บาลีวันละคำ

กุทฺรูโส – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด (บาลีวันละคำ 3,842)

กุทฺรูโส – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด

…………..

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2508, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 126 (คาถา 450) (เชิงอรรถ) บอกรายการธัญชาติ 7 ชนิดไว้ดังนี้ –

(1) สาลิ = ข้าวสาลี

(2) วีหิ = ข้าวเจ้า

(3) ยโว = ข้าวเหนียว

(4) โคธุโม = ข้าวละมาน

(5) กงฺคุ = ข้าวฟ่าง

(6) วรโก = ลูกเดือย

(7) กุทฺรูโส = หญ้ากับแก้

…………..

“กุทฺรูโส” = หญ้ากับแก้

อ่านว่า กุด-ทฺรู-โส รูปคำเดิมเป็น “กุทฺรูส” อ่านว่า กุด-ทฺรู-สะ รากศัพท์มาจาก โกร (โลหิต) + ทูสฺ (ธาตุ = เกลียด) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง โอ ที่ โกร เป็น อุ (โกร > กุร), กลับ รฺท (คือ รฺ ที่ โกร และ ท ที่ ทูสฺ) เป็น ทฺร

: โกร + ทูสฺ = โกรทูสฺ + อ = โกรทูส > กุรฺทูส > กุทฺรูส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “หญ้าที่เกลียดโลหิต”

“กุทฺรูส” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “กุทฺรูโส”

คำแปล :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กุทฺรูส” ว่า a kind of grain พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปลเป็นไทยว่า หญ้ากับแก้

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล grain ว่า เมล็ด, เมล็ดข้าว, ข้าว

พจนานุกรม 3 ฉบับ คือ (๑) พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2508, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 126 (คาถา 450) (เชิงอรรถ) (๒) หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) (๓) คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา แปลโดยพระมหาไพโรจน์ ญาณกุสโล (นิรัญรักษ์) และนายจำรูญ ธรรมดา พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2559, หจก.ประยูรสาส์นไทยการพิมพ์ กรุงเทพฯ หน้า 182 (คาถา 450) แปล “กุทฺรูส” ว่า หญ้ากับแก้ ตรงกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ที่คำว่า “ธัญชาติ” แสดงรายการธัญชาติไว้ 7 ชนิด คือ ๑. ข้าวไม่มีแกลบ ๒. ข้าวเปลือก ๓. หญ้ากับแก้ ๔. ข้าวละมาน ๕. ลูกเดือย ๖. ข้าวแดง ๗. ข้าวฟ่าง เมื่อเทียบกับคำบาลี หญ้ากับแก้ ก็ตรงกับศัพท์ว่า “กุทฺรูส”

ยุติว่า “กุทฺรูส” คือ หญ้ากับแก้

ขยายความ :

มีปัญหาว่า “หญ้ากับแก้” คือพืชชนิดไหน หน้าตาเป็นอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “กับแก้” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) “กับแก้ ๑ : (ภาษาถิ่น-พายัพ) (คำนาม) ชื่อไม้ล้มลุกไร้ดอกชนิด Selaginella argentea (Wall. ex Hook. et Grev.) Spring ในวงศ์ Selaginellaceae ใช้ทำยาได้ ใบอ่อนใช้เป็นผัก, พ่อค้าตีเมีย ก็เรียก.

(2) กับแก้ ๒ : (ภาษาถิ่น-อีสาน) (คำนาม) ตุ๊กแก. (ดู ตุ๊กแก ๑).

ดูตามพจนานุกรมฯ “หญ้ากับแก้” ก็น่าจะเป็น “กับแก้ ๑” คำนิยามที่ว่า “ใบอ่อนใช้เป็นผัก” พอจะอนุโลมว่าเป็น “ธัญชาติ” ได้กระมัง

ผู้เขียนบาลีวันละคำตรวจหาภาพ “หญ้ากับแก้” ใน google ไม่พบภาพที่ตรงกับลักษณะที่พจนานุกรมฯ บรรยายไว้ และไม่มีความรู้พอจะตัดสินได้ว่าบรรดาภาพที่แสดงไว้ใน google ซึ่งมีมากมายหลายหลากนั้น ภาพไหนคือ “หญ้ากับแก้” ตัวจริงตามที่พจนานุกรมฯ บรรยายไว้ และเป็น 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด ที่คำบาลีเรียกว่า “กุทฺรูส”

ท่านผู้ใดรู้จัก “หญ้ากับแก้” ที่เป็น 1 ในธัญชาติ 7 ชนิดตัวจริง ขอความกรุณาชี้แนะหรือนำภาพมาแสดงเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำบางคำรู้ชื่อ แต่ไม่รู้ตัว

: คนบางคนรู้หน้า แต่ไม่รู้ใจ

—————-

หมายเหตุ: ภาพประกอบเป็นภาพหญ้าชนิดหนึ่ง นำมาจาก google หญ้าชนิดนี้ทางบ้านผู้เขียนบาลีวันละคำ คือท้องที่ตำบลหนองกระทุ่ม ดอนทราย อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เรียกว่า “หญ้ากับแก้” การที่มีภาพหญ้าชนิดนี้ใน google สันนิษฐานว่าคงมีอีกหลายท้องที่ที่เรียกหญ้าชนิดนี้ว่า “หญ้ากับแก้” ตรงกัน แต่ที่เรียกต่างกันก็คงมีมาก

ได้ยินว่ารากและใบของหญ้าชนิดนี้ใช้ทำยาได้ แต่ไม่เคยได้ยินว่ามีคนเอาใบอ่อนมากินเป็นผักดังที่พจนานุกรมฯ บรรยายไว้ ดูลักษณะแล้ว หญ้าชนิดนี้ไม่น่าจะเป็น “กุทฺรูส” ตามชื่อบาลีที่แปลว่า “หญ้ากับแก้”

#บาลีวันละคำ (3,842)

19-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *