โศลก (บาลีวันละคำ 3,731)
โศลก
ก่อนจะร่าย รู้ความหมายไว้สักนิด
สมัยหนึ่ง ถ้าใครชอบยกคำบาลีสันสกฤตขึ้นมากล่าวประกอบคำพูดของตน ก็จะมีคนเอาไปบรรยายว่า … ว่าแล้วเขาก็ร่ายโศลกขึ้นมาอย่างเพราะพริ้ง …
หรือเมื่อยกคำประพันธ์ในบาลีสันสกฤตมาอ้าง ก็จะขยายความว่า … โศลกบทนี้เป็นคำกล่าวของ …
“โศลก” หมายถึงอะไร?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โศลก : (คำนาม) คําประพันธ์ในวรรณคดีสันสกฤต ๔ บาท เป็น ๑ บท ตามปรกติมีบาทละ ๘ พยางค์ เรียกว่า โศลกหนึ่ง เช่น กามโกฺรธวิยุกฺตานามฺ ยตีนำ ยตเจตสามฺ อภิโต พฺรหฺมนิรฺวาณมฺ วรฺตเต วิทิตาตฺมนามฺ ผู้บำเพ็ญพรต พรากจากกามและโกรธ ข่มใจได้ รู้แจ้งอาตมัน ย่อมมีนิพพาน คือพรหมโดยทั่วไป. (ศรีมัทภควัทคีตา), บทสรรเสริญยกย่อง; ชื่อเสียง, เกียรติยศ.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “โศลก” เป็นภาษาอะไร หรือมาจากภาษาอะไร
บาลีมีคำว่า “สิโลก” อ่านว่า สิ-โล-กะ รากศัพท์มาจาก สิโลกฺ (ธาตุ = รวบรวม, แผ่ไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: สิโลกฺ + อ = สิโลก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ชื่อเสียงที่กระฉ่อนไป”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สิโลก” ว่า เกียรติ, ยศ, ชื่อเสียง, คำสรรเสริญ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “สิโลก” ไว้ดังนี้ –
(1) fame (ความมีชื่อเสียง)
(2) a verse (บทร้อยกรอง, โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สิโลก” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“สิโลก : (คำนาม) โศลก, บทสรรเสริญยกย่อง; ชื่อเสียง, เกียรติยศ. (ป.; ส. โศฺลก).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “สิโลก” เป็นคำบาลี คำนี้สันสกฤตเป็น “โศฺลก”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “โศฺลก” บอกไว้ดังนี้ –
(1) โศฺลก, โศฺลกฤ : (ธาตุ) เรียบเรียง (ดุจกาพย์); to compose (as verse).
(2) โศลก : (คำนาม) ‘โศลก,’ กาพย์; a verse, a stanza.
คำว่า “(ธาตุ)” ก็คือคำที่เป็นรากศัพท์ แบบเดียวกับ “ธาตุ” ในบาลีที่อ้างถึงเมื่อแสดงรากศัพท์ของคำนั้นๆ โปรดสังเกตว่า “โศฺลก” และ “โศฺลกฤ” เป็นตัวธาตุในสันสกฤต เท่ากับ “สิโลกฺ” ที่เป็นตัวธาตุในบาลี ขอให้สังเกตด้วยว่า ไม่ใช่ “สิ” ธาตุ หรือ “โลกฺ” ธาตุ แต่เป็น “สิโลกฺ” 3 พยางค์เป็นธาตุตัวเดียว ในสันสกฤตก็เป็นธาตุตัวเดียวเช่นกัน
ส่วน “โศฺลก” ที่เป็นคำนามมีคำแปลว่า โศลก, กาพย์ ภาษาอังกฤษว่า a verse ตรงกับคำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แต่ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มี a stanza อีกคำหนึ่ง
อภิปรายขยายความ :
ประมวลคำแปลในบาลีและสันสกฤตแล้ว ก็ตรงกับที่พจนานุกรมฯ บอกความหมายในภาษาไทยว่า คําประพันธ์ในวรรณคดีสันสกฤต, บทสรรเสริญยกย่อง; ชื่อเสียง, เกียรติยศ
เป็นอันยืนยันว่า คำว่า “โศลก” ในภาษาไทย มาจาก “โศฺลก” ในสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สิโลก”
ขอให้สังเกตด้วยว่า ที่คำว่า “สิโลก” ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ บอกไว้ในวงเล็บว่า “(ป.; ส. โศฺลก)” หมายความว่า “สิโลก” เป็นคำบาลี คำนี้สันสกฤตเป็น “โศฺลก”
ที่คำว่า “โศลก” ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ ควรจะบอกไว้ในวงเล็บเช่นกันว่า “(ส.; ป. สิโลก)” หมายความว่า “โศลก” เป็นคำสันสกฤต คำนี้บาลีเป็น “สิโลก”
แต่พจนานุกรมฯ ไม่ได้มีวงเล็บบอกไว้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
แถม :
เวลาเปิด หรือใช้ หรืออ่านพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ถ้าช่วยกันตั้งข้อสังเกตไว้เสมอๆ ก็น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้พจนานุกรมของเรามีความสมบูรณ์ขึ้นได้ในโอกาสต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สตรีเป็นความงามของโลก
: โศลกเป็นความงามของภาษา
#บาลีวันละคำ (3,731)
30-8-65
…………………………….
…………………………….