บาลีวันละคำ

จาตุทสี (บาลีวันละคำ 3,727)

จาตุทสี

วันทำความดีเป็นพิเศษ

“จาตุทสี” พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า [-ทะสี] คือบอกเฉพาะคำหลัง ส่วนคำหน้า คือ “จาตุ-” ไม่ได้บอกคำอ่าน ถ้ามีเฉพาะ “จาตุ” คำเดียว ไม่ต้องบอกคำอ่านก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าอ่านตรงๆ ว่า จา-ตุ แต่เมื่อมี “ทสี” มาต่อท้ายเป็น “จาตุทสี” ย่อมชวนให้สงสัยว่า -ตุ + ท- จะอ่านอย่างไร

อ่านว่า จา-ตุ-ทะ-สี เหมือนในคำเดิม

หรืออ่านว่า จา-ตุด-ทะ-สี โดยถือว่า ท เป็นกึ่งตัวสะกด = ตุท(ทะ)สี

ในบาลี คำนี้เขียน “จาตุทฺทสี” (ท 2 ตัว) อ่านว่า จา-ตุด-ทะ-สี

ในภาษาไทย ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยม เขียนเป็น “จาตุทสี” (ท ตัวเดียว) ก็น่าจะอ่านเท่าคำเดิม คือ จา-ตุด-ทะ-สี

ลองออกเสียง จา-ตุ-ทะ-สี เทียบกับ จา-ตุด-ทะ-สี จะเห็นว่า ตุด-ทะ เสียงกลมกลืนเป็นธรรมชาติมากกว่า ตุ-ทะ

บาลี “จาตุทฺทสี” ประกอบด้วยคำว่า จาตุ + ทสี

(๑) “จาตุ”

รูปคำเดิมเป็น “จตุ” อ่านว่า จะ-ตุ เป็นศัพท์จำพวก “สังขยา” (คำสำหรับนับจำนวน) แปลว่า สี่ (จำนวน 4)

สมาสกับ “ทสี” ทีฆะ อะ ที่ จ- เป็น อา (จตุ > จาตุ)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“จาตุ- : (คำวิเศษณ์) แปลงมาจาก จตุ หมายความว่า สี่, ใช้ประกอบหน้าคําที่มาจากภาษาบาลี.”

(๒) “ทสี”

อ่านว่า ทะ-สี รูปคำเดิมเป็น “ทส” อ่านว่า ทะ-สะ เป็นศัพท์สังขยา แปลว่า สิบ (จำนวน 10)

โปรดสังเกตว่า “ทส” บาลีอ่านว่า ทะ-สะ ก็จริง แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย (เป็น “ทศ” รูปสันสกฤต) เราอ่านว่า ทด ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น “ทศวรรษ” เราอ่านว่า ทด-สะ-วัด ไม่ใช่ ทะ-สะ-วัด

จตุ + ทส ซ้อน ทฺ ระหว่างศัพท์

: จตุ + ทฺ + ทส = จตุทฺทส (จะ-ตุด-ทะ-สะ) แปลว่า “สิบสี่” (จำนวน 14)

จำนวน “สิบสี่” ในบาลี นอกจาก “จตุทฺทส” แล้วยังเป็น “จุทฺทส” (จุด-ทะ-สะ) อีกรูปหนึ่ง

“จตุทฺทส” ใช้เป็นคำวิเศษณ์ (บาลีเรียก “วิเสสนะ”) ขยายคำว่า “ติถิ”

…………..

แถม :

“ติถิ” (ติ-ถิ) แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย” “เวลาที่รักษาไว้” หมายถึง วัน, โดยเฉพาะวันตามจันทรคติ (a lunar day)

“ติถิ” ภาษาไทยใช้เป็น “ดิถี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ดิถี : (คำนาม) วันตามจันทรคติ เช่น ขึ้นคํ่าหนึ่ง แรม ๒ คํ่า, ใช้ว่า ดฤถี ก็มี. (ป., ส. ติถิ).”

…………..

“ติถิ” ในบาลีเป็นอิตถีลิงค์ “จตุทฺทส” จึงต้องเปลี่ยนรูปเป็นอิตถีลิงค์ด้วย โดยการลง อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ และทีฆะ อะ ที่ จ-(ตุ) เป็น อา

: จตุทฺทส + อี = จตุทฺทสี > จาตุทฺทสี (ติถิ) แปลว่า “ดิถีที่สิบสี่”

ในภาษาไทย ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จาตุทสี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“จาตุทสี : (คำนาม) ดิถีที่ ๑๔ (คือ วัน ๑๔ คํ่า). (ป. จาตุทฺทสี; ส. จตุรฺทศี).”

ขยายความ :

มีบทอาราธนาธรรมวันอุโบสถบทหนึ่งว่า –

…………..

จาตุทฺทสี ปณฺณรสี

ยา จ ปกฺขสฺส อฏฺฐมี

กาลา พุทฺเธน ปญฺญตฺตา

สทฺธมฺมสฺสวนสฺสิเม.

แปลว่า –

วันเหล่านี้คือ สิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ

และแปดค่ำแห่งปักษ์

เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

เพื่อการฟังพระสัทธรรม

…………..

ขยายความว่า วันธรรมสวนะคือวันฟังธรรมตามหลักนิยมในพระพุทธศาสนา มีเดือนละ 4 วัน คือ (1-2) วันขึ้นและแรม 8 ค่ำ (3) วันเดือนเพ็ญ คือขึ้น 15 ค่ำ และ (4) วันเดือนดับ คือแรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ

วันเหล่านี้ก็คือที่เราเรียกรู้กันเป็นสามัญว่า “วันพระ”

ในที่นี้ “จาตุทฺทสี” หมายถึง 14 ค่ำที่เป็นวันสิ้นเดือนตามจันทรคติ

เดือนตามจันทรคติ คือ เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือน 3 ฯลฯ ถ้าเป็นเดือนคู่ คือเดือนยี่ เดือน 4 เดือน 6 เดือน 8 เดือน 10 เดือน 12 จะมีเดือนละ 30 วัน ข้างขึ้น 15 วัน ข้างแรม 15 วัน วันสิ้นเดือนคือแรม 15 ค่ำ

ถ้าเป็นเดือนคี่ คือเดือนอ้าย เดือน 3 เดือน 5 เดือน 7 เดือน 9 เดือน 11 จะมีเดือนละ 29 วัน ข้างขึ้น 15 วัน ข้างแรม 14 วัน วันสิ้นเดือนคือแรม 14 ค่ำ

คำบาลีว่า “จาตุทฺทสี” ในคำอาราธนาธรรมดังที่ยกมาข้างต้น หมายถึงวันสิ้นเดือนคือแรม 14 ค่ำเช่นนี้แหละ

ดังนั้น แรม 14 ค่ำจึงมีนัยเป็น 2 คือ –

แรม 14 ค่ำในเดือนคู่ เป็นวันธรรมดา

แรม 14 ค่ำในเดือนคี่ เป็นวันธรรมสวนะ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความดีทำวันไหนก็ได้-ตามที่คนรุ่นใหม่สมมุติ

: แต่สำหรับชาวพุทธ วันพระคือวันที่กำหนดให้ทำความดี

#บาลีวันละคำ (3,727)

26-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *