บาลีวันละคำ

อภัพบุคคล [2] (บาลีวันละคำ 3,728)

อภัพบุคคล [2]

คืออะไร คือใครบ้าง

อ่านว่า อะ-พับ-พะ-บุก-คน

ประกอบด้วยคำว่า อภัพ + บุคคล

(๑) “อภัพ”

บาลีเป็น “อภพฺพ” อ่านว่า อะ-พับ-พะ รูปคำเดิมมาจาก น (ไม่, ไม่ใช่) + ภพฺพ

(ก) “ภพฺพ” รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ภู > โภ > ภว), แปลง ว กับ ย เป็น พฺพ

: ภู + ณฺย = ภูณฺย > โภณฺย > ภวณฺย > ภวฺย > ภพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ควรเป็น”

“ภพฺพ” ในบาลีใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –

(1) สามารถ, เหมาะสำหรับ, สมควร (able, capable, fit for)

(2) เป็นไปได้ (possible)

(ข) น + ภพฺพ แปลง น เป็น อ ตามกฎการเปลี่ยนรูปของ น เมื่อไปประสมกับคำอื่น คือ –

(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ- อา- อิ- อี- อุ- อู- เอ- โอ-) แปลง น เป็น อน-

เช่น :

(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ-

ในที่นี้ “ภพฺพ” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงแปลง น เป็น อ-

น + ภพฺพ = นภพฺพ > อภพฺพ (อะ-พับ-พะ) แปลว่า “สิ่งที่ไม่ควรเป็น” หมายถึง ไม่ควร, ไม่เหมาะ, เป็นไปไม่ได้ (impossible, not likely, unable)

“อภพฺพ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อภัพ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อภัพ, อภัพ- : (คำวิเศษณ์) ไม่สมควร, เป็นไปไม่ได้. (ป. อภพฺพ; ส. อภวฺย).”

(๒) “บุคคล”

บาลีเป็น “ปุคฺคล” อ่านว่า ปุก-คะ-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุ (นรก) + คลฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + อ ปัจจัย, ซ้อน คฺ

: ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + อ = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก”

(2) ปูติ (ของบูดเน่า) + คลฺ (ธาตุ = กิน) + อ ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ ปู-(ติ) เป็น อุ แล้วลบ ติ (ปูติ > ปุติ > ปุ), ซ้อน คฺ

: ปูติ > ปุติ > ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + อ = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า”

(3) ปุคฺค (อาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็ม) + ลา (ธาตุ = กิน) + อ ปัจจัย, ลบ อา ที่ ลา (ลา > ล)

: ปุคฺค + ลา = ปุคฺคลา > ปุคฺคล + อ = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” (คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้)

(4) ปูร (เต็ม) + คล (เคลื่อน), รัสสะ อู ที่ ปู-(ร) เป็น อุ แล้วลบ ร (ปูร > ปุร > ปุ), ซ้อน คฺ ระหว่าง ปูร + คล

: ปูร > ปุร > ปุ + คฺ + คล = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” (คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย)

“ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –

(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man)

(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)

“ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” (อ่านว่า บุก-คน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า บุก-คะ-ละ-, บุก-คน-ละ-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

“บุคคล, บุคคล- : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –

“บุคคล, บุคคล- : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

อภพฺพ + ปุคฺคล = อภพฺพปุคฺคล (อะ-พับ-พะ-ปุก-คะ-ละ) แปลว่า “บุคคลผู้ไม่สมควรที่จะเป็น”

“อภพฺพปุคฺคล” ในภาษาไทยใช้เป็น “อภัพบุคคล” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อภัพบุคคล : (คำนาม) คนไม่สมควร. (ป. อภพฺพปุคฺคล).”

ดูเพิ่มเติม: “อภัพบุคคล” บาลีวันละคำ (2,477) 25-3-62

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

…………..

อภัพบุคคล : บุคคลผู้ไม่สมควร, มีความหมายตามข้อความแวดล้อม เช่น คนที่ไม่อาจบรรลุโลกุตตรธรรมได้ คนที่ขาดคุณสมบัติ ไม่อาจให้อุปสมบทได้เป็นต้น

…………..

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ภาค 1 หน้า 628-629 แสดงรายการ “อภัพบุคคล” (อภพฺพปุคฺคลา) ว่ามี 11 จำพวก ประมวลได้ดังนี้ –

(สะกดคำตามบาลี)

…………..

(1) ปณฺฑก (ปัณฑะกะ) = คนไม่ปรากฏชัดว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง

(2) ติรจฺฉานคต (ติรัจฉานะคะตะ) = สัตว์เดรัจฉาน

(3) อุภโตพฺยญฺชนก (อุภะโตยัญชะนะกะ) = คนสองเพศ

(4) เถยฺยสํวาสก (เถยยะสังวาสะกะ) = คนปลอมเพศ คือไม่มีสิทธิ์เป็นพระแต่ครองเพศพระ

(5) ติตฺถิยปกฺกนฺตก (ติตถิยะปักกันตะกะ) = คนไปนับถือศาสนาอื่นทั้งที่ยังเป็นพระ

(6) มาตุฆาตก (มาตุฆาตะกะ) = คนฆ่ามารดา

(7) ปิตุฆาตก (ปิตุฆาตะกะ) = คนฆ่าบิดา

(8 ) อรหนฺตฆาตก (อะระหันตะฆาตะกะ) = คนฆ่าพระอรหันต์

(9) ภิกฺขุนีทูสก (ภิกขุนีทูสะกะ) = คนข่มขืนภิกษุณี

(10) รุหิรุปฺปาทก (รุหิรุปปาทะกะ) = คนทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงห้อเลือด

(11) สงฺฆเภทก (สังฆะเภทะกะ) = คนทำสงฆ์ให้แตกกัน

…………..

3 จำพวก คือ (1) ปณฺฑก (2) ติรจฺฉานคต (3) อุภโตพฺยญฺชนก เป็นพวก “วัตถุวิบัติ” คือรูปกายบกพร่องโดยธรรมชาติ ทั้งยังไม่สามารถที่จะบรรพชาอุปสมบทได้ เป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลไม่ได้ จึงเป็น “อภัพบุคคล” แต่ยังสามารถทำบุญไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ได้

อีก 8 จำพวกนอกนี้เป็นพวก “กรรมวิบัติ” คือรูปกายไม่ผิดปกติ แต่ไปกระทำสิ่งที่ผิดพลาดเข้า การกระทำนั้นส่งผลให้เป็น “อภัพบุคคล”

3 จำพวก คือ (4) เถยฺยสํวาสก (5) ติตฺถิยปกฺกนฺตก (9) ภิกฺขุนีทูสก ยังสามารถทำบุญไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ได้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติธรรมให้บรรลุมรรคผลได้

5 จำพวกคือ (6) มาตุฆาตก (7) ปิตุฆาตก (8 ) อรหนฺตฆาตก (10) รุหิรุปฺปาทก (11) สงฺฆเภทก ขัดข้องหมดทั้ง 2 ทาง คือ ทำบุญไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ก็ไม่ได้ ปฏิบัติธรรมให้บรรลุมรรคผลก็ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเมื่อไปทำกรรมเช่นนั้นเข้าแล้ว เมื่อละโลกนี้ย่อมเกิดในนรกสถานเดียว สวรรค์และมรรคผลนิพพานเป็นอันไม่ได้พบ ทั้งนี้จนกว่าจะสิ้นกรรม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีทุนดี

: ใช้ไม่ถูกวิธี ก็ขาดทุน

#บาลีวันละคำ (3,728)

27-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *