บาลีวันละคำ

ธุรกรรม (บาลีวันละคำ 501)

ธุรกรรม

(บาลีไทย)

อ่านว่า ทุ-ระ-กำ

ธุรกรรม” ถ้าแปลงกลับเป็นบาลี ก็เป็น “ธุรกมฺม” (ทุ-ระ-กำ-มะ) ประกอบด้วย ธุร + กมฺม

ในภาษาบาลี “ธุร” (ทุ-ระ) แปลว่า แอก, คานรถ, สัมภาระ, น้ำหนักบรรทุก, ภาระ, หน้าที่, การรับผิดชอบ (ดูรายละเอียดที่คำว่า-ธุรกิจ-บาลีวันละคำ (353) 30-4-56)

ในภาษาไทย “ธุระ” มักเข้าใจกันในความหมายว่า หน้าที่การงานที่พึงกระทํา

กมฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม” แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ

ธุร + กมฺม = ธุรกมฺม > ธุรกรรม (ไม่พบศัพท์ที่ผสมกันแบบนี้ในคัมภีร์) แปลตามศัพท์ว่า “การทำธุระ

บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2550 อธิบายความหมายของคำนี้ไว้ว่า –

“คำว่า ธุรกรรม ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า transaction  หมายถึง การประกอบกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะด้านธุรกิจและการเงิน เช่นพูดว่า การฝากเงินในธนาคารเป็นการทำธุรกรรมอย่างหนึ่ง. การจ่ายค่าบริการโดยหักบัญชีจากธนาคาร เป็นธุรกรรมที่นิยมกันมากในปัจจุบัน. อินเทอร์เน็ตทำให้เราสามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องใช้กระดาษ”

มีคำที่ขึ้นต้นด้วย “ธุร-” อยู่ 3 คำ ถ้านำมาเทียบความหมาย อาจช่วยให้เข้าใจความแตกต่างได้ชัดขึ้น คือ ธุรกิจ ธุรกรรม ธุรการ

ธุรกิจ = การประกอบการเพื่อหาเงินหรือผลกำไร

ธุรกรรม = การทำธุระบางขั้นตอนในการทำธุรกิจ เช่น นำเงินที่ได้จากธุรกิจไปฝากธนาคาร ถือว่าเป็นธุรกรรมอย่างหนึ่ง

ธุรการ = งานเกี่ยวกับเอกสารในสำนักงาน รวมทั้งงานทั่วไปที่ไม่ใช่งานวิชาการหรืองานหลักในตัวธุรกิจนั้นๆ เช่น การประกอบเลี้ยงอาหารประจำวันให้แก่เจ้าหน้าที่ในสำนักงาน ถือว่าเป็นงานธุรการอย่างหนึ่ง

: ทำธุระอะไรดี ? –

ธุรกรรม : ยิ่งทำยิ่งเพิ่มภาระ

ธุระทางธรรม : ยิ่งทำยิ่งหมดภาระ

28-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย