บาลีวันละคำ

มหาคณิสสร (บาลีวันละคำ 3,579)

มหาคณิสสร

อ่านว่า มะ-หา-คะ-นิด-สอน

ประกอบด้วยคำว่า มหา + คณ (หรือ คณี) + อิสสร

(๑) “มหา”

อ่านว่า มะ-หา รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ มหันต- เข้าสมาสกับ -คณ เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”

(๒) “คณ”

บาลีอ่านว่า คะ-นะ รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + อ (อะ) ปัจจัย

: คณฺ + อ = คณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน”

“คณ” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)

(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –

(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่).

(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว.

(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.

(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ..

ในที่นี้ “คณะ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และ (2)

กรณีที่คำนี้มาจาก “คณี” ก็คือ คณ + อี ปัจจัย

: คณ + อี = คณี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีคณะ” หมายถึง เจ้าหมู่, เจ้าคณะ, หัวหน้าคณะ, ผู้มีศิษย์มาก, อาจารย์ผู้มีคณะศิษย์เป็นบริวารจำนวนมาก (one who has a host of followers, a teacher who has a large attendance of disciples)

มหนฺต + คณ = มหาคณ แปลว่า “คณะใหญ่” หมายถึง ผู้คนจำนวนมาก, ผู้มารวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก (a great crowd or community)

มหนฺต + คณี = มหาคณี แปลว่า “เจ้าคณะใหญ่” หมายถึง ผู้ที่มีบริวารเป็นจำนวนมาก (one who has a large attendance of disciples)

(๓) “อิสสร”

เขียนแบบบาลีเป็น “อิสฺสร” (มีจุดใต้ ส ตัวหน้า) อ่านว่า อิด-สะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ

: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)

(2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย

: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่”

(3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)

: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง

“อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)

(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)

“อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้ว่า “อิสร”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”

ในที่นี้คงใช้ตามรูปคำเดิมเป็น “อิสสร”

มหาคณ + อิสฺสร = มหาคณิสฺสร บาลีอ่านว่า มะ-หา-คะ-นิด-สะ-ระ แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งคณะใหญ่” = มีคณะใหญ่ แล้วก็มีผู้มาเป็นใหญ่เหนือคณะใหญ่นั้น

แต่ถ้าเป็น มหาคณี + อิสฺสร = มหาคณิสฺสร แปลได้ 2 ความหมาย คือ –

(1) “ผู้เป็นเจ้าคณะใหญ่และผู้เป็นใหญ่” = เป็นเจ้าคณะใหญ่ด้วย เป็นใหญ่ด้วย (สองสถานะ)

(2) “ผู้เป็นใหญ่แห่งเจ้าคณะใหญ่” = มีคณะใหญ่ มีผู้เป็นเจ้าคณะใหญ่นั้น แล้วก็มีผู้มาเป็นใหญ่เหนือเจ้าคณะใหญ่นั้นอีกชั้นหนึ่ง (สถานะเดียว)

“มหาคณิสฺสร” เขียนแบบไทยเป็น “มหาคณิสสร” (ไม่มีจุดใต้ ส ตัวหน้า) อ่านว่า มะ-หา-คะ-นิด-สอน

ขยายความ :

คำว่า “มหาคณิสสร” เป็นสร้อยราชทินนามสมณศักดิ์ของพระราชาคณะ นิยมใช้เป็นสร้อยตั้งแต่พระราชาคณะ “ชั้นราช” ขึ้นไป และมีหลักนิยมพิเศษว่า ใช้เป็นสร้อยนามสมณศักดิ์พระราชาคณะที่สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายเท่านั้น ถ้าเป็นพระราชาคณะที่สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สร้อยนามวรรคนี้ใช้ว่า “ยติคณิสสร”

ตัวอย่างนามสมณศักดิ์ที่มีคำว่า “มหาคณิสสร” เป็นสร้อยนาม เช่น –

…………..

พระธรรมปัญญาภรณ์ สุนทรธรรมปฏิบัติ ปริยัติวิธานวิศิษฐ์ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พระธรรมคุณาภรณ์ บวรศีลสมาจาร สุวิธานศาสนกิจจานุกิจ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พระราชรัตนมุนี ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เป็นใหญ่เหนือจิตของตนได้

: จึงควรเป็นใหญ่เหนือหมู่คณะ

31-03-65

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *