ไอศวรรย์ (บาลีวันละคำ 3,723)
ไอศวรรย์
แปลว่าอะไร รู้ไว้ไม่ไร้ประโยชน์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ไอศวรรย์ : (คำนาม) ความเป็นเจ้าเป็นใหญ่, ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน; อํานาจ; (กลอน) สมบัติแห่งพระราชาธิบดี, ใช้ว่า ไอศุริย หรือ ไอศูรย์ ก็มี. (ส. ไอศฺวรฺย; ป. อิสฺสริย).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “ไอศวรรย์” บาลีเป็น “อิสฺสริย”
“อิสฺสริย” อ่านว่า อิด-สะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก อิสฺสร + อิย ปัจจัย
(ก) “อิสฺสร” (อิด-สะ-ระ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ
: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)
(2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย
: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่”
(3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)
: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง
“อิสฺสร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)
(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)
(ข) อิสฺสร + อิย ปัจจัย
: อิสฺสร + อิย = อิสฺสริย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้เป็นใหญ่” หมายถึง ความเป็นผู้ปกครอง, ความเป็นนาย, ความเป็นใหญ่, อำนาจปกครอง (rulership, mastership, supremacy, dominion)
“อิสฺสริย” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อิสริยะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิสริย-, อิสริยะ : (คำนาม) ความเป็นใหญ่, ความเป็นเจ้า, ความยิ่งใหญ่. (ป. อิสฺสริย; ส. ไอศฺวรฺย).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “อิสริยะ” สันสกฤตเป็น “ไอศฺวรฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ไอศฺวรฺยฺย” และ “ไอศฺวรฺย” บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ไอศฺวรฺยฺย, ไอศฺวรฺย : (คำนาม) ‘ไอศวรรย์,’ เทวานุภาพ, สรรพสมรรถศักดิ์, ความแลไม่เห็น, ฯลฯ; ความเปนใหญ่, พลศักดิ์, กำลัง; divine power, omnipotence, invisibility, etc.; supremacy, power, might.”
โปรดสังเกตคำแปลเป็นอังกฤษ ระหว่าง “อิสฺสริย” ในบาลี ซึ่งฝรั่งแปล กับ “ไอศฺวรฺย” ในสันสกฤต ซึ่งไทยแปล (นายร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ [นิยม รักไทย] ผู้จัดทำ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) มีตรงกันคำเดียวคือ supremacy
…………..
สรุปว่า –
ไทย: ไอศวรรย์
บาลี: อิสฺสริย
สันสกฤต: ไอศฺวรฺยฺย, ไอศฺวรฺย
อังกฤษ: supremacy
ถ้าถามว่า เรื่องแบบนี้รู้ไว้ได้ประโยชน์อะไร?
ก็คงตอบยาก ขึ้นอยู่กับว่าใครเห็นว่าอะไรเป็นประโยชน์ ต้องไปจำกัดความกันก่อนว่า “ประโยชน์” สำหรับใครหมายถึงอะไร เพราะสิ่งที่คนหนึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ อีกคนหนึ่งอาจเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ก็ได้
แต่ผู้รู้ท่านบอกว่า เรื่องที่รู้ไว้ อย่างไรเสียก็ไม่ไร้ประโยชน์ – ลองอ่าน ดูก่อนภราดา! ดู
…………..
ดูก่อนภราดา!
สพฺพํ สุตมธีเยถ
หีนมุกฺกฏฺฐมชฺฌิมํ
สพฺพสฺส อตฺถํ ชาเนยฺย
น จ สพฺพํ ปโยชเย
โหติ ตาทิสโก กาโล
ยตฺถ อตฺถาวหํ สุตํ.
ควรเรียนวิชาทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเรื่องชั่ว เรื่องดี เรื่องกลางๆ
ควรรู้ประโยชน์ของวิชาทุกอย่าง
แต่ไม่ควรใช้ทุกอย่าง
เวลาเช่นไหนที่วิชาจะใช้ประโยชน์ได้
เวลาเช่นนั้นมีแน่
ที่มา: มูสิกชาดก ปัญจกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 817
…………..
#บาลีวันละคำ (3,723)
22-8-65
…………………………….
…………………………….