อุปาทานแบบเข้าใจง่าย
อุปาทานแบบเข้าใจง่าย
————————-
“อุปาทาน” คำนี้มักมีผู้เขียนและพูดเป็น “อุปทาน” – อุ-ปะ-ทาน
อุปาทาน กับ อุปทาน เป็นคนละคำกันนะครับ
“อุปทาน” (อุ-ปะ-) เป็นศัพท์บัญญัติ เทียบคำอังกฤษว่า supply คู่กับคำว่า demand ที่บัญญัติคำไทยว่า “อุปสงค์”
“อุปสงค์” แปลว่า ต้องการ อยากได้ สิ่งที่จำเป็นต้องได้ต้องมี
“อุปทาน” แปลว่า “เอาเข้าไปให้” ใครต้องการอะไร จำเป็นต้องมีอะไร ก็เอาสิ่งนั้นเข้าไปให้
“อุปสงค์ – อุปทาน” เป็นศัพท์ทางเศรษฐกิจ
ส่วน “อุปาทาน” (อุ-ปา-) เป็นศัพท์ทางธรรมะ
สังเกตสักนิดก็จะไม่เขียนผิด
ที่เขียนผิดส่วนมากเกิดจากไม่ใส่ใจ เข้าใจผิดไปว่าที่สะกด “อุปทาน” นั้นถูกต้อง
แม้แต่พูด ออกเสียงว่า อุ-ปะ-ทาน กันก็เยอะ
เพราะไม่คิด ไม่นึก ไม่รับรู้ว่าคำที่ถูกต้องคือ “อุปาทาน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –
…………………………………..
อุปาทาน : การยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ. (ป.).
…………………………………..
อุปาทาน แปลว่า การยึดมั่นถือมั่น
หมายความว่าอย่างไร?
ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายแบบบุคลาธิษฐานเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย
สมมุติว่า มีเหตุการณ์ที่เป็นภัยพิบัติเกิดขึ้นในที่แห่งหนึ่ง อยู่ในต่างประเทศแดนไกล มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
เราได้ยินข่าว เราก็จะรู้สึกสงสารสลดใจในชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์
ความผูกพันระหว่างเรากับผู้คนที่ได้รับทุกข์นั้นมีแบบหลวมๆ ในฐานะ “เพื่อนมนุษย์” ตรงกับที่เราพูดกันเป็นคำบาลีว่า สัพเพ สัตตา
ทีนี้สมมุติว่า ในบรรดาผู้บาดเจ็บล้มตายจากภัยพิบัตินั้นมีคนไทยรวมอยู่ด้วย
คราวนี้ความรู้สึกของเราก็ผูกพันใกล้เข้าไปอีกหน่อย ในฐานะเป็นคนไทยด้วยกัน รู้สึกสงสารเห็นใจเป็นพิเศษขึ้นมา
สมมุติต่อไปอีกว่า มีรายละเอียดว่าคนไทยคนหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นคนพื้นเพเดียวกับเรา เช่นเป็นคนเหนือหรือคนใต้เหมือนเรา
คราวนี้ความรู้สึกของเราจะกระชับแน่นเข้าไปอีก
สมมุติต่อไปว่า คนไทยคนนั้นเป็นคนจังหวัดเดียวกับเรา
ความรู้สึกของเรายิ่งกระชับเข้าไปอีก
… เป็นคนอำเภอเดียวกับเรา
… ตำบลเดียวกับเรา
… บ้านเดียวกับเรา
ความรู้สึกของเรายิ่งผูกพันแน่นขึ้น
… เป็นญาติห่างๆ ของเรา
… เป็นเพื่อนเรา
… เป็นพี่ชายพี่สาวของเรา
… เป็นน้องชายน้องสาวของเรา
ใกล้เข้ามาอีก
… เป็นแม่เรา
… เป็นพ่อเรา
… เป็นลูกเรา
คราวนี้ความรู้สึกของเราจะไม่ใช่แค่สงสารเห็นใจเฉยๆ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่จะเอาตัวเอาใจเอาชีวิตของเราเข้าไปผูกพันแน่นจนแกะไม่ออกทีเดียว
และถ้าใกล้จนเข้ามาถึงตัวเรา-เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง เช่นความตายมาเยือนชีวิตของเราจริงๆ คราวนี้อาการจะไม่ใช่แค่ผูกพันแน่นจนแกะไม่ออก หากแต่มันกลายเป็นเนื้อเป็นตัวเป็นชีวิตจิตใจของเราเองเต็มๆ แบบเป็นเนื้อเดียวกันนั่นเลย
ความรู้สึกตามที่ว่ามานี่แหละ คือ “อุปาทาน” ซึ่งท่านแปลแบบสรุปความว่า-ความยึดมั่นถือมั่น
เมื่อใดความคิดจิตใจหลุดพ้นจากอุปาทาน
เมื่อนั้นคือบรรลุธรรมขั้นสูงสุด ตามสูตรว่า –
…………………………………
อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตํ วิมุจฺจิ.
เพราะไม่ถือมั่น จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ
…………………………………
เป้าหมายของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนั้น
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๙ มกราคม ๒๕๖๕
๑๑:๑๑
………………………………….
อุปาทานแบบเข้าใจง่าย
…………………………….