บาลีวันละคำ

ยติคณิสสร (บาลีวันละคำ 3,580)

ยติคณิสสร

อ่านว่า ยะ-ติ-คะ-นิด-สอน

ประกอบด้วยคำว่า ยติ + คณ (หรือ คณี) + อิสสร

(๑) “ยติ”

อ่านว่า ยะ-ติ รากศัพท์มาจาก –

(1) ยตฺ (ธาตุ = พยายาม) + อิ ปัจจัย

: ยตฺ + อิ = ยติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เพียรเพื่อหลุดพ้น”

(2) ยต (ความสำรวม) + อี ปัจจัย, รัสสะ อี เป็น อิ

: ยต + อี = ยตี > ยติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความสำรวมอินทรีย์อยู่เป็นนิจ”

ขยายความแทรก :

(1) “ยต” (ยะ-ตะ) ตามรากศัพท์ใน (2) รากศัพท์มาจาก ยมฺ (ธาตุ = สำรวม, ระวัง) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (ยมฺ > ย)

: ยมฺ + ต = ยมต > ยต แปลตามศัพท์ว่า “สำรวมแล้ว” หมายถึง ยั้งไว้, ดึงไว้, รั้ง, ควบคุม, สำรวม, ระมัดระวัง (held, checked, controlled, restrained, careful) ในที่นี้ใช้เป็นคำนาม แปลว่า “ความสำรวม”

(2) “ยติ” ตามรากศัพท์ใน (2) รูปคำเดิมเป็น “ตทัสสัตถิตัทธิต” ตัทธิตชนิดนี้มีปัจจัย 9 ตัว คือ วี, ส, สี, อิก, อี, ร, วนฺต, มนฺตุ, ณ ลงแทน “อตฺถิ” ศัพท์ ซึ่งแปลว่า “มีอยู่” ตัทธิตชนิดนี้ไม่มี “อิ” ปัจจัย แต่มี “อี” ปัจจัย เมื่อลง อี ปัจจัย จึงสำเร็จรูปเป็น “ยตี” แต่ศัพท์นี้เป็น “ยติ” (สระ อิ) ไม่ใช่ “ยตี” (สระ อี) จึงต้องใช้สูตร “รัสสะ อี เป็น อิ” ที่ต้องขยายความแทรกไว้ตรงนี้เพราะอาจมีผู้สงสัยว่า ลง “อิ” ปัจจัยไปเลยไม่ได้หรือ ทำไมจะต้องลง “อี” ปัจจัย แล้วรัสสะ อี เป็น อิ ให้ยุ่งยาก

กฎบาลีไวยากรณ์ย่อมเป็นเช่นนี้แล

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ยติ” ว่า นักบวช, พระสงฆ์, ภิกษุ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ยติ” ว่า a Buddhist monk (พระในพุทธศาสนา)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ยติ ๑ : (คำนาม) ผู้สํารวมอินทรีย์, พระภิกษุ. (ป.; ส. ยติ, ยตินฺ).”

(๒) “คณ”

บาลีอ่านว่า คะ-นะ รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + อ (อะ) ปัจจัย

: คณฺ + อ = คณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน”

“คณ” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)

(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –

(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่).

(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว.

(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.

(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ..

ในที่นี้ “คณะ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และ (2)

กรณีที่คำนี้มาจาก “คณี” ก็คือ คณ + อี ปัจจัย

: คณ + อี = คณี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีคณะ” หมายถึง เจ้าหมู่, เจ้าคณะ, หัวหน้าคณะ, ผู้มีศิษย์มาก, อาจารย์ผู้มีคณะศิษย์เป็นบริวารจำนวนมาก (one who has a host of followers, a teacher who has a large attendance of disciples)

ยติ + คณ = ยติคณ แปลว่า “คณะแห่งภิกษุ”

ยติ + คณี = ยติคณี แปลว่า “เจ้าคณะแห่งภิกษุ”

(๓) “อิสสร”

เขียนแบบบาลีเป็น “อิสฺสร” (มีจุดใต้ ส ตัวหน้า) อ่านว่า อิด-สะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ

: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)

(2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย

: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่”

(3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)

: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง

“อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)

(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)

“อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้ว่า “อิสร”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”

ในที่นี้คงใช้ตามรูปคำเดิมเป็น “อิสสร”

ยติคณ + อิสฺสร = ยติคณิสฺสร บาลีอ่านว่า ยะ-ติ-คะ-นิด-สะ-ระ แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งคณะภิกษุ”

แต่ถ้าเป็น ยติคณี + อิสฺสร = ยติคณิสฺสร แปลได้ 2 ความหมาย คือ –

(1) “ผู้เป็นเจ้าคณะแห่งภิกษุและผู้เป็นใหญ่” = เป็นเจ้าคณะแห่งภิกษุด้วย เป็นใหญ่ด้วย (สองสถานะ)

(2) “ผู้เป็นใหญ่แห่งเจ้าคณะภิกษุ” = มีคณะภิกษุ มีผู้เป็นเจ้าคณะภิกษุนั้น แล้วก็มีผู้มาเป็นใหญ่เหนือเจ้าคณะภิกษุนั้นอีกชั้นหนึ่ง (สถานะเดียว)

“ยติคณิสฺสร” เขียนแบบไทยเป็น “ยติคณิสสร” (ไม่มีจุดใต้ ส ตัวหน้า) อ่านว่า ยะ-ติ-คะ-นิด-สอน

ขยายความ :

คำว่า “ยติคณิสสร” เป็นสร้อยราชทินนามสมณศักดิ์ของพระราชาคณะ นิยมใช้เป็นสร้อยตั้งแต่พระราชาคณะ “ชั้นราช” ขึ้นไป และมีหลักนิยมพิเศษว่า ใช้เป็นสร้อยนามสมณศักดิ์พระราชาคณะที่สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายเท่านั้น ถ้าเป็นพระราชาคณะที่สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้อยนามวรรคนี้ใช้ว่า “มหาคณิสสร”

ตัวอย่างนามสมณศักดิ์ที่มีคำว่า “ยติคณิสสร” เป็นสร้อยนาม เช่น –

…………..

พระธรรมเมธาภรณ์ สุนทรวาสนวงศวิวัฒ ศรีปริยัติกิจจานุกิจ ปาพจนวิภูษิตคุณาลงกรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี (วัดราชบพิธ)

พระเทพเมธาภรณ์ สุนทรธรรมานุนายก วิสุทธิดิลกสาธุกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี (วัดธรรมนิมิต สมุทรสงคราม)

พระราชวิสุทธินายก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี (วัดจันทนาราม จันทบุรี)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าใช้ธรรมเป็นใหญ่

: ก็ไม่ต้องใช้ใครไปค้ำคอใคร

01-04-65

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *