อรัณยวาสี (บาลีวันละคำ 3,581)
อรัณยวาสี
ความหมายเดียวกับ “อรัญวาสี”
ประกอบด้วยคำว่า อรัณย + วาสี
(๑) “อรัณย”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อรญฺญ” อ่านว่า อะ-รัน-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อรฺ (ธาตุ = ไป) + อญฺญ ปัจจัย
: อรฺ + อญฺญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไปของผู้คน”
(2) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ญ ปัจจัย, ซ้อน ญฺ
: อรฺ + ญฺ + ญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ถึงกัน”
(3) น (ไม่มี, ไม่ใช่) + ราช (พระราชา), แปลง น เป็น อ, รัสสะ อา ที่ รา-(ช) เป็น อะ (ราช > รช), แปลง ช ที่ (ราช > ) รช เป็น ญฺ (รช > รญ), ซ้อน ญฺ
: น + ราช = นราช > อราช > อรช > อรญ + ญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไม่มีพระราชา”
“อรญฺญ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ป่า (forest)
บาลี “อรญฺญ” สันสกฤตเป็น “อรณฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
“อรณฺย : (คำนาม) ป่า; a forest.”
บาลี “อรญฺญ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อรัญ” และใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “อรัณย์” ด้วย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อรัญ, อรัญ- : (คำนาม) ป่า. (ป. อรญฺญ; ส. อรณฺย).
(2) อรัณย์ : (คำนาม) ป่า. (ส. อรณฺย; ป. อรญฺญ).
(๒) “วาสี”
อ่านว่า วา-สี รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่, พำนัก; ชอบใจ) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ว-(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส)
: วสฺ + ณี = วสณี > วสี > วาสี (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปรกติอยู่-(ในที่ใดที่หนึ่ง)” หมายถึง ชอบ, อาศัยอยู่ [ใน] (liking, dwelling [in])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาสิน, วาสี ๑ : (คำนาม) ผู้อยู่, ผู้ครอง, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น คามวาสี = ผู้อยู่บ้าน อรัญวาสี = ผู้อยู่ป่า. (ป., ส.).”
หมายเหตุ : ที่พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “วาสิน” นั้น เป็นการถอดรูปมาจากวิธีสะกดคำบาลีด้วยอักษรโรมันแบบหนึ่ง คือคำว่า “วาสี” อาจสะกดเป็นอักษรโรมันได้ 2 แบบ คือ vāsī = วาสี ก็ได้ vāsin = วาสินฺ ก็ได้ แต่เมื่อถอดเป็นบาลีอักษรไทย เรานิยมสะกดเป็น “วาสี”
อรญฺญ + วาสี = อรญฺญวาสี (อะ-รัน-ยะ-วา-สี) แปลว่า “ผู้มีปกติอยู่ในป่า” หรือ “ผู้ชอบป่า”
“อรญฺญวาสี” ในภาษาไทยใช้เป็น “อรัญวาสี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรัญวาสี : (คำนาม) ผู้อยู่ในป่า, ใช้สำหรับเรียกคณะสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คู่กับ คามวาสี คณะสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ. (ป. อรญฺญวาสี).”
ในที่นี้ “อรัญวาสี” เขียนเป็น “อรัณยวาสี”
คำว่า “อรัณยวาสี” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
คำว่า “อรัณยวาสี” เป็นสร้อยนามสมณศักดิ์พระราชาคณะ เป็นคำเดียวกับ “อรัญวาสี” นั่นเอง เป็นแต่สังเกตเห็นว่า สร้อยนามสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะที่มีคำว่า “คามวาสี อรัญวาสี” ควบกัน ถ้าเป็นสมเด็จพระราชาคณะสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สร้อยนามคู่นี้นิยมสะกดเป็น “คามวาสี อรัณยวาสี” หลักการที่แท้จริงเป็นประการใด พึงตรวจสอบให้แน่ชัดต่อไป
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อรัญวาสี” อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
อรัญวาสี : “ผู้อยู่ป่า”, พระป่า หมายถึงพระภิกษุที่อยู่วัดในป่า, เป็นคู่กับ คามวาสี หรือพระบ้าน ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่อยู่วัดในบ้านในเมือง; ในพุทธกาล ไม่มีการแบ่งแยกว่า พระบ้าน -พระป่า และคำว่า คามวาสี-อรัญวาสี ก็ไม่มีในพระไตรปิฎก เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวม และมีการจาริกอยู่เสมอ โดยเฉพาะพระพุทธองค์เองทรงนำสงฆ์หมู่ใหญ่จาริกไปในถิ่นแดนทั้งหลายเป็นประจำ ภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่จบกิจในพระศาสนา นอกจากเสาะสดับคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ย่อมระลึกอยู่เสมอถึงพระดำรัสเตือนให้เสพเสนาสนะอันสงัดเจริญภาวนา โดยทรงระบุป่าเป็นสถานที่แรกแห่งเสนาสนะอันสงัดนั้น (ที่ตรัสทั่วไปคือ “อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อรญฺญคโต วา รุกฺขมูลคโต วา สุญฺญาคารคโต วา…” – ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปอยู่ในป่าก็ดี โคนไม้ก็ดี เรือนว่างก็ดี…; ที่ตรัสรองลงไปคือ “… วิวิตฺตํ เสนาสนํ ภชติ อรญฺญํ รุกฺขมูลํ ปพฺพตํ กนฺทรํ คิริคุหํ สุสานํ วนปตฺถํ อพฺโภกาสํ ปลาลปุญฺชํ…” – [ภิกษุนั้น] …เข้าหาเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำในเขา ป่าช้า ดงเปลี่ยว ที่แจ้ง ลอมฟาง…) แนวทางปฏิบัติเช่นนี้ ท่านถือแน่นแฟ้นสืบกันมา แม้ว่าสาระจะอยู่ที่มีเสนาสนะอันสงัด แต่ป่าซึ่งในอดีตมีพร้อมและเป็นที่สงัดอันแน่นอน ก็เป็นที่พึงเลือกเด่นอันดับแรก จึงนับว่าเป็นตัวแทนที่เต็มความหมายของเสนาสนะอันสงัด ดังปรากฏเป็นคาถาที่กล่าวกันว่าพระธรรมสังคาหกาจารย์ได้รจนาไว้ อันเป็นที่อ้างอิงในคัมภีร์ทั้งหลาย ตั้งแต่มิลินทปัญหา จนถึงวิสุทธิมัคค์ และในอรรถกถาเป็นอันมาก มีความว่า
ยถาปิ ทีปิโก นาม นิลียิตฺวา คณฺหตี มิเค
ตเถวายํ พุทฺธปุตฺโต ยุตฺตโยโค วิปสฺสโก
อรญฺญํ ปวิสิตฺวาน คณฺหาติ ผลมุตฺตมํ ฯ
(พุทธบุตรนี้ ประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนา เข้าไปสู่ป่า จะถือเอาผลอันอุดม [อรหัตตผล] ได้ เหมือนดังเสือซุ่มตัวจับเนื้อ)
ตามคตินี้ การไปเจริญภาวนาในป่า เป็นข้อพึงปฏิบัติสำหรับภิกษุทุกรูปเสมอเหมือนกัน ไม่มีการแบ่งแยก ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ว่า ในคัมภีร์มิลินทปัญหา (ประมาณ พ.ศ.๕๐๐) ก็ยังไม่มีคำว่า คามวาสี และอรัญวาสี (พบคำว่า “อรญฺญวาสา” แห่งเดียว แต่หมายถึงดาบสชาย-หญิง) แม้ว่าต่อมาในอรรถกถา (ก่อน จนถึงใกล้ พ.ศ.๑๐๐๐) จะมีคำว่า คามวาสี และอรัญวาสี เกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ใช้เป็นถ้อยคำสามัญ หมายถึงใครก็ได้ ตั้งแต่พระสงฆ์ ไปจนถึงสิงสาราสัตว์ (มักใช้แก่ชาวบ้านทั่วไป) ที่อยู่บ้าน อยู่ใกล้บ้าน หรืออยู่ในป่า มิได้มีความหมายจำเพาะอย่างที่เข้าใจกันในบัดนี้
พระภิกษุที่ไปเจริญภาวนาในป่านั้น อาจจะไปอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ยาวบ้าง สั้นบ้าง และอาจจะไปๆ มาๆ แต่บางรูปก็อาจจะอยู่นานๆ ภิกษุที่อยู่ป่านั้นท่านเรียกว่า “อารัญญกะ” (อารัญญิกะ ก็เรียก) และการถืออยู่ป่า เป็นธุดงค์อย่างหนึ่ง ซึ่งภิกษุจะเลือกถือได้ตามสมัครใจ กับทั้งจะถือในช่วงเวลายาวหรือสั้น หรือแม้แต่ตลอดชีวิต ก็ได้
สันนิษฐานว่า เมื่อเวลาล่วงผ่านห่างพุทธกาลมานาน พระภิกษุอยู่ประจำที่มากขึ้น อีกทั้งมีภาระผูกมัดตัวมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการเล่าเรียนและทรงจำพุทธพจน์ในยุคที่องค์พระศาสดาปรินิพพานแล้ว ซึ่งจะต้องรักษาไว้แก่คนรุ่นหลังให้ครบถ้วนและแม่นยำโดยมีความเข้าใจถูกต้อง อีกทั้งต้องเก็บรวบรวมคำอธิบายของอาจารย์รุ่นต่อๆ มา ที่มีเพิ่มขึ้นๆ จนเกิดเป็นงานหรือหน้าที่ที่เรียกว่า “คันถธุระ” (ธุระในการเล่าเรียนพระคัมภีร์) เป็นภาระซึ่งทำให้รวมกันอยู่ที่แหล่งการเล่าเรียนศึกษาในชุมชนหรือในเมือง พร้อมกันนั้น ภิกษุผู้ไปเจริญภาวนาในป่า เมื่อองค์พระศาสดาปรินิพพานแล้ว ก็อิงอาศัยอาจารย์ที่จำเพาะมากขึ้น มีความรู้สึกที่จะต้องผ่อนและเผื่อเวลามากขึ้น อยู่ประจำที่แน่นอนมากขึ้น เพื่ออุทิศตัวแก่กิจในการเจริญภาวนา ซึ่งกลายเป็นงานหรือหน้าที่ที่เรียกว่า “วิปัสสนาธุระ” (ธุระในการเจริญกรรมฐานอันมีวิปัสสนาเป็นยอด) โดยนัยนี้ แนวโน้มที่จะแบ่งเป็นพระบ้าน-พระป่าก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
การแบ่งพระสงฆ์เป็น ๒ ฝ่าย คือ คามวาสี และอรัญวาสี เกิดขึ้นในลังกาทวีป และปรากฏชัดเจนในรัชกาลพระเจ้าปรักกมพาหุ ที่ ๑ มหาราช (พ.ศ. ๑๖๙๖ –๑๗๒๙) ต่อมา เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย ทรงรับพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ลังกาวงศ์ อันสืบเนื่องจากสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุนี้เข้ามาในช่วงใกล้ พ.ศ.๑๘๒๐ ระบบพระสงฆ์ ๒ แบบ คือ คามวาสี และอรัญวาสี ก็มาจากศรีลังกาเข้าสู่ประเทศไทยด้วย; คู่กับ คามวาสี.
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อยากไปสวรรค์ อยู่บ้าน
: อยากไปนิพพาน อยู่ป่า
: อยากมีสุขทุกเวลา อยู่อย่างมีสติ
02-04-65
…………………………….
ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย…………………………….