บาลีวันละคำ

นิติสารสาธก (บาลีวันละคำ 3,745)

นิติสารสาธก

เป็นมากกว่าแบบเรียนภาษาไทย

อ่านว่า นิ-ติ-สา-ระ-สา-ทก

แต่เพื่อความสะดวกปาก อาจจะอ่านว่า นิ-ติ-สาน-สา-ทก ก็ได้

แยกศัพท์เป็น นิติ + สาร + สาธก

(๑) “นิติ”

บาลีเป็น “นีติ” อ่านว่า นี-ติ (โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น นี- ไม่ใช่ นิ-) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ติ ปัจจัย

: นี + ติ = นีติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อบัญญัติเป็นเครื่องบรรลุ” “เครื่องนำไปให้บรรลุ” หมายถึง กฎหมาย, กฎ, แบบแผน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นีติ” ว่า guidance, practice, conduct, right conduct, propriety; statesmanship, polity (การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การทำที่เหมาะที่ควร; การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน)

โปรดสังเกตว่า ฝรั่งไม่ได้แปล นีติ ว่า law

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“นิติ : นีติ, กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนํา, อุบายอันดี. (ป., ส. นีติ).”

(๒) “สาร”

บาลีอ่านว่า สา-ระ รากศัพท์มาจาก สา (ธาตุ = มีกำลัง, สามารถ) + ร ปัจจัย

: สา + ร = สาร แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่มีกำลัง”

“สาร” ในภาษาบาลี ถ้าเป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) มีความหมายดังนี้ –

(1) ชั้นในที่สุด และส่วนที่แข็งที่สุดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, แก่นหรือแกนของไม้ (the innermost, hardest part of anything, the heart or pith of a tree)

(2) แก่นสาร, ส่วนสำคัญ, ส่วนที่ดีที่สุด (substance, essence, choicest part)

(3) คุณค่า (value)

“สาร” ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึง สำคัญ, ประเสริฐยิ่ง, แข็งแรง (essential, most excellent, strong)

(๓) “สาธก”

บาลีอ่านว่า สา-ทะ-กะ รากศัพท์มาจาก สาธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: สาธ + ณฺวุ > อก = สาธก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ (หรือสิ่งที่) ยังการกระทำให้สำเร็จ” หมายถึง สำเร็จ, เป็นผล (accomplishing, effecting)

การประสมคำ :

๑ นิติ + สาร = นิติสาร แปลว่า “แบบแผนอันเป็นสาระ” หรือ “เรื่องสำคัญอันเป็นแบบแผน”

๒ นิติสาร + สาธก = นิติสารสาธก (นิ-ติ-สา-ระ-สา-ทก, นิ-ติ-สาน-สา-ทก) แปลว่า “หนังสือที่ยังแบบแผนอันเป็นสาระให้สำเร็จ” หมายความตามประสงค์ว่า หนังสือที่บอกแจ้งให้เข้าใจหลักสำคัญในภาษาไทย

ขยายความ :

“นิติสารสาธก” เป็นชื่อหนังสือแบบเรียนภาษาไทยสมัยรัชกาลที่ 5

หนังสือ “นิติสารสาธก” พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางมารศรี ปุณณะกิตติ เมื่อ พ.ศ.2503 มีคำนำของกรมศิลปกร ความตอนหนึ่ง ดังนี้

…………..

หนังสือเรื่อง “นิติสารสาธก” นี้ มี ๒ เล่มต่อกัน เล่มที่ ๑ เป็นหนังสืออ่านเทียบแบบสอนตั้งแต่มูลบทไป พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งทูลเกล้าฯ ถวายไว้ให้ใช้ในโรงเรียนหลวง ส่วนเล่ม ๒ นั้นปรากฏในโคลงต้นเล่มว่า หม่อมราชวงศ์หนูเป็นผู้แต่งทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นหนังสือที่นับว่าต่อเนื่องกับชุดมูลบทบรรพกิจ ฯลฯ ซึ่งเป็นแบบเรียนยุคแรกได้ …

…………..

และต้นเรื่อง “นิติสารสาธก” มีข้อความดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

…………..

ข้าพระพุทธเจ้า

หลวงสารประเสริฐ

ขุนประสิทธิ์อักษรสาตร

หมื่นเสนาะโวหาร

สอบทานทูลเกล้าฯ ถวาย ถูกถ้วนตามฉบับ ขอเดช

๏ ข้าพระพุทธเจ้า หลวงสารประเสริฐ คิดคำกลอนเรื่องนี้ เรียกชื่อว่า นิติสารสาธก คือเทียบแบบสอนตั้งแต่มูลบทบรรพกิจไป เพื่อไว้สำหรับนักเรียนในโรงหลวง จะได้อ่านเล่าจำต้นข้อต่อลำดับในแบบสอน ให้แม่นยำชำนาญ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าดำรัสสั่งให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอกรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ ลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง ในพระบรมมหาราชวัง ๑,๐๐๐ ฉบับ ตีเสร็จ ณ วันพฤหัศบดี เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีระกา เบญจศก ศักราช ๑๒๓๕ ฯะ

…………..

แถม :

ขอยกข้อความบางตอนใน “นิติสารสาธก” มาเสนอไว้ในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง บางคำเป็นคำที่เราอาจจะคุ้นกันอยู่ ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ)

…………..

อย่าเกียจคร้านการเรียนเร่งอุตส่าห์

มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน

จะตกถิ่นถานใดคงไม่แคลน

ถึงคับแค้นก็พอยังประทังตน

อันความรู้รู้กระจ่างถึงอย่างเดียว

แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล

อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์

ถึงคนจนพงษ์ไพร่คงได้ดี

เกิดเปนชายเชาสยามตามวิไสย

หนังสือไทยก็ไม่รู้ดูบัดศรี

ต้องอับอายขายหน้าทั้งตาปี

ถึงผู้ดีก็คงด้อยถอยตระกูล

…………..

ดูก่อนภราดา!

ภาษาไทย …

: วันนี้ ไทยสอนไทยไม่ฟัง

: วันหน้า ฝรั่งจะมาสอนไทย

#บาลีวันละคำ (3,745)

13-9-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *