นิศากร (บาลีวันละคำ 3,753)
นิศากร
ผูทำงานกลางคืน
แยกศัพท์เป็น นิศา + กร
(๑) “นิศา”
บาลีเป็น “นิสา” (-สา ส เสือ) รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + สา (ธาตุ = ทำให้เบาบาง) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ
: นิ + สา = นิสา + กฺวิ = นิสากฺวิ > นิสา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ทำให้การขวนขวายทุกอย่างเบาลง” หมายถึง กลางคืน (night)
บาลี “นิสา” สันสกฤตเป็น “นิศา” (-ศา ศ ศาลา)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“นิศา : (คำนาม) ราตรีกาล; ขมิ้น; night; turmeric.”
ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “นิศา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิศา : (คำแบบ) (คำนาม) กลางคืน. (ส.).”
หมายเหตุ: “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
(๒) “กร”
บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ (อะ) ปัจจัย
: กรฺ + อ = กร แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)
(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)
(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –
(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).
(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).
(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).
ในที่นี้ “กร” มีความหมายตามข้อ (1)
นิสา + กร = นิสากร (นิ-สา-กะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำงานกลางคืน” หรือ “ผู้มีรัศมีในยามค่ำคืน” หมายถึง ดวงจันทร์ (the moon)
บาลี “นิสากร” สันสกฤตเป็น “นิศากร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“นิศากร : (คำนาม) จันทร์; ไก่; the moon; a cock.”
ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “นิศากร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิศากร : (คำนาม) “ผู้กระทำซึ่งกลางคืน”, พระจันทร์. (ส.; ป. นิสากร).”
ขยายความ :
คำบาลีที่หมายถึง ดวงจันทร์ มีอีกหลายคำ ตามคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ท่านว่ามี 14 คำ ดังนี้ –
…………..
อินฺทุ จนฺโท จ นกฺขตฺต-
ราชา โสโม นิสากโร.
โอสธีโส หิมรํสิ
สสํโก จนฺทิมา สสิ
สีตรํสิ นิสานาโถ
อุฬุราชา จ มา ปุเม.
ที่มา: อภิธานัปปทีปิกา คาถาที่ 51-52
…………..
แต่ละคำมีความหมายดังนี้ –
1 อินฺทุ = ดาวที่เป็นใหญ่กว่าดวงดาวทั้งหลาย
2 จนฺโท = ผู้ยังสัตว์โลกให้พอใจ, ผู้ยังความพอใจให้เกิด
3 นกฺขตฺตราชา = เจ้าแห่งดวงดาว
4 โสโม = ดาวที่มีพร้อมกับความงดงาม, ดาวที่หลั่งความสุขมาให้
5 นิสากโร = ผู้ทำงานกลางคืน, ผู้มีรัศมีในยามค่ำคืน
6 โอสธีโส = ผู้ทรงไว้ซึ่งแสงสว่าง
7 หิมรํสิ = ผู้มีรัศมีเย็น
8 สสํโก = ดาวที่มีกระต่ายเป็นสัญลักษณ์
9 จนฺทิมา = ผู้นำความเย็นมาให้
10 สสิ = ดาวที่มีรูปกระต่าย
11 สีตรํสิ = ดาวที่มีรัศมีเย็น
12 นิสานาโถ = ผู้เป็นที่พึ่งในยามค่ำคืน
13 อุฬุราชา = เจ้าแห่งหมู่ดาว
14 มา = ดาวที่ทำตนให้เย็น
หมายเหตุ: ศัพท์ที่เป็นชื่อดวงจันทร์ข้างต้นนี้เป็นศัพท์ที่แจกวิภัตติแล้ว เช่น “นิสากโร” ถ้ายังไม่แจกวิภัตติก็จะเป็น “นิสากร” อย่างนี้เป็นต้น วิภัตติที่แจกเป็นวิภัตติที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์
…………..
ดวงอาทิตย์ทำงานกลางวัน
ดวงจันทร์ทำงานกลางคืน
ดูก่อนภราดา!
งานในหน้าที่ –
: แบ่งกันทำ งานรุ่ง
: แย่งกันทำ งานยุ่ง
#บาลีวันละคำ (3,753)
21-9-65
…………………………….
…………………………….