จาริก (บาลีวันละคำ 525)
จาริก
ภาษาไทยอ่านว่า จา-ริก
บาลีอ่านว่า จา-ริ-กะ
“จาริก” รากศัพท์มาจาก จร (ธาตุ = เที่ยวไป, ประพฤติ) + ณิก ปัจจัย
กฎไวยากรณ์ : ปัจจัยที่มี ณ (คำตามตำราว่า “ปัจจัยเนื่องด้วย ณ”) มีอำนาจยืดเสียงพยางค์แรกของธาตุหรือของศัพท์ที่อยู่ต้นคำ จากเสียงสั้นให้เป็นเสียงยาว คือ อ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็น อู ในที่นี้ พยางค์แรกของธาตุ คือ “จ” เป็นเสียงสั้น จึงยืดเสียง (ศัพท์ทางไวยากรณ์ว่า “ทีฆะ”) อ เป็น อา : จ > จา : จร > จาร + ณิก (ลบ ณ) = จาริก
“จาริก” ในภาษาบาลีแปลว่า ผู้เที่ยวไป, ผู้ท่องเที่ยวไป, ผู้ประพฤติ (journey, wandering); ท่องเที่ยวไป, ดำเนินชีวิต, ไป, ประพฤติ (wandering about, living, going, behaving) มักใช้ในความหมายว่า เดินทางเพื่อศาสนกิจ
พจน.42 บอกไว้ว่า –
“จาริก : ผู้ท่องเที่ยวไปเพื่อสั่งสอนหรือแสวงบุญเป็นต้น. (คำกริยา) ท่องเที่ยวไปเพื่อสั่งสอนหรือแสวงบุญเป็นต้น”
คำเก่าในภาษาไทยแผลง “จาริก” เป็น “จารึก” (สระ อิ เป็น สระ อึ) ก็มี เช่นเดียวกับ อธิก เป็น อธึก, อนีก เป็น อนึก, ผลิก เป็น ผลึก
แต่ “จารึก” ที่แผลงมาจาก “จาริก” เป็นคนละคำกับ “จารึก” ที่หมายถึงเขียนหรือจารให้เป็นรอยลึกเป็นตัวอักษรหรือภาพเป็นต้นบนแผ่นศิลา โลหะ หรือดินเป็นต้น
ดูก่อนภราดา :
ชั่วชีวิตหนึ่ง คือการจาริกจากภพสู่ภพ
บุญบาปที่ทำไว้ คือรอยจารึกของผู้จาริก
ท่านจะเอาอะไรไป และจะทิ้งรอยอะไรไว้ ?
——————–
(จารึกไว้ตามปรารภของพระคุณท่าน Jirasak Jii)
22-10-56