ผลาหาร (บาลีวันละคำ 3,718)
ผลาหาร
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
ไม่ใช่ ผะ-หฺลา-หาน
และไม่ใช่ พะ-ลา-หาน (ไม่ใช่ พ พาน)
แยกศัพท์เป็น ผล + อาหาร
(๑) “ผล”
บาลีอ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: ผลฺ + อ = ผล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร”
“ผล” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)
(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)
(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)
ในที่นี้ “ผล” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)
ในภาษาไทย ถ้าใช้เดี่ยวๆ หรืออยู่ท้ายคำ อ่านว่า ผน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ผล : (คำนาม) ส่วนของพืชที่เจริญมาจากรังไข่ เช่น ผลมะม่วง ผลมะปราง; สิ่งที่เกิดจากการกระทำ เช่น ผลแห่งการทำดี ผลแห่งการทำชั่ว; ประโยชน์ที่ได้รับ เช่น ทำนาได้ผล เรียนได้ผล; ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล, คู่กับ มรรค; ลักษณนามเรียกผลไม้ เช่น มะม่วง ๒ ผล มะปราง ๓ ผล; จำนวนที่ได้จากการคำนวณ เช่น ๕ กับ ๗ บวกกัน ได้ผลเท่ากับ ๑๒, ผลลัพธ์ ก็ว่า. (ป., ส.).”
(๒) “อาหาร”
บาลีอ่านว่า อา-หา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ, ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ”) + หร (ธาตุ = นำไป, มี “อา” นำหน้า กลับความเป็น นำมา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาต คือ อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)
: อา + หรฺ = อาหร + ณ = อาหรณ > อาหร > อาหาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำมาซึ่งผล” ตามที่เข้าใจกันทั่วไปคือ เมื่อกินอาหารแล้วก็นำมาซึ่งผลคือมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาหาร : (คำนาม) ของกิน, เครื่องคํ้าจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต, เช่น อาหารเช้า อาหารปลา อาหารนก; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น อาหารตา อาหารใจ. (ป., ส.).”
พระพุทธศาสนาจำแนกอาหารออกเป็น 4 หมู่ คือ –
1 ของกินทั่วไป คืออาหารกาย (ศัพท์วิชาการว่า = กพฬิงการาหาร)
2 ตาดูหูฟัง อย่างเช่นดูหนังฟังเพลง หรือที่พูดว่า อาหารหูอาหารตา เป็นต้น ( = ผัสสาหาร)
3 ความหวังตั้งใจ เช่นมีความหวังว่าจะได้ จะมี จะเป็น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจอยู่ได้ ( = มโนสัญเจตนาหาร)
4 การได้รับรู้รับทราบ เช่นอยากรู้อะไรก็ได้รู้สิ่งนั้น (อาการที่ตรงกันข้าม คือ “หิวกระหายใคร่รู้”) เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่ง ( = วิญญาณาหาร)
ผล + อาหาร = ผลาหาร อ่านว่า ผะ-ลา-หาน ไม่ใช่ ผะ-หฺลา-หาน ในภาษาบาลี คำนี้ก็เป็น “ผลาหาร” เหมือนในภาษาไทย แต่อ่านว่า ผะ-ลา-หา-ระ แปลว่า “อาหารคือผลไม้” หรือ “อาหารคือลูกไม้”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ผลาหาร : (คำนาม) อาหารคือลูกไม้.”
อภิปราย :
“ผลาหาร” ก็คือที่เรารู้จักกันดีว่า “ผลไม้” นอกจากผลแล้วน่าจะหมายรวมทั้งส่วนต่างๆ เช่น ใบ ดอก ราก หัว ที่นำมาปรุงเป็นอาหารได้
คำว่า “ผลาหาร” มักมีผู้เขียนผิดเป็น “พลาหาร” (พล- พ พาน) เกิดมาจากคนพูดคำว่า “ผลาหาร” (ผล- ผ ผึ้ง) ออกเสียงเพี้ยนเป็น พะ-ลา-หาน (พะ- พ พาน) คนฟังก็เข้าใจผิดว่าเป็น พล- พ พาน จึงพลอยเขียนเป็น “พลาหาร” ไปด้วย
พื้นฐานของความผิดเกิดจากการไม่ศึกษาให้รอบคอบ โดยเฉพาะก็คือไม่สืบค้นคติเดิมของเรื่อง หากแต่เอาความเข้าใจของตนเป็นที่ตั้ง
คำผิดทำนองเดียวกันนี้ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็อย่างเช่น –
“คาหนังคาเขา” กับ “คาหลังคาเขา”
“ติดหลังแห” กับ “ติดร่างแห”
“เส้นผ่าศูนย์กลาง” กับ “เส้นผ่านศูนย์กลาง”
คำเหล่านี้ถูกอธิบายให้ผิดกลายเป็นถูกไปหมดแล้ว จนบอกไม่ได้ว่าคำไหนผิดคำไหนถูก แต่กลายเป็นถูกทั้งคู่
เหตุทั้งนี้ก็เพราะเมื่อเกิดคำผิดขึ้นทีแรก ไม่มีใครทักท้วงเหนี่ยวรั้งกันไว้ คนใช้ผิดก็ไม่ศึกษาคติเดิมให้เข้าใจ เอาความเข้าใจอย่างใหม่ของตัวเองเข้าไปอธิบายผิดให้เป็นถูก
คำว่า “ผลาหาร” (ผล- ผ ผึ้ง) นี้ก็เช่นกัน เมื่อเขียนเป็น “พลาหาร” (พล- พ พาน) ถ้าไม่ทักท้วงกันไว้ เดี๋ยวก็จะมีนักรู้ออกมาอธิบายว่า “พลาหาร” (พล- พ พาน) หมายถึงอาหารบำรุงกำลัง คืออาหารเสริมต่างๆ ที่กินแล้วทำให้ร่างกายแข็งแรง
คนรุ่นใหม่ซึ่งมีความโน้มเอียงที่จะคิดเองเข้าใจเองโดยไม่ศึกษาคติเดิมในวัฒนธรรมของตนก็จะพากันเห็นคล้อยตาม แล้วผิดก็จะกลายเป็นถูกไปอีกคำหนึ่ง
ขยายความ :
พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565 ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2565 มีคำทำนายตอนหนึ่ง ดังนี้ –
…………..
… พระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 4 คืบ น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ และพระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง …
…………..
คำว่า “ธัญญาหาร” “ผลาหาร” “ภักษาหาร” “มังสาหาร” เป็นคำธรรมดาๆ ฟังหรืออ่านแล้วก็ผ่านไป เป็นอย่างที่เรียกว่า “หญ้าปากคอก”
“หญ้าปากคอก” หากปล่อยให้ผ่านเฉยเลยไปนานเข้า ถึงเวลาจำเป็นจะต้องรู้ความหมายเข้าจริงๆ บางทีอาจทำให้งงงวยไปได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ทบทวนไว้ก็ไม่เสียหายอะไร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ายังมีอุปาทานในสิ่งที่กิน
: ก็คงยากที่จะสิ้นอุปาทาน
#บาลีวันละคำ (3,718)
17-8-65
…………………………….
…………………………….