บาลีวันละคำ

มณฑลพิธี (บาลีวันละคำ 3,732)

มณฑลพิธี

ยังไม่มีในพจนานุกรม

อ่านว่า มน-ทน-พิ-ที

ประกอบด้วยคำว่า มณฑล + พิธี

(๑) “มณฑล”

เขียนแบบบาลีเป็น “มณฺฑล” (มีจุดใต้ ณฺ) อ่านว่า มัน-ดะ-ละ รากศัพท์มาจาก มณฺฑฺ (ธาตุ = ประดับ) + อล ปัจจัย

: มณฺฑ + อล = มณฺฑล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประดับ” “สิ่งที่ประดับด้วยส่วนย่อย”

“มณฺฑล” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) วงกลม (circle)

(2) วงกลมของดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ (the disk of the sun or moon)

(3) แผ่น, พื้นที่กลมราบ (a round, flat surface)

(4) พื้นที่ซึ่งกั้นรอบและประกอบกิจหรือมีอะไรเกิดขึ้นในนั้น, เขตวงกลมอันเป็นที่แสดงละครสัตว์ (an enclosed part of space in which something happens, a circus ring)

(5) สิ่งที่อยู่ในขอบเขตหรือเขตจำกัด, กลุ่ม (anything comprised within certain limits or boundaries, a group)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มณฑล : (คำนาม) วง เช่น สุริยมณฑล คือ วงรอบดวงอาทิตย์ จันทรมณฑล คือ วงรอบดวงจันทร์, บริเวณ เช่น มณฑลพิธี, เขตปกครองที่แบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ ๆ; พระแท่นที่วงด้ายสายสิญจน์ เรียกว่า พระแท่นมณฑล. (ป., ส.)”

หมายเหตุ :

(1) “มณฺฑล” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต

(2) “มณฺฑล” ในบาลี เมื่อมีคำอื่นนำ ความหมายจะยักเยื้องไปตามคำนั้นๆ เช่น –

อาปานมณฺฑล = วงเหล้า คือห้องโถง (drinking circle > hall)

กีฬมณฺฑล = วงกีฬา คือการกรีฑา (play-circle > games)

ชูตมณฺฑล = โต๊ะเล่นการพนัน (dicing table)

ยุทฺธมณฺฑล = เวทีสำหรับต่อสู้ (fighting-ring)

ปริมณฺฑล = นุ่งห่มสุภาพเรียบร้อย (dress or cover oneself all round)

(๒) “พิธี”

บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต -ธิ สระ อิ ไม่ใช่ -ธี สระ อี) อ่านว่า วิ-ทิ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: วิ + ธา > ธ = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ”

“วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);

(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);

(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)

“วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.

(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.

(3) กฎ, เกณฑ์.

(4) คติ, ธรรมเนียม.

ในที่นี้แปลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมในภาษาไทย : วิธิ > พิธิ และแปลงเสียง อิ ที่ ธิ เป็น อี : พิธิ > พิธี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –

“พิธี : (คำนาม) งานที่จัดขึ้นตามลัทธิหรือความเชื่อถือตามขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อความขลังหรือความเป็นสิริมงคลเป็นต้น เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีมงคลสมรส พิธีประสาทปริญญา; แบบอย่าง, ธรรมเนียม, เช่น ทำให้ถูกพิธี; การกําหนด เช่น ก็อยู่จนสิ้นชนมายุพิธีในเทพพู้น. (ม. คําหลวง ทศพร). (ป., ส. วิธิ).”

มณฑล + พิธี = มณฑลพิธี เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “บริเวณที่กระทำพิธี” ดังที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ในคำนิยามคำว่า “มณฑล” ว่า “บริเวณ เช่น มณฑลพิธี”

อภิปราย :

“มณฑลพิธี” เป็นคำศัพท์ เป็นภาษาเขียนหรือภาษาพูดอย่างเป็นทางการ พูดธรรมดาหรือภาษาปากบางทีใช้ว่า “พิธี” ก็เป็นที่เข้าใจกัน เช่น “ไปเจอกันที่พิธี” หมายถึงไปพบกันในบริเวณที่ทำพิธี “พิธี” หรือ “บริเวณที่ทำพิธี” ภาษาเขียนหรือพูดอย่างเป็นทางการว่า “มณฑลพิธี”

แม้พจนานุกรมฯ จะอ้างถึงคำว่า “มณฑลพิธี” ในคำนิยามคำว่า “มณฑล” แต่คำว่า “มณฑลพิธี” ก็ยังไมได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเลวๆ บางคนถูกจำ

: แต่คำดีๆ บางคำถูกลืม

#บาลีวันละคำ (3,732)

31-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *