บาลีวันละคำ

ลัคนา (บาลีวันละคำ 3,726)

ลัคนา

มาจากภาษาอะไร

อ่านว่า ลัก-คะ-นา

“ลัคนา” เป็นคำที่ใช้ในโหราศาสตร์ เช่น –

ลัคนาสถิตราศีกันย์

อาทิตย์กุมลัคน์

ลัคนกาล

ลัคนทิน

คำว่า “ลัคน-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “ลัคน์” และ “ลัคนา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ลัคน-, ลัคน์, ลัคนา : (คำนาม) ราศีที่ปรากฏขึ้นที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันออกในเวลาเจ้าของชะตาเกิด เช่น นาย ก เกิดเวลา ๑๑.๐๐ น. ลัคนาสถิตราศีกันย์, ในดวงชะตาถ้าอาทิตย์อยู่ในราศีเดียวกับลัคน์ เรียกว่า อาทิตย์กุมลัคน์; เวลาหรือวันที่ถือว่าเป็นมงคลสําหรับลงมือทําการใด ๆ, ถ้าเป็นเวลาที่เป็นมงคล เรียกว่า ลัคนกาล ถ้าเป็นวันที่เป็นมงคล เรียกว่า ลัคนทิน เช่น โหรคํานวณว่าวันที่ ๑๔ พฤษภาคม เป็น ลัคนทิน เวลา ๑๗.๐๐ น. เป็น ลัคนกาล เป็นวันและเวลาที่เหมาะสําหรับทําพิธีรดนํ้าแต่งงาน.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ลัคน-” “ลัคน์” “ลัคนา” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากภาษาอะไร แต่คำทั้ง 3 รูปนี้เป็นคำเดียวกันแน่

ในบาลีมีคำว่า “ลคน” และ “ลคฺคน” รากศัพท์มาจาก ลคฺ (ธาตุ = เกี่ยวข้อง, ติด, ข้อง; สงสัย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ลคฺ + ยุ > อน = ลคน (ละ-คะ-นะ)

และซ้อน คฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย

: ลคฺ + คฺ + ยุ > อน = ลคฺคน (ลัก-คะ-นะ)

“ลคน” และ “ลคฺคน” แปลตามศัพท์ว่า “การเกี่ยวข้อง” “การติดข้อง”

“ลคน” และ “ลคฺคน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การเกาะติด (adhering)

(2) การคล้อง, การทำให้มั่น (slinging round, making fast)

บาลี “ลคน” และ “ลคฺคน” สันสกฤตเป็น “ลคฺน” (บาลี ลคน ไม่มีจุดใต้ -ค- อ่านว่า ละ-คะ-นะ, สันสกฤต ลคฺน มีจุดใต้ -คฺ- อ่านว่า ลัก-เนียะ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ลคฺน : (คำนาม) ‘ลัคน์, ลัคนะ, ลัคนา,’ การขึ้นแห่งราศี; ไวดาลิก, กวีและนักขับร้อง; the rising of a sign; a bard, a poet and singer; – ค. อันเพ่งฉเพาะ; มีความอาย; ติดต่อกับ; intent on; ashamed; connected with.”

คิดเล่นสนุกๆ :

รูปคำที่นิยมพูดกันสั้นๆ ในภาษาโหร คือ “ลัคน์” อ่านว่า ลัก รูปและเสียงชวนให้ลากเข้าไปหาคำว่า lock (ล็อค) ในภาษาอังกฤษ ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ใส่กุญแจ ปิดประตูไม่ให้เข้า ทำให้ติดอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของ “ลัคน์” อย่างยิ่ง

นี่คือลักษณะอย่างหนึ่งที่นักภาษาเรียกภาษาอังกฤษและบาลีสันสกฤตว่า Indo-European languages พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลว่า แขกปนฝรั่ง ภาษาแขกและฝรั่งที่มีรากร่วมกัน

อภิปราย :

คำนิยามในสันสกฤตที่ว่า “การขึ้นแห่งราศี” (the rising of a sign) สอดคล้องกับคำนิยามในพจนานุกรมฯ ที่ว่า “ราศีที่ปรากฏขึ้นที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันออกในเวลาเจ้าของชะตาเกิด”

พิจารณาตามรากศัพท์และความหมายที่แสดงมา น่าจะยุติได้ว่า “ลัคน-” “ลัคน์” “ลัคนา” ในภาษาไทยมาจากบาลี “ลคน” “ลคฺคน” และสันสกฤต “ลคฺน” นั่นเอง

ดังนั้น พจนานุกรมฯ น่าจะใส่วงเล็บไว้ข้างท้ายคำนิยามได้อย่างมั่นใจว่า (ส. ลคฺน; ป. ลคน, ลคฺคน)

“ลัคน-” “ลัคน์” “ลัคนา” มีความหมายและมีแง่มุมที่น่ารู้อย่างไรอีก นอกเหนือจากความหมายที่พจนานุกรมฯ ให้ไว้ ถ้าผู้มีความรู้ทางโหราศาสตร์จะกรุณาช่วยกันอธิบายขยายความเพิ่มเติมให้พิสดารออกไปอีก ก็จะเป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์สำหรับผู้สนใจสืบไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ราหูกุมลัคน์ กลัวนักนี่กระไร

: กิเลสกุมใจ อะไรจะน่ากลัวกว่ากัน

#บาลีวันละคำ (3,726)

25-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *