บาลีวันละคำ

ชัยวรมัน (บาลีวันละคำ 3,742)

ชัยวรมัน

ชัยวรมัน

“พระเจ้าชัยใจประเสริฐ”?

อ่านว่า ไช-วอ-ระ-มัน

แยกศัพท์ตามที่ตาเห็นเป็น ชัย + วร + มัน

(๑) “ชัย”

บาลีเป็น “ชย” อ่านว่า ชะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ชิ > เช > ชย)

: ชิ + ณ = ชิณ > ชิ > เช > ชย แปลตามศัพท์ว่า “การชนะ” หมายถึง การปราบ, การพิชิต, ชัยชนะ (vanquishing, overcoming, victory)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ชัย, ชัย- : (คำนาม) การชนะ, ความชนะ. (ป., ส.).”

(๒) “วร”

บาลีอ่านว่า วะ-ระ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาต = ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย

: วรฺ + อ = วร แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ (excellent, splendid, best, noble) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลว่า ความปรารถนา, พร, ความกรุณา (wish, boon, favour)

ในภาษาไทย “วร” คงใช้เป็น “วร” ก็มี แปลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมของไทยเป็น “พร” ก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “วร” และ “พร” บอกไว้ว่า –

(1) วร- [วะระ-, วอระ-] : (คำนาม) พร; ของขวัญ. (คำวิเศษณ์) ยอดเยี่ยม, ประเสริฐ, เลิศ. (ป., ส.).

(2) พร [พอน] : (คำนาม) คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร. (ป. วร).

(๓) “มัน”

ถ้าไม่ใช่คำที่แผลงหรือกลายมาจากคำอื่น ดูตามที่ตาเห็นก็คือ “มน” (มะ-นะ) ในบาลี รากศัพท์มาจาก –

(1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อ (อะ) ปัจจัย

: มน + อ = มน แปลตามศัพท์ว่า “ตัวรู้”

(2) มา (ธาตุ =นับ, กะ, ประมาณ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบสระที่สุดธาตุ (มา > ม)

: มา > ม + ยุ > อน : ม + อน = มน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กำหนดนับอารมณ์”

“มน” หมายถึง ใจ, ความคิด (mind, thought)

“มน” แจกรูปด้วยวิภัตติที่หนึ่ง เอกพจน์ จะเป็น “มโน” และตามกฎบาลีไวยากรณ์ว่าด้วย “มโนคณะศัพท์” กำหนดว่า เมื่อเป็นส่วนหน้าของคำสมาส ให้คงรูปเป็น มโน- เช่น มน + รม แทนที่จะเป็น มนรม ก็เป็น มโนรม เป็นต้น

บาลี “มน” เมื่ออยู่ท้ายคำปรับรูปและเสียงเป็นไทยเป็น “มัน” อ่านตรงตัวตามเสียงไทยว่า มัน

การประสมคำ :

๑ วร + มน = วรมน > วรมัน แปลว่า “มีใจที่ประเสริฐ”

๒ ชย + วรมน = ชยวรมน > ชัยวรมัน แปลว่า “ผู้มีชัยและมีใจประเสริฐ”

ถ้า “ชัย” หมายถึง ผู้มีนามว่า “ชัย” ก็แปลว่า “ชัยผู้ใจประเสริฐ” แปลสั้นๆ ว่า “ชัยใจประเสริฐ” ก็ได้

ในที่นี้ “ชยวรมน” หรือ “ชัยวรมัน” หมายถึง พระเจ้าชัยวรมัน กษัตริย์แห่งอาณาจักรเขมร

ขอย้ำว่า ที่มาหรือรากศัพท์คำว่า “ชัยวรมัน” ในที่นี้เป็นการแสดงไปตามที่ตาเห็น เนื่องจากผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่ได้สืบค้นหลักฐานทางโบราณคดีว่าชื่อนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

จึงขอแรงท่านผู้รู้โปรดร่วมบูรณาการ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ถูกต้องร่วมกันต่อไป

ขยายความ :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “พระเจ้าชัยวรมันที่ 2” (อ่านเมื่อ 10 กันยายน 2565 เวลา 20:30 น.) มีข้อความตอนหนึ่งดังนี้ – (ปรับแก้วรรคตอนเล็กน้อย)

…………..

พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (เขมร: ជ័យវរ្ម័នទី២, อังกฤษ: Jayavarman II; ป. 770 – 850) (ค.ศ. 802 – 850) เป็นเจ้าชายเขมรและเป็นกษัตริย์องค์แรกของจักรวรรดิเขมร หลังจากรวมอารยธรรมเขมรเป็นหนึ่งเดียว จักรวรรดิเขมรเป็นอารยธรรมที่โดดเด่นในอินโดจีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ถึงกลางศตวรรษที่ 15 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เป็นกษัตริย์เขมรผู้ประกาศอิสรภาพจากชวา

พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงสถาปนาเมืองหลวงหลายแห่ง เช่น มเหนทรบรรพต อินทรปุระ และหริหราลัย ก่อนที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 จะเสด็จขึ้นครองราชย์ มีการต่อสู้กันมากในหมู่ผู้ปกครองท้องถิ่นซึ่งปกครองส่วนต่างๆ ของกัมพูชา โดยพบจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้พรรณนาพระองค์ว่าเป็นนักรบและกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจสูงสุดในสมัยนั้น นักประวัติศาสตร์เคยลงความเห็นว่ารัชสมัยของพระองค์เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 802 – 835 …

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชนะใจคน

: ไม่ประเสริฐเท่าชนะใจตน

#บาลีวันละคำ (3,742)

10-9-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *