บาลีวันละคำ

สิริมา (บาลีวันละคำ 3,752)

สิริมา

ถ้าบุญไม่มี สิริก็ไม่มา

ภาษาไทยอ่านว่า สิ-หฺริ-มา

“สิริมา” บาลีอ่านว่า สิ-ริ-มา รูปคำเดิมเป็น “สิริมนฺตุ” อ่านว่า สิ-ริ-มัน-ตุ แยกเป็น สิริ + มนฺตุ

(๑) “สิริ”

บาลีอ่านว่า สิ-ริ (บาลีมี “สิรี” อีกรูปหนึ่ง) รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ร ปัจจัย + อิ หรือ อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ + ร = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” หรือ “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แยกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –

1 ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม (splendour, beauty)

2 โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง (luck, glory, majesty, prosperity)

3 เทพธิดาแห่งโชคลาภ (the goddess of luck)

4 (เมื่อ + คพฺภ = สิริคพฺภ) ห้องบรรทม (the royal bed-chamber)

“สิริ” บาลี ใช้ในภาษาไทยเป็น “สิริ” ตามบาลี ตรงกับสันสกฤตว่า “ศฺรี” ที่เราใช้ในภาษาไทยเป็น “ศรี” (อ่านว่า สี)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) สิริ ๒, สิรี : (คำนาม) ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม. (ป.; ส. ศฺรี).

(2) ศรี ๑ : (คำนาม) มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง, ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. (ส. ศฺรี; ป. สิริ, สิรี).

…………..

ในทางธรรม ถามว่า “สิริ” คืออะไร?

มีคำตอบว่า บุญที่ได้ทำไว้นั่นแลคือสิริ

สิริคือบุญนี้เป็นของเฉพาะตัว ใครทำใครได้ ทำแทนกันไม่ได้ ยกให้กันก็ไม่ได้ ใครอยากได้ต้องทำเอง

ผู้ปรารถนาจะเข้าใจให้กว้างขวางกว่าที่กล่าวมานี้ พึงศึกษามงคลสูตรข้อที่ว่าด้วย “ปุพเพกตปุญญตา” ท่านแสดงไว้อย่างละเอียดในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค 1 ข้อ 92-105 มีตัวอย่างเล่าประกอบไว้ด้วยหลายเรื่อง

…………..

(๒) “มนฺตุ”

อ่านว่า มัน-ตุ ในไวยากรณ์บาลีเป็น “ปัจจัย” ตัวหนึ่งใน “ตัทธิต” (ตัด-ทิด, เป็นวิธีการประเภทหนึ่งในการสร้างคำคุณศัพท์โดยวิธีใช้ปัจจัยแทนศัพท์) ตัทธิตมีหลายชนิด ในที่นี้เป็นตัทธิตชนิดที่เรียกว่า “ตทัสสัตถิตัทธิต” (ตะ-ทัด-สัด-ถิ-ตัด-ทิด) ตัทธิตชนิดนี้ใช้ปัจจัยแทนคำว่า “อตฺถิ” (อัด-ถิ) ซึ่งแปลว่า “มีอยู่” มีปัจจัยหลายตัว หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “มนฺตุ” ปัจจัย

จับหลักสั้นๆ ว่า “มนฺตุ” ปัจจัย ต่อท้ายคำนามคำใด คำนามคำนั้นแปลว่า “มี-” (ต่อด้วยคำแปลของนามคำนั้น)

ในที่นี้ สิริ (ความสวยงาม, โชค, ความรุ่งโรจน์) + มนฺตุ (มีอยู่) = สิริมนฺตุ (สะ-ติ-มัน-ตุ)

“สิริมนฺตุ” จึงแปลว่า “มีสิริ”

“สิริ” คำเดียว แปลทับศัพท์ว่า “สิริ” ไม่ได้แปลว่า “มีสิริ”

“มนฺตุ” แปลว่า “มีอยู่” ยังไม่รู้ว่าอะไรมีอยู่ อยากรู้ว่าอะไรมีอยู่ก็ดูที่คำข้างหน้า “มนฺตุ” ซึ่งนั่นก็คือ “สิริ-” = สิริมนฺตุ

“สิริมนฺตุ” จึงแปลว่า “มีสิริอยู่” > “มีสิริ” ไม่ใช่ “สิริ” เฉยๆ

“สิริ” แปลว่า “สิริ”

“สิริมนฺตุ” แปลว่า “มีสิริ”

“สิริมนฺตุ” ยังเป็นรูปคำเดิม ต้องนำไปแจกด้วยวิภัตตินามก่อนจึงจะใช้ประกอบเป็นข้อความได้

“สิริมนฺตุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์

“วิภัตตินามที่หนึ่ง เอกพจน์” คือ “สิ” : สิริมนฺตุ + สิ เปลี่ยนรูปโดยสูตรว่า “เอา -นฺตุ กับ สิ เป็น อา”

: สิริม(นฺตุ + สิ = อา) : สิริม + อา = สิริมา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีสิริ” (glorious)

ขยายความ :

คำว่า “สิริมา” ตามรูปศัพท์ในภาษาไทยชวนให้เข้าใจว่าเป็นอิตถีลิงค์ แต่คำนี้เป็นปุงลิงค์ ถ้าจะให้เป็นอิตถีลิงค์รูปศัพท์จะเป็น “สิริมนฺตี” (สิ-ริ-มัน-ตี) และ “สิริมตี” (สิ-ริ-มะ-ตี) แปลงเป็นไทยก็เป็น “สิริมดี” (สิ-หฺริ-มะ-ดี) เป็นคำจำพวกเดียวกับชื่อสตรีไทยสมัยหนึ่งที่นิยมลงท้ายว่า “-วดี” ถ้าเป็นคำบาลีก็คือคำที่ลงท้ายด้วย “วนฺตุ” ปัจจัย แจกด้วยวิภัตติอิตถีลิงค์ แปลง “วนฺตุ” เป็น “-วตี” ในภาษาไทยแปลง เป็น “-วตี” เป็น “-วดี”

แต่ “สิริมา” ลง “มนฺตุ” ปัจจัย (ไม่ใช่ “วนฺตุ”) รูปอิตถีลิงค์จึงเป็น “-มตี” (ไม่ใช่ “-วตี”)

ปุงลิงค์: สิริมา

อิตถีลิงค์: สิริมนฺตี, สิริมตี

อย่างไรก็ตาม “สิริมา” ถ้าใช้ในฐานะเป็น “อสาธารณนาม” (proper name) ก็เป็นชื่อสตรีได้ ในคัมภีร์ปรากฏว่ามีสตรีที่ชื่อ “สิริมา” หลายคน แต่ที่นักเรียนบาลีรู้จักและคุ้นหน้าคุ้นตามากกว่าเพื่อนน่าจะเป็น “สิริมา” ที่เป็นหญิงงามเมือง และเป็นน้องสาวของหมอชีวก

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5 สิริมาวัตถุ หรือ “เรื่องนางสิริมา” เล่าเรื่องภิกษุรูปหนึ่งได้ฟังกิตติศัพท์ความงามของนางสิริมาก็เกิดหลงรักทั้งที่ยังไม่ได้เห็นตัวจริง

นางสิริมานั้นฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแล้วได้บรรลุธรรมเป็นโสดาบัน นางทำบุญด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มารับบิณฑบาตที่บ้านทุกวัน

คราวหนึ่งภิกษุที่หลงรักนางสิริมาถึงลำดับไปรับบิณฑบาต พอดีเป็นวันที่นางสิริมาป่วย นางปล่อยตัวตามประสาคนป่วย ภิกษุรูปนั้นเห็นนางสิริมาก็ตกตะลึง อุทานว่า ขนาดป่วยยังสวยถึงเพียงนี้ เวลาดีๆ จะสวยถึงเพียงไหน กลับถึงวัดนอนเพ้อถึงนางสิริมาข้าวปลาไม่ยอมฉัน

เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป โปรดติดตามศึกษาได้จากคัมภีร์

นอกจากคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาแล้ว คัมภีรปรมัตถทีปนี (อรรถกถาวิมานวัตถุ เรื่องสิริมาวิมาน หน้า 99-114, พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด 91 เล่ม เล่มที่ 48 หน้า 125-145) ก็เล่าเรื่องไว้อย่างละเอียด เชิญตามไปศึกษาดูเถิด

…………..

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=16

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าทำชั่วอยู่เป็นอัตรา

: ต่อให้ชื่อสิริมา สิริก็ไม่มี

#บาลีวันละคำ (3,752)

20-9-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *