บาลีวันละคำ

ธัญญาหาร [2] (บาลีวันละคำ 3,719)

ธัญญาหาร [2]

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า ทัน-ยา-หาน

แยกศัพท์เป็น ธัญญ + อาหาร

(๑) “ธัญญ”

เขียนแบบบาลีเป็น “ธญฺญ” อ่านว่า ทัน-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ธาน (การเลี้ยง) + ย ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ธาน เป็น อะ (ธาน > ธน), แปลง นฺย (คือ -น ที่ ธาน และ ย ปัจจัย) เป็น ญ, ซ้อน ญฺ

: ธาน + ย = ธานฺย > ธนฺย > ธ + ญฺ + ญ = ธญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีการเลี้ยงเป็นความดี” (คือดีในทางเลี้ยงผู้คน)

(2) ธนฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + ย ปัจจัย, แปลง นฺย เป็น ญ, ซ้อน ญฺ

: ธนฺ + ย = ธนฺย > ธ + ญฺ + ญ = ธญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้คนปรารถนา”

“ธญฺญ” ในที่นี้หมายถึง ข้าวเปลือก, ข้าว (grain, corn)

นอกจากนี้ “ธญฺญ” ยังแปลตามศัพท์ว่า “ซึ่งอุดมด้วยข้าว” หมายถึง ร่ำรวย; มีความสุข, มีโชคดี, มีเคราะห์ดี (“rich in corn” : rich; happy, fortunate, lucky)

ในภาษาไทย ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งใช้เป็น “ธัญ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ธัญ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) ธัญ ๑ : (คำแบบ) ว. รุ่งเรือง, มั่งมี, มีโชค, ดี, เลิศ, เช่น ธัญลักษณ์ ว่า มีลักษณะดี. (ป. ธญฺญ; ส. ธนฺย).

(2) ธัญ ๒, ธัญ- : (คำนาม) ข้าวเปลือก. (ป. ธญฺญ; ส. ธานฺย).

ในที่นี้ “ธัญ” ใช้ในความหมายตามข้อ (2)

ขยายความ :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษขยายความคำว่า “ธญฺญ” ไว้ว่า –

…………..

The usual enumn comprises 7 sorts of grain, which is however not strictly confined to grain-fruit proper (“corn”) but includes, like other enumns, pulse & seeds. (ตามปกติจำแนกข้าวไว้ 7 ชนิด, ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะข้าวที่แท้จริง แต่รวมถั่วและเมล็ดพืชต่างๆ ด้วย)

…………..

ในคัมภีร์แสดงรายการ “ธัญญาหาร” ไว้ 7 ชนิด คือ –

(1, 2) สาลิ และ วีหิ = ข้าวเจ้า (rice-sorts)

(3) ยว = ข้าวเหนียว (barley)

(4) โคธุม = ข้าวสาลี (wheat)

(5) กงฺุคุ = ข้าวเดือย (millet)

(6) วรก = ถั่ว (beans)

(7) กุทฺรูสก = หญ้ากับแก้ (a kind of grain)

(๒) “อาหาร”

บาลีอ่านว่า อา-หา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ, ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ”) + หร (ธาตุ = นำไป, มี “อา” นำหน้า กลับความเป็น นำมา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาต คือ อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)

: อา + หรฺ = อาหร + ณ = อาหรณ > อาหร > อาหาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำมาซึ่งผล” ตามที่เข้าใจกันทั่วไปคือ เมื่อกินอาหารแล้วก็นำมาซึ่งผลคือมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อาหาร : (คำนาม) ของกิน, เครื่องคํ้าจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต, เช่น อาหารเช้า อาหารปลา อาหารนก; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น อาหารตา อาหารใจ. (ป., ส.).”

พระพุทธศาสนาจำแนกอาหารออกเป็น 4 หมู่ คือ –

1 ของกินทั่วไป คืออาหารกาย (ศัพท์วิชาการว่า = กพฬิงการาหาร)

2 ตาดูหูฟัง อย่างเช่นดูหนังฟังเพลง หรือที่พูดว่า อาหารหูอาหารตา เป็นต้น ( = ผัสสาหาร)

3 ความหวังตั้งใจ เช่นมีความหวังว่าจะได้ จะมี จะเป็น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจอยู่ได้ ( = มโนสัญเจตนาหาร)

4 การได้รับรู้รับทราบ เช่นอยากรู้อะไรก็ได้รู้สิ่งนั้น (อาการที่ตรงกันข้าม คือ “หิวกระหายใคร่รู้”) เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่ง ( = วิญญาณาหาร)

ธัญญ + อาหาร = ธัญญาหาร อ่านว่า ทัน-ยา-หาน เขียนกลับเป็นบาลีเป็น “ธญฺญาหาร” อ่านว่า ทัน-ยา-หา-ระ แปลว่า “อาหารคือข้าว” หรือ “อาหารคือพืช”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ธัญญาหาร : (คำนาม) อาหารคือข้าว. (ป.).”

หมายเหตุ : ข้างต้นบอกไว้ว่า ในภาษาไทย ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งใช้เป็น “ธัญ” แต่คำว่า“ธัญญาหาร” ใช้ ญ หญิง 2 ตัว ไม่ขัดแย้งกันหรือ?

ไม่ขัด แต่ต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติม กล่าวคือ ใช้เป็น “ธัญ” เมื่ออยู่เดี่ยวๆ หรืออยู่ท้ายคำ หรือเป็นคำหน้าของสมาสที่คำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ เช่น –

ธัญชาติ (ธัญ + ชาติ) ไม่ใช ธัญญชาติ

ธัญพืช (ธัญ + พืช) ไม่ใช่ ธัญญพืช

แต่ในกรณีที่เป็นคำหน้าของสมาสที่คำหลังขึ้นต้นด้วยสระซึ่ง ญ หญิง จะต้องสนธิกับสระ กรณีเช่นนี้ให้คง ญ หญิง ไว้ทั้ง 2 ตัวตามรูปคำเดิม เพื่อให้ตัวหน้าเป็นตัวสะกด และตัวหลังสนธิกับสระ

เช่นในที่นี้ ธัญญ + อาหาร ถ้าตัด ญ หญิง ออกตัวหนึ่งตามหลักนิยมทั่วไป ก็คือ –

: ธัญ + อาหาร = ธัญาหาร

ญ หญิง ตัวเดียวเป็นทั้งตัวสะกด และเป็นตัวสนธิกับสระในคำหลัง ไม่ถูกหลักภาษา จึงต้องคง ญ หญิง ไว้ทั้ง 2 ตัว –

: ธัญญ + อาหาร = ธัญญาหาร

ขยายความ :

พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565 ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2565 มีคำทำนายตอนหนึ่ง ดังนี้ –

…………..

… พระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 4 คืบ น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ และพระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง …

…………..

คำว่า “ธัญญาหาร” “ผลาหาร” “ภักษาหาร” “มังสาหาร” เป็นคำธรรมดาๆ ฟังหรืออ่านแล้วก็ผ่านไป เป็นอย่างที่เรียกว่า “หญ้าปากคอก”

“หญ้าปากคอก” หากปล่อยให้ผ่านเฉยเลยไปนานเข้า ถึงเวลาจำเป็นจะต้องรู้ความหมายเข้าจริงๆ บางทีอาจทำให้งงงวยไปได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ทบทวนไว้ก็ไม่เสียหายอะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ากินพืชเป็นเหตุให้กิเลสสิ้น

: ทั้งแผ่นดินคงมีแต่คนสิ้นกิเลส

#บาลีวันละคำ (3,719)

18-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *