บาลีวันละคำ

คาถามหาจักรพรรดิ (บาลีวันละคำ 3,729)

คาถามหาจักรพรรดิ

พิจารณาเฉพาะคำในคาถา ไม่แตะต้องศรัทธาของท่านผู้ใด

…………..

ทำความเข้าใจก่อน :

เมื่อเอ่ยถึง “คาถามหาจักรพรรดิ” มักจะเอ่ยถึงหลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปญฺโญ วัดสะแก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ควบคู่กันไปด้วยเสมอ จึงเป็นที่เข้าใจกันว่า “คาถามหาจักรพรรดิ” เป็นคาถาของหลวงปู่ดู่ หมายความว่า คำในคาถานั้นเป็นถ้อยคำที่หลวงปู่ดูคิดขึ้น

“คาถามหาจักรพรรดิ” ที่เผยแพร่ทางสื่อต่างๆ มีถ้อยคำผิดแผกยักเยื้องกันไปอยู่บ้าง ที่นำมาพิจารณาในที่นี้เป็นสำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะมีถ้อยคำผิดเพี้ยนไปจากสำนวนอื่นๆ ไม่พึงเข้าใจว่าสำนวนนี้เป็นสำนวนที่ถูกต้อง แต่ขอให้ถือว่าเป็นสำนวนหนึ่งที่น่าจะเป็นกลางๆ กล่าวตามภาษาปัจจุบันก็ว่า “คาถามหาจักรพรรดิน่าจะมีถ้อยคำประมาณนี้”

“คาถามหาจักรพรรดิ” ที่นำมาพิจารณา มีข้อความดังนี้ –

…………..

นะโมพุทธายะ พระพุทธะ ไตรรัตนะญาณ

มณีนพรัตน์ สีสะหัสสะ สุธรรมา

พุทโธ ธัมโม สังโฆ ยะธาพุทโมนะ

พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา

อัคคีทานัง วะรังคันธัง สีวลี จะมหาเถรัง

อะหังวันทามิ ทูระโต อะหังวันทามิ ธาตุโย

อะหังวันทามิ สัพพะโส

พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ

…………..

พิจารณาถ้อยคำ :

(1) นะโมพุทธายะ

โปรดทราบว่า “นะโม” กับ “พุทธายะ” เป็นคนละคำกัน เมื่อเขียนรวมกันเป็นประโยคจึงต้องแยกกันเป็น “นะโม พุทธายะ” ไม่ใช่ติดกันเป็น “นะโมพุทธายะ”

เทียบคล้ายกับ the กับ sun เป็นคนละคำกัน จึงต้องแยกกันเป็น the sun ไม่ใช่ thesun

“นะโม พุทธายะ” เขียนแบบบาลีเป็น “นโม พุทฺธาย” (พุทฺ- มีจุดใต้ ทฺ)

แปลยกศัพท์ :

นโม = อันว่าความนอบน้อม

(เม = ของข้าพเจ้า, อตฺถุ = จงมี)

พุทฺธาย = แด่พระพุทธเจ้า

แปลโดยพยัญชนะ :

อันว่าความนอบน้อม (ของข้าพเจ้า จงมี) แด่พระพุทธเจ้า

แปลโดยอรรถ :

ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า

“นะโม พุทธายะ” โบราณเรียกว่า “หัวใจพระเจ้าห้าพระองค์” หนังสือเก่าๆ นิยมเขียนหรือพิมพ์ไว้ที่หน้าต้น นับถือกันว่าเป็นคำไหว้ครูที่ประเสริฐนัก

(2) พระพุทธะ ไตรรัตนะญาณ

วรรคนี้ควรจะเขียนติดกันเป็น “พระพุทธไตรรัตนญาณ” (ไม่ต้องมีสระ อะ ที่ พุทธ และที่ รัตน) แปลความว่า พระพุทธเจ้ามีพระญาณหยั่งรู้ในพระรัตนตรัย

(3) มณีนพรัตน์

วรรคนี้เป็นคำที่มีใช้ในภาษาไทย หมายถึงแก้ว 9 อย่าง คือ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์

(4) สีสะหัสสะ สุธรรมา

คำที่มีปัญหาคือ “สีสะหัสสะ” ถ้าเป็นคำบาลีจะแปลอย่างไร

ถ้าแยกเป็น สีสะ + หัสสะ “สีสะ” แปลว่า หัว คือศีรษะ “หัสสะ” แปลว่า ร่าเริง ยังไม่ทราบว่าจะ “ลากเข้าความ” ได้อย่างไร

ถ้าแยกเป็น สี + สะหัสสะ “สี” พยางค์เดียวในบาลียังไม่พบว่ามีศัพท์เช่นนี้ “สะหัสสะ” แปลว่า พัน (จำนวน 1,000) รวมกันแล้วก็ไม่ทราบว่า อะไรพันหรือพันอะไร

ส่วน “สุธรรมา” เขียนแบบบาลีเป็น “สุธมฺมา” ตามศัพท์แปลว่า “ธรรมอันดีงาม” เมื่อรวมกันเป็น “สีสะหัสสะ สุธรรมา” (ควรจะเขียนติดกันเป็น “สีสะหัสสะสุธรรมา”) ก็ยังลากเข้าความไม่ได้อยู่นั่นเอง

คำบาลีที่มีเสียงคละเคล้าใกล้เคียงกับ “สีสะหัสสะสุธรรมา” ที่สุดที่ผู้เขียนบาลีวันละคำนึกได้ในเวลานี้ คือคำว่า “จะตุราสีติสะหัสสะธัมมักขันธา” แปลว่า “พระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์”

“สี” มีในคำว่า “จะตุราสีติ”

“สะหัสสะ” ตรงกันกับ “สะหัสสะ”

“สุธรรมา” เสียงพอกล้อมแกล้มไปกับ “-สะธัมมักขันธา”

“จะตุราสีติสะหัสสะธัมมักขันธา” ในบาลี ยุบย่อมาเป็น “สีสะหัสสะสุธรรมา” ในคาถามหาจักรพรรดิ

โปรดอย่าลืมว่า นี่เป็นข้อสันนิษฐานของผู้เขียนบาลีวันละคำแต่เพียงผู้เดียว

ขอสรุปความในตอนนี้ไว้ทีหนึ่งก่อนว่า ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจว่า คำว่า “พระพุทธไตรรัตนญาณ” เป็นชื่อพระพุทธปฏิมาองค์ใดองค์หนึ่ง อ่านพบในเฟซบุ๊กแห่งหนึ่ง มีข้อความตอนหนึ่งว่า –

…………..

… พระพุทธไตรรัตนญาณฯ พระพุทธรูปที่หลวงน้าสายหยุด พระภิกษุผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหลวงปู่ดู่ให้ทำหน้าที่อบรมกรรมฐานให้ผู้มาใหม่ ได้ร่วมกับพี่มานพ ศิษย์อาวุโสของหลวงปู่ สร้างไว้ก่อนจะมรณภาพ …

https://www.facebook.com/amatatum1/posts/pfbid02u1iQDNv1VEG9kzUG6whpafiE2hPTong9JijeSYFRsehFFvupQjHjeWFaF1Ww9C97l

…………..

ในที่นี้ คำว่า “พระพุทธไตรรัตนญาณฯ” มีเครื่องหมายไปยาลน้อย ทำให้เข้าใจว่า ชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ต้องมีสร้อยต่อไปอีก และสร้อยนั้นก็น่าจะเป็น “มณีนพรัตน์” ในวรรคต่อมานั่นเอง

นามเต็มน่าจะเป็น “พระพุทธไตรรัตนญาณ มณีนพรัตน์ สีสะหัสสะสุธรรมา”

(5) พุทโธ ธัมโม สังโฆ

วรรคนี้เป็นคำระบุถึงพระรัตนตรัย เป็นคำคุ้นปากของชาวพุทธอยู่แล้ว

พุทโธ = พระพุทธเจ้า

ธัมโม = พระธรรม

สังโฆ = พระสงฆ์

(6) ยะธาพุทโมนะ

วรรคนี้ก็คือ “นะโม พุทธายะ” นั่นเอง แต่กลับหลังเป็นหน้า ได้ยินเรียกกันว่า “หัวใจพระเจ้าห้าพระองค์ถอยหลัง”

เมื่อเขียนกลับหลังเป็นหน้าเช่นนี้ ก็คงจำต้องอนุโลมให้เขียนติดกันไป ไม่ต้องเป็น “ยะธาพุท โมนะ”

(7) พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา

วรรคนี้เป็นคำบาลีแบบไทย คือลีลาเป็นบาลี แต่รูปและเสียงเป็นคำไทย

พุทธะบูชา = บูชาพระพุทธเจ้า

ธัมมะบูชา = บูชาพระธรรม

สังฆะบูชา = บูชาพระสงฆ์

(8 ) อัคคีทานัง

คำนี้แปลตามศัพท์บาลีว่า “การให้ไฟ” หมายถึง จุดไฟ มีประโยคบาลีแปลเป็นไทยว่า “ให้ไฟที่บ้าน” หรือ “ให้ไฟในบ้าน” หมายถึง จุดไฟเผาบ้าน

(9) วะรังคันธัง

คำนี้ควรเขียนแยกกันเป็น “วะรัง คันธัง” แปลว่า “กลิ่นอันประเสริฐ” หมายถึงกลิ่นอะไรไม่อาจทราบได้

(10) สีวลี จะมหาเถรัง

วรรคนี้ถ้าเขียนแบบคำอ่าน ควรเขียนเป็น “สีวะลี จะ มะหาเถรัง” (“จะ” เว้นวรรค เป็นคนละคำกับ “มะหาเถรัง”)

วรรคนี้เข้าใจว่าตัดมาจากคำบูชาพระสีวลีที่ขึ้นต้นว่า “สีวะลี จะ มะหาเถโร เทวะตานะระปูชิโต” (อนึ่ง พระสีวลีมหาเถระอันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว) ในที่นั้น “สีวะลี มะหาเถโร” เป็นประธานในประโยค จึงประกอบวิภัตติเป็นปฐมาวิภัตติ

แต่ในที่นี้ “สีวะลี” คงเป็น “สีวะลี” แต่ “มะหาเถโร” เปลี่ยนเป็น “มะหาเถรัง” ภาษาไวยากรณ์เรียกว่าเป็น “กรรม” ในประโยค “สีวะลี” เป็นคำขยาย “มะหาเถรัง” ภาษาไวยากรณ์เรียกว่าเป็น “วิเสสนะ” ต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำที่ตนขยาย เมื่อ “มะหาเถโร” เปลี่ยนเป็น “มะหาเถรัง” “สีวะลี” ก็ต้องเปลี่ยนด้วย แต่จะเปลี่ยนเป็นอะไร ตรงนี้แหละที่ต้องรู้หลักที่เรียกว่า “แบบแจก” คือสูตรการเปลี่ยนรูปคำนามเมื่อแจกด้วยวิภัตติต่างๆ

ขอรวบรัดไปที่รูปสำเร็จเลย “สีวะลี” ต้องเปลี่ยนเป็น “สีวะลิง” เขียนแบบบาลีเป็น “สีวลึ” (ล ลิง สระ อึ)

สรุปว่า –

ถ้า “มะหาเถโร” เป็น “สีวะลี”

ถ้า “มะหาเถรัง” เป็น “สีวะลิง”

(11) อะหังวันทามิ ทูระโต

วรรคนี้ต้องเขียนเป็น “อะหัง วันทามิ ทูระโต” (อีก 2 วรรคก็เช่นเดียวกัน) “อะหัง” กับ “วันทามิ” เป็นคนละคำกัน

(12) อะหังวันทามิ ธาตุโย

เขียนเป็น “อะหัง วันทามิ ธาตุโย”

(13) อะหังวันทามิ สัพพะโส

เขียนเป็น “อะหัง วันทามิ สัพพะโส”

อะหังวันทามิ ทูระโต = ข้าพเจ้าขอไหว้จากที่ไกล

อะหัง วันทามิ ธาตุโย = ข้าพเจ้าขอไหว้พระธาตุ

อะหัง วันทามิ สัพพะโส = ข้าพเจ้าขอไหว้ครบถ้วนทุกประการ

3 วรรคนี้เป็นคำสุดท้ายของบทนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ตามที่ต่างๆ ผู้ไหว้ไม่สามารถไปไหว้ให้ถึงสถานที่นั้นๆ ได้ จึง “ขอไหว้จากที่ไกล” และ “ขอไหว้ครบถ้วนทุกประการ” คือไม่ว่าจะมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ที่ไหน ขอไหว้หมดทุกที่ทุกทิศ

(14) พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ

วรรคนี้เป็นไทยปนบาลี คือ “พุทธะ ธัมมะ สังฆะ” เป็นไทย ส่วน “ปูเชมิ” เป็นบาลี ถ้าจะให้เป็นบาลีครบสูตรต้องเป็น “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ปูเชมิ”

“พุทธัง ปูเชมิ” = ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า

“ธัมมัง ปูเชมิ” = ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรม

“สังฆัง ปูเชมิ” = ข้าพเจ้าขอบูชาพระสงฆ์

…………..

สรุป :

ผู้เขียนบาลีวันละคำทำหน้าที่แปลถ้อยคำใน “คาถามหาจักรพรรดิ” พอให้เข้าใจเท่านั้น วรรคไหนคำไหนควรจะเป็นอย่างไรก็เป็นเพียงความคิดเห็นโดยยึดหลักภาษาเป็นเกณฑ์ ในที่นี้ไม่ได้สรุปว่า “คาถามหาจักรพรรดิ” ที่ครบถ้วนถูกต้องถ้อยคำควรจะเป็นอย่างไร ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้นำ “คาถามหาจักรพรรดิ” ไปเผยแพร่ที่จะพิจารณาโดยรอบคอบ และขอให้เป็นหน้าที่ของผู้ศรัทธาเลื่อมใสจะพิจารณานำไปท่องบ่นตามศรัทธา และถ้าใช้ปัญญาเข้ากำกับไว้ด้วยเสมอ การท่องบ่น “คาถามหาจักรพรรดิ” ก็คงจะอำนวยผลสมความมุ่งหมาย

…………..

ดูก่อนภราดา!

ความเชื่อของคนรุ่นเก่า

: คาถา ถ้าแปลแล้วจะไม่ขลัง

ความเชื่อของคนรุ่นใหม่

: คาถา ยิ่งแปลยิ่งขลัง

———————

ตามคำขอของ พิชัยโรจน์ ชายเกตุ

#บาลีวันละคำ (3,729)

28-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *