บาลีวันละคำ

ธัมมปทัฏฐกถา (บาลีวันละคำ 3,743)

ธัมมปทัฏฐกถา

ด่านมหากันดารของมหาเปรียญเมืองไทย

อ่านว่า ทำ-มะ-ปะ-ทัด-ถะ-กะ-ถา

ประกอบด้วยคำหลักคือ ธัมมปท + อัฏฐกถา

(๑) “ธัมมปท”

เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺมปท” อ่านว่า ทำ-มะ-ปะ-ทะ ประกอบด้วยคำว่า ธมฺม + ปท

(ก) “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ สรุปความหมายในแง่หนึ่งไว้ว่า “ธมฺม” หมายถึง –

(1) doctrine (คำสอน)

(2) right or righteousness (สิทธิหรือความถูกต้อง)

(3) condition (เงื่อนไข)

(4) phenomenon (ปรากฏการณ์)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “ธมฺม” (Dhamma) เป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –

1. the Dharma; the Dhamma; the Doctrine; the Teachings (of the Buddha).

2. the Law; nature.

3. the Truth; Ultimate Reality.

4. the Supramundane, especially nibbāna.

5. quality; righteousness; virtue; morality; good conduct; right behaviour.

6. tradition; practice; principle; norm; rule; duty.

7. justice; impartiality.

8. thing; phenomenon.

9. a cognizable object; mind-object; idea.

10. mental state; mental factor; mental activities.

11. condition; cause; causal antecedent.

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

(ข) “ปท” อ่านว่า ปะ-ทะ รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + อ (อะ) ปัจจัย

: ปทฺ + อ = ปท แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันพระอริยะบรรลุ” = นิพพาน (2) “สิ่งเป็นเหตุเป็นไปแห่งผล” = เหตุ, เค้ามูล, ปัจจัย (3) “อวัยวะเป็นเครื่องเดินไป” = เท้า

“ปท” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เท้า (foot)

(2) การก้าว, รอยเท้า, ทาง (step, footstep, track)

(3) หนทาง, ช่องทาง (way, path)

(4) ตำแหน่ง, สถานที่ position, place

(5) กรณี, โชคชะตา, หลักการ, ส่วน, องค์ประกอบ, ลักษณะ, ส่วนประกอบ, รายการ, สิ่งของ, มูลฐาน (case, lot, principle, part, constituent, characteristic, ingredient, item, thing, element)

(6) ในบทร้อยกรองหมายถึง คำ, ฉันท์ (หรือหนึ่งในสี่ของฉันท์), โศลก, บท, ประโยค (a word, verse (or a quarter of a verse), stanza, line, sentence)

ในที่นี้ “ปท” ใช้ในความหมายตามข้อ (3)

“ปท” ในภาษาไทยมักใช้ทับศัพท์ว่า “บท”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บท” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

(1) ข้อความเรื่องหนึ่ง ๆ หรือตอนหนึ่ง ๆ เช่น บทที่ ๑ บทที่ ๒.

(2) กําหนดคําประพันธ์ที่ลงความตอนหนึ่ง ๆ เช่น โคลง ๔ สุภาพ ๔ บาท เป็น ๑ บท

(3) คําที่ตัวละครพูด เช่น บอกบท.

(4) คําประพันธ์ที่เขียนขึ้นสําหรับเล่นละคร มีทั้งบทร้องและบทเจรจา เช่น บอกบท เขียนบท.

(5) คราว, ตอน, ในคําเช่น บทจะทําก็ทํากันใหญ่ บทจะไปก็ไปเฉย ๆ บทจะตายก็ตายง่ายเหลือเกิน.

ธมฺม + ปท = ธมฺมปท (ทำ-มะ-ปะ-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “ทางแห่งธรรม”

“ธมฺมปท” ในภาษาไทยนิยมใช้เป็น “ธรรมบท” (ทำ-มะ-บด)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

“ธรรมบท : (คำนาม) ข้อแห่งธรรม, ชื่อคาถาบาลีคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ธรรมบท” ไว้ดังนี้ –

…………..

ธรรมบท :

1. บทแห่งธรรม, บทธรรม, ข้อธรรม

2. ชื่อพุทธคาถาอันเป็นบทแห่งธรรม จำนวน ๔๒๓ คาถา ซึ่งจัดเป็นคัมภีร์ที่ ๒ ในขุททกนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก.

…………..

ในที่นี้ “ธรรมบท” เขียนตามรูปบาลีเป็น “ธัมมปท”

(๒) “อัฏฐกถา”

เขียนแบบบาลีเป็น “อฏฺฐกถา” อ่านว่า อัด-ถะ-กะ-ถา ประกอบด้วยคำว่า อฏฺฐ + กถา

(ก) “อฏฺฐ” อ่านว่า อัด-ถะ เป็นคำที่สะกดอีกรูปหนึ่งของ “อตฺถ” หรือจะกำหนดไว้ว่า “อตฺถ” สะกดอีกรูปหนึ่งเป็น “อฏฺฐ” ดังนี้ก็ได้

“อตฺถ” (อัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง เป็นไป; พินาศ) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตเป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)

: อรฺ + ถ = อรฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ” (4) “ภาวะที่พินาศ”

(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตเป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)

: อสฺ + ถ = อสฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์”

(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย

: อตฺถฺ + อ = อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ”

“อตฺถ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ; ความดี, พร, สวัสดิภาพ; ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)

(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา, ประโยชน์ (need, want, use)

(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import [of a word], denotation, signification)

(4) ข้อความ, สิ่งของ (matter, thing)

(5) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)

ในที่นี้ “อตฺถ” สะกดเป็น “อฏฺฐ” เขียนแบบไทยเป็น “อัฏฐ”

(ข) “กถา” อ่านว่า กะ-ถา รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กถฺ + อ = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องอันท่านกล่าวไว้”

“กถา” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)

(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)

(3) เรื่องยาวๆ (a longer story)

(4) คำพูด, ถ้อยคำ, คำแนะนำ (word, words, advice)

(5) การอธิบาย, การขยายเนื้อความ (explanation, exposition)

(6) การสนทนาหรืออภิปราย (discussion)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“กถา : (คำนาม) ถ้อยคํา, เรื่อง, คําอธิบาย, คํากล่าว. (ป.).”

อฏฺฐ + กถา = อฏฺฐกถา (อัด-ถะ-กะ-ถา) แปลตามศัพท์ว่า “การกล่าวความหมาย” หรือ “ถ้อยคำอธิบายความหมาย” หรือจะแปลให้ชัดลงไปว่า “อธิบายขยายความ” ดังนี้ก็ได้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อตฺถกถา” (อฏฺฐกถา) ว่า exposition of the sense, explanation, commentary (การอธิบายความหมาย, การแปลความหมาย, คำอธิบาย)

โปรดสังเกตคำแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า commentary คำที่ชาวเฟซบุ๊กพูดทับศัพท์กันทั่วไปว่า คอมเม้นท์ ก็คือ comment และ comment นั่นเอง “ลงวิภัตติปัจจัย” เป็น commentary เอาคำนี้มาใช้เรียกคัมภีร์บาลี ก็หมายถึง “อฏฺฐกถา” หรือ “อตฺถกถา” หรือ “อรรถกถา” นี่เอง

ขอย้ำว่า คำนี้ในบาลีสะกดได้ 2 รูป คือ “อฏฺฐกถา” ก็ได้ “อตฺถกถา” ก็ได้

ภาษาไทยใช้เป็น “อรรถกถา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อรรถกถา : (คำนาม) คัมภีร์ที่อธิบายความพระบาลี, คัมภีร์ที่ไขความพระไตรปิฎก. (ส. อรฺถ + กถา; ป. อตฺถกถา, อฏฺฐกถา).”

ธมฺมปท + อฏฺฐกถา = ธมฺมปทฏฺฐกถา > ธัมมปทัฏฐกถา (ทำ-มะ-ปะ-ทัด-ถะ-กะ-ถา) แปลว่า “คำอธิบายความแห่งคัมภีร์ธรรมบท” หรือเรียกทับศัพท์ว่า “อรรถกถาธรรมบท”

ขยายความ :

๑ “ธัมมปทัฏฐกถา” เป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อธิบายความในคัมภีร์ “ธมฺมปท” หรือ “ธรรมบท” อันเป็นคัมภีร์ชั้นบาลีหรือชั้นพระไตรปิฎก

๒ ความจริงคัมภีร์นี้มีชื่อเฉพาะว่า “ปรมัตถโชติกา” แต่นักเรียนบาลีแทบทั้งหมดจะไม่รู้จักชื่อนี้ จึงมักเรียกกันว่า “ธัมมปทัฏฐกถา”

๓ คัมภีร์ “ธัมมปทัฏฐกถา” ประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 3 ส่วน คือ –

(1) เรื่องเล่าถึงความเป็นมาหรือเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ตรัสคาถาบทนั้นๆ ส่วนนี้นิยมเรียกกันว่า “ท้องนิทาน”

(2) ตัวคาถาที่ยกมาจากคัมภีร์ “ธมฺมปท” ในพระไตรปิฎก เรียกกันว่า “คาถา”

(3) คำอธิบายความหมายของคาถา เรียกกันว่า “แก้อรรถ”

๔ วิธีเรียบเรียงในคัมภีร์ “ธัมมปทัฏฐกถา” คือยกคาถาจากคัมภีร์ “ธมฺมปท” ในพระไตรปิฎกมาตอนหนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นคาถาบทเดียวหรือหลายบท) โดย (1) เล่า “ท้องนิทาน” ประกอบ (2) แล้วอ้างคาถาบทนั้น และ (3) อธิบายความหมายของคาถา จบลงด้วยการสรุปว่าเมื่อตรัสคาถาจบแล้วผู้ฟังบรรลุผลเช่นไร รวมทั้ง 3 ส่วนนี้เรียกว่า “วตฺถุ” (แปลว่า “เรื่อง-” เช่น “จกฺขุปาลตฺเถรวตฺถุ” = เรื่องพระเถระชื่อว่าจักขุบาล

“ธัมมปทัฏฐกถา” ประกอบด้วย “วตฺถุ” คือ“เรื่อง-” ดังกล่าวนี้ทั้งหมด 302 เรื่อง

๕ คัมภีร์ “ธัมมปทัฏฐกถา” ที่พิมพ์เป็นบาลีอักษรไทยฉบับที่ยุติเป็นมาตรฐานในเมืองไทย คือฉบับที่มหามกุฏราชวิทยาลัยจัดพิมพ์ แบ่งเป็น 8 เล่ม เรียกว่า “ภาค” ตั้งแต่ “ปฐโม ภาโค” = ภาค 1 จนถึง “อฏฺฐโม ภาโค” = ภาค 8

และวงการบาลีในเมืองไทยถ้าพูดว่า “ธรรมบท” จะเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึง “ธัมมปทัฏฐกถา” หรือ “อรรถกถาธรรมบท” ดังกล่าวนี้ ไม่ได้หมายถึง “ธมฺมปท” ในพระไตรปิฎก

๖ หลักสูตรการศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยกำหนดให้ใช้คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาเป็นแบบเรียนในชั้นต่างๆ ดังนี้ –

ชั้นประโยค 1-2 วิชาแปลมคธเป็นไทย ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1-4

ชั้นประโยค ป.ธ.3 วิชาแปลมคธเป็นไทย ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5-8

ชั้นประโยค ป.ธ.4 วิชาแปลไทยเป็นมคธ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1

ชั้นประโยค ป.ธ.5 วิชาแปลไทยเป็นมคธ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 2-4

ชั้นประโยค ป.ธ.6 วิชาแปลไทยเป็นมคธ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5-8

กล่าวได้ว่า มหาเปรียญทั้งหมดในเมืองไทยต้องผ่านคัมภีร์ “ธัมมปทัฏฐกถา” หรือ “ธรรมบท” มาแล้วจึงจะมีสิทธิ์ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สอบบาลีให้ได้ เป็นภาระสำคัญเฉพาะหน้า

: รักษาพระศาสนา เป็นภาระสำคัญตลอดไป

#บาลีวันละคำ (3,743)

11-9-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *