บาลีวันละคำ

อโนดาต (บาลีวันละคำ 3,724)

อโนดาต

สระที่ไม่คาดว่าจะมีจริง

อ่านว่า อะ-โน-ดาด

“อโนดาต” บาลีเป็น “อโนตตฺต” อ่านว่า อะ-โน-ตัด-ตะ รากศัพท์มาจาก (1) น + อวตตฺต (2) น + โอตตฺต

(๑) “น”

บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)

“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –

(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)

(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)

ในที่นี้ “อวตตฺต” และ “โอตตฺต” ขึ้นต้นด้วยสระ (คือ อ- และ โอ-) จึงแปลง น เป็น อน

(๒) “อวตตฺต”

บาลีอ่านว่า อะ-วะ-ตัด-ตะ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + ตปฺ (ธาตุ = ร้อน, เดือดร้อน) + ต ปัจจัย, แปลง ปฺ ที่สุดธาตุเป็น ต

: อว + ตปฺ = อวตปฺ + ต = อวตปฺต > อวตตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ร้อนลง” หมายถึง ความร้อนปกคลุมลงมา

รากศัพท์ อว + ตปฺ มีรูปวิเคราะห์ (กระบวนการกระจายคำเพื่อหาความหมาย) เต็มๆ ดังนี้ –

…………..

สูริยรํสิสมฺผุฏฺฐาภาเวน น อวตปฺปติ อุทกเมตฺถาติ อโนตตฺโต = น้ำในสระนั้นย่อมไม่ร้อนเพราะไม่ถูกแสงอาทิตย์ เหตุนั้น สระนั้นจึงชื่อว่า “อโนตตฺโต” = สระที่มีน้ำไม่ร้อนเพราะไม่ถูกแสงอาทิตย์

…………..

(๓) “โอตตฺต”

บาลีอ่านว่า โอ-ตัด-ตะ รากศัพท์มาจาก โอ (คำอุปสรรค = ลง) + ตปฺ (ธาตุ = ร้อน, เดือดร้อน) + ต ปัจจัย, แปลง ปฺ ที่สุดธาตุเป็น ต

: โอ + ตปฺ = โอตปฺ + ต = โอตปฺต > โอตตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ร้อนลง” หมายถึง ความร้อนแผดเผาลงมา

รากศัพท์ โอ + ตปฺ มีรูปวิเคราะห์เต็มๆ ดังนี้ –

…………..

นตฺถิ สูริยานํ สนฺตาเปหิ โอตตฺตํ อุณฺหํ อุทกํ เอตฺถาติ อโนตตฺโต = น้ำร้อนเพราะดวงอาทิตย์แผดเผาในสระนั้นย่อมไม่มี เหตุนั้น สระนั้นจึงชื่อว่า “อโนตตฺโต” = “สระที่ไม่มีน้ำร้อน”

…………..

น + อวตตฺต แปลง น เป็น อน แปลง อว เป็น โอ

: น + อวตตฺต = อนวตตฺต > อโนตตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สระที่มีน้ำไม่ร้อนเพราะไม่ถูกแสงอาทิตย์”

น + โอตตฺต แปลง น เป็น อน

: น + โอตตฺต = อโนตตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สระที่ไม่มีน้ำร้อน”

…………..

บาลี “อโนตตฺต” ใช้ในภาษาไยเป็น “อโนดาต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อโนดาต : (คำนาม) ชื่อสระ ๑ ในสระทั้ง ๗ ในป่าหิมพานต์ ได้แก่ ๑. สระอโนดาต ๒. สระกัณณมุณฑะ ๓. สระรถการะ ๔. สระฉัททันตะ ๕. สระกุณาละ ๖. สระมัณฑากินี ๗. สระสีหัปปปาตะ. (ป. อโนตตฺต).”

ขยายความ :

คัมภีร์อรรถกถาแถลงเหตุที่สระนั้นได้นามว่า “อโนดาต” ไว้ดังนี้ –

…………..

จนฺทิมสุริยา ทกฺขิเณน วา อุตฺตเรน วา คจฺฉนฺตา ปพฺพตนฺตเรน ตตฺถ โอภาสํ กโรนฺติ ฯ อุชุํ คจฺฉนฺตา น กโรนฺติ ฯ เตเนวสฺส อโนตตฺโตติ สงฺขา อุทปาทิ ฯ

ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เมื่อโคจรไปทางทิศทักษิณหรือทิศอุดร ก็โคจรไปตามระหว่างภูเขา ส่องแสงไปที่ภูเขานั้น ไม่ส่องแสงผ่านสระนั้นไปตรงๆ เหตุนั้นแล สระนั้นจึงเกิดนามบัญญัติว่า “อโนดาต” แปลว่า “ดวงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง”

ที่มา:

ปปัญจสูทนี ภาค 3 หน้า 42 (อรรถกถาโปตลิยสูตร)

มโนรถปูรณี ภาค 3 หน้า 354 (อรรถกถาอัฏฐกนิบาต)

…………..

คัมภีร์จักกวาฬทีปนียกคำอธิบายเรื่องสระอโนดาตในอรรถกถามาแสดงไว้ ดังนี้ –

…………..

จริงอยู่ ในอรรถกถาทั้งหลายมีอรรถกถาอัฏฐกนิบาต อังคุตรนิกายเป็นต้น ได้พรรณนาสระอโนดาตไว้อย่างนี้ว่า “สระอโนดาตนั้นมีท่าเป็นที่อาบซึ่งมีน้ำปราศจากมลทินเช่นกับแก้วผลึก มีสัตว์น้ำ เช่น ปลา และเต่า มีกระดานหินอันจูงใจ มีบันไดทองและบันไดแก้วมณีจัดแจงไว้เป็นอันดี เป็นที่สรงสนานของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระขีณาสพ และเป็นที่อาบของฤๅษีผู้มีฤทธิ์ เป็นที่เล่นอุทยานกรีฑาของเทวดาและยักษ์เป็นต้น. ในข้างทั้งสี่ของสระอโนดาตนั้น มีปาก ๔ คือ ปากราชสีห์ ปากช้าง ปากม้า ปากโคอุสภะ ซึ่งเป็นทางไหลออกแห่งแม่น้ำทั้งสี่. ที่ฝั่งแม่น้ำซึ่งไหลออกจากปากราชสีห์ มีราชสีห์มากกว่าสัตว์อื่น ที่ฝั่งแม่น้ำซึ่งไหลออกจากปากช้าง ปากม้า ปากโคอุสภะ ก็มีช้าง มีม้า มีโคอุสภะมากกว่าสัตว์อื่น.”

ที่มา: จักกวาฬทีปนี

กรมศิลปากร จัดพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๒๓ หน้า ๓๙

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การที่เราไม่เคยเห็น ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่าสิ่งนั้นไม่มี

: เพราะมีสิ่งที่มีอยู่จริงเป็นอันมากที่เรายังไม่เคยเห็น

—————-

ภาพประกอบ: จากโพสต์ของ อภินันท์ นาคเกษม

#บาลีวันละคำ (3,724)

23-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *