กุลเชษฐ์ (บาลีวันละคำ 3,722)
กุลเชษฐ์
คนพิเศษในตระกูล
ประกอบด้วยคำว่า กุล + เชษฐ์
(๑) “กุล”
บาลีอ่านว่า กุ-ละ รากศัพท์มาจาก กุลฺ (ธาตุ = ผูก, พัน, นับ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: กุลฺ + ณ = กุล แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่เป็นเครื่องผูกพัน” “เชื้อสายที่ผูกพันกัน” “เชื้อสายอันเขานับรวมไว้”
“กุล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง –
(1) ตระกูล, วงศ์, สกุลผู้ดี (clan, a high social grade, good family)
(2) ครอบครัว, บ้าน, ประชาชน (household, house, people)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กุล ๑, กุล- : (คำนาม) ตระกูล, สกุล. (ป., ส.).”
(๒) “เชษฐ์”
บาลีเป็น “เชฏฺฐ” อ่านว่า เชด-ถะ รากศัพท์มาจาก วุฑฺฒ (เจริญ) + อิฏฺฐ ปัจจัย, แปลง วุฑฺฒ เป็น ช, แปลง อิ ที่ อิฏฺฐ เป็น เอ (อิฏฺฐ > เอฏฺฐ)
: วุฑฺฒ > ช + อิฏฺฐ = ชิฏฺฐ > เชฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “คนที่เจริญโดยวิเศษกว่าคนที่เจริญคนนี้ ๆ”
วาดเป็นภาพว่า ให้คนเจริญคือมีอายุมากมารวมกันหลายๆ คน แยกคนที่เจริญกว่าเพื่อนออกมาคนหนึ่ง แล้วชี้ไปที่คนอื่นๆ พลางพูดว่า “คนนี้เจริญกว่าคนพวกนี้”
“เชฏฺฐ” หมายถึง เจริญที่สุด หรือประเสริฐที่สุด
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายตามรากศัพท์ว่า “stronger than others” (แข็งแรงกว่าผู้อื่น) และบอกความหมายว่า better [than others], best, first, supreme; first-born; elder brother or sister, elder, eldest (ดีกว่า [สิ่งหรือผู้อื่น], ดีที่สุด, เลิศ, ยอด; หัวปี; พี่ชายหรือพี่สาวคนโต, แก่กว่า, แก่ที่สุด)
เชฏฺฐ สันสกฤตเป็น “เชฺยษฺฐ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เชฺยษฺฐ : (คำคุณศัพท์) ดียิ่ง, วิเศษยิ่ง, ประเสริฐ, บรม; แก่ยิ่ง, เก่ายิ่ง; เกิดก่อน; best, most excellent, pre-eminent; very old, oldest; or elder born;- น. ดาวหมู่หนึ่งซึ่งนับเป็นนักษัตร นักษัตรหมู่ที่สิบแปด, มีดาวอยู่สามดวง ๆ หนึ่งได้แก่ดาวแมลงป่อง; นิ้วกลาง; ทุกข์อันโรปยติเป็นภควดี; แม่น้ำคงคา; จิ้งจก; ชื่อเดือน; ความชรา; one of the asterisms considered as a lunar mansion; the eighteenth lunar mansion comprising three stars, of which one is Scorpionis; the middle finger; misfortune, personified as a goddess; the Ganges; a small house-lizard; the name of a month; old age.”
บาลี “เชฏฺฐ” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “เชษฐ” (เชด-ถะ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เชษฐ- ๑ : (คำวิเศษณ์) เจริญที่สุด, เจริญกว่า, อายุสูงสุด, อายุสูงกว่า. (คำนาม) พี่ผู้เป็นใหญ่ เช่น เชษฐบุรุษ. (ป. เชฏฺฐ; ส. เชฺยษฺฐ), (ราชา) ถ้าใช้ว่า พระเชษฐภคินี หมายถึง พี่สาว, ถ้าใช้ว่า พระเชษฐภาดา หรือ พระเชษฐา หมายถึง พี่ชาย.”
กุล + เชฏฺฐ = กุลเชฏฺฐ (กุ-ละ-เชด-ถะ) แปลว่า “ผู้ประเสริฐที่สุดในตระกูล” หรือ “ผู้ประเสริฐที่สุดของตระกูล” หมายถึง ผู้ใหญ่ในตระกูล (the clan-elders)
“กุลเชฏฺฐ” ในภาษาไทยใช้เป็น “กุลเชษฐ์” (กุน-ละ-เชด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำที่ขึ้นต้นด้วย “กุล-” ไว้หลายคำ คือ –
(1) กุลทูสก : ผู้ประทุษร้ายต่อตระกูล หมายถึงภิกษุที่ประจบตระกูลต่าง ๆ ด้วยอาการที่ผิดวินัย. (ป.).
(2) กุลธิดา : ลูกหญิงผู้มีตระกูล.
(3) กุลบดี : หัวหน้าตระกูล. (ส.).
(4) กุลบุตร : ลูกชายผู้มีตระกูล.
(5) กุลสตรี : หญิงผู้มีตระกูลและมีความประพฤติดี.
(6) กุลสัมพันธ์ : เกี่ยวเนื่องกันทางตระกูล. (ป.).
แต่คำว่า “กุลเชษฐ์” ยังไม่ได้เก็บไว้
ขยายความ :
คำว่า “กุลเชษฐ์” มีอยู่ในคำบาลีว่า “กุเลเชฏฺฐาปจายี” (กุเลเชฏฐาปะจายี) ประกอบด้วยคำว่า กุเลเชฏฺฐ (ผู้เจริญที่สุดในตระกูล) + อปจายี (ผู้เคารพยำเกรง)
“กุเลเชฏฺฐาปจายี” แปลว่า “ผู้เคารพยำเกรงผู้เจริญที่สุดในตระกูล” หมายความว่า ให้ความเคารพแก่ผู้ใหญ่ในตระกูล (paying due respect to the clan-elders)
“กุเลเชฏฺฐาปจายี” ปรากฏอยู่ในคาถาแสดง “วัตตบท” คือข้อปฏิบัติสู่ความเป็นท้าวสักกะ (ปฏิบัติตามนี้แล้วจะได้เป็นพระอินทร์) มีข้อความดังนี้ –
…………..
มาตาเปตฺติภรํ ชนฺตุํ
กุเลเชฏฺฐาปจายินํ
สณฺหํ สขิลสมฺภาสํ
เปสุเณยฺยปฺปหายินํ
มจฺเฉรวินเย ยุตฺตํ
สจฺจํ โกธาภิภุํ นรํ
ตํ เว เทวา ตาวตึสา
อาหุ สปฺปุริโส อิติ ฯ
(มาตาเปตติภะรัง ชันตุง
กุเลเชฏฐาปะจายินัง
สัณหัง สะขิละสัมภาสัง
เปสุเณยยัปปะหายินัง
มัจเฉระวินะเย ยุตตัง
สัจจัง โกธาภิภุง นะรัง
ตัง เว เทวา ตาวะติงสา
อาหุ สัปปุริโส อิติ ฯ)
(1) เลี้ยงมารดาบิดา
(2) ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
(3) กล่าวถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน
(4) ละวาจาส่อเสียด
(5) กำจัดความตระหนี่
(6) มีวาจาสัตย์
(7) ข่มความโกรธได้
ทวยเทพชั้นดาวดึงส์เรียกนรชนผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้นั่นแลว่าสัปบุรุษ
ที่มา: ปฐมเทวสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 907
และดูเพิ่มเติมที่ สักกวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 2
…………..
คำว่า “กุเลเชฏฺฐาปจายินํ” (รูปคำเดิม “กุเลเชฏฺฐาปจายี”) อรรถกถาขยายความไว้ดังนี้ –
…………..
กุเลเชฏฺฐาปจายีติ กุเล เชฏฺฐกานํ มหาปิตา มหามาตา จูฬปิตา จูฬมาตา มาตุโล มาตุลานีติอาทีนํ อปจิติการโก ฯ
คำว่า กุเลเชฏฺฐาปจายี หมายความว่า กระทำความยำเกรงต่อผู้เป็นใหญ่ในตระกูล เป็นต้นว่า ปู่ (มหาปิตา) ย่า (มหามาตา) อา (จูฬปิตา) น้า (จูฬมาตา) ลุง (มาตุโล) ป้า (มาตุลานี)
ที่มา: สารัตถปกาสินี ภาค 1 หน้า 471
…………..
หมายเหตุ :
ศัพท์ว่า “กุเลเชฏฺฐาปจายี” ในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ สะกดแยกคำเป็น “กุเล เชฏฺฐาปจายี” ก็มี ในอรรถกถาฉบับของไทยเราสะกดแยกคำทุกแห่ง
ศัพท์นี้ว่าตามหลักแล้วควรเป็นคำเดียวกัน คือสะกดเป็น “กุเลเชฏฺฐาปจายี” เป็นคำสมาสชนิดที่เรียกว่า “อลุตตสมาส” คือไม่ลบวิภัตติที่บทหน้า
“กุเล” รูปคำเดิมเป็น “กุล” (กุ-ละ) แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เปลี่ยนรูปเป็น “กุเล” (แปลว่า “ในตระกูล”) เข้าสมาสกับ “เชฏฺฐาปจายี”
“กุเล” เกี่ยวข้องกับ “เชฏฺฐ” (ผู้เจริญที่สุด) เท่านั้น คือหมายถึง “ผู้เจริญที่สุดในตระกูล” ไม่เกี่ยวโดยตรงกับ “อปจายี” (ผู้เคารพยำเกรง) คือไม่ได้หมายถึง “ผู้เคารพยำเกรงในตระกูล” แต่หมายถึง “ผู้เคารพยำเกรงผู้เจริญที่สุด” ดังนั้น “กุเล” กับ “เชฏฺฐ” เป็นคำเดียวกันจึงเหมาะที่สุด เป็นการชี้ชัดลงไปว่า “กุเล” เกี่ยวข้องกับ “เชฏฺฐ” เท่านั้น คือหมายถึง “ผู้เจริญที่สุดในตระกูล” ไม่ใช่ “ผู้เคารพยำเกรงในตระกูล”
“กุเล เชฏฺฐาปจายี” เข้าสมาสกัน ถ้าลบวิภัตติก็จะได้รูปเป็น “กุลเชฏฺฐาปจายี” (กุ-ละ-เชด-ถา-ปะ-จา-ยี) ในที่นี้ไม่ลบวิภัตติ จึงได้รูปเป็น “กุเลเชฏฺฐาปจายี” (กุ-เล-เชด-ถา-ปะ-จา-ยี)
ขอเชิญนักเรียนบาลีร่วมแสดงความเห็น เห็นตามนี้หรือเห็นต่างจากนี้ ว่ากันตามหลักวิชาได้เต็มที่ เพื่อผู้อ่านจะได้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นหลักต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่เห็นหัวผู้ใหญ่ในตระกูล
: ความเป็นมนุษย์ก็สูญไปจากหัวใจ
#บาลีวันละคำ (3,722)
21-8-65
…………………………….
…………………………….