แปล soul เป็นบาลีว่า “วิญฺญาณ”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “วิญญาณ” ในทางธรรมไว้ดังนี้ –

…………..

วิญญาณ : ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต, ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่นรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตาเป็นต้น ได้แก่ การเห็น การได้ยินเป็นอาทิ;

วิญญาณ ๖ คือ

๑. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)

๒. โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)

๓. ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)

๔. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)

๕. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย)

๖. มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แค่ “รู้”เฉยๆ ยังไม่ชัวร์

: ต้องมีมีสติ “รู้ตัว” จึงจะรู้เต็มๆ

28-03-65

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *